ถือเป็นอีกครั้งในรอบ 7 ปี (นับตั้งแต่ปี 2004) ที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งสร้างโดยบริษัทแดนอาทิตย์อุทัยสามารถครองแชมป์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูงสุดในโลก ครั้งนี้เป็นฮาร์ดแวร์แบรนด์ฟูจิตซึบนการวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในเมืองโกเบ ทุบสถิติที่ความเร็ว 8 เพตาฟล็อปต่อวินาที บนซีพียูมากกว่า 8 หมื่นตัว
ความเร็ว 8 เพตาฟล็อปต่อวินาทีนั้นทำให้ "K Computer" ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของฟูจิตซึสามารถประมวลผลได้ถึง 8 พันล้านล้านคำสั่งใน 1 วินาที ส่งให้ K Computer กลายเป็นซูเปอร์คอมพ์เบอร์ 1 ในการจัดอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์โลก Top500 Supercomputing List
ผลการจัดอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วโลก Top500 Supercomputing List ครั้งล่าสุดนั้นถูกเปิดเผยในงานประชุมที่เมืองฮัมเบิร์ก ประเทศเยอรมนีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รายละเอียดจากการประกาศผลการจัดอันดับครั้งนี้คือ K Computer เป็นผลงานการพัฒนาโดยสถาบันวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ก้าวหน้า RIKEN Advanced Institute for Computational Science ซึ่งตั้งอยู่ที่โกเบ ประเทศญี่ปุ่น
K Computer สามารถคว่ำแชมป์เก่าอย่าง Tianhe-1A ซูเปอร์คอมพ์แดนมังกรที่ผลิตโดยศูนย์ซูเปอร์คอมพิวติงแห่งชาติจีนในเมืองเทียนจิน National Supercomputing Center ซึ่งเคยทำสถิติได้ 2.6 เพตาฟล็อปต่อวินาที
K Computer ไม่ได้พิเศษที่การใช้ซีพียู 80,000 ตัว แต่อยู่ที่ซีพียูทุกตัวเป็นชิป 8 คอร์ประมวลผล ทำให้ K Computer สามารถทำสถิติเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วในการประมวลผลสูงที่สุดในโลกขณะนี้
การเป็นแชมป์ของญี่ปุ่นครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก Earth Simulator ซูเปอร์คอมพ์ของเอ็นอีซี (NEC) สามารถคว้าแชมป์ได้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2004 และครองแชมป์ต่อเนื่องได้ 2 ปี
นอกจาก Tianhe-1A ซูเปอร์คอมพ์ความเร็วอันดับ 3 ของโลกในขณะนี้คือ Jaguar ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯซึ่งเป็นฝีมือการพัฒนาโดยสถาบันวิจัยแห่งชาติ Oak Ridge National Laboratory ความเร็วที่บันทึกไว้คือ 1.75 เพตาฟล็อป
อันดับที่ 4 คือ Nebulae ของศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติจีนในเมืองเซ่นเจิน ความเร็ว 1.27 เพตาฟล็อป และอันดับที่ 5 คือ Tsubame 2.0 ของสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว Tokyo Institute of Technology ความเร็ว 1.19 เพตาฟล็อป
ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ความเร็วระดับเพตาฟล็อปหรือพันล้านล้านคำสั่งต่อวินาทีนั้นถูกนำไปใช้ในงานที่ต้องการระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีความสามารถในการประมวลผลสูงเป็นพิเศษ เช่นในอุตสาหกรรมพลังงาน การพยากรณ์อากาศ ฯลฯ โดยการสำรวจพบว่า ซูเปอร์คอมพ์ 75 ระบบใน 500 ระบบ (15%) ถูกใช้เพื่อการวิจัย ขณะที่ 36 ระบบใช้ในอุตสาหกรรมการเงิน 33 ระบบถูกใช้ในอุตสาหกรรมงานบริการ โดย 23 ระบบถูกใช้ในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต และอีก 20 ระบบถูกใช้ในด้านการทหาร
ไอบีเอ็ม (IBM) เป็นแชมป์โลกผู้ผลิตซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งติดอันดับ 500 มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 42% ตามด้วยเอชพี 31% และบริษัทเครย์ (Cray) อีก 6% โดยประเทศที่มีการใช้งานซูเปอร์คอมพ์มากที่สุดในโลกคือสหรัฐอเมริกา 256 ระบบ รองลงมาคือจีน 62 ระบบ เยอรมนี 30 ระบบ อังกฤษ 27 ระบบ ญี่ปุ่น 26 ระบบ และฝรั่งเศส 25 ระบบ
Company Related Link :
Top500.org