xs
xsm
sm
md
lg

บุก TESA ตามฝัน "ซิลิกอนวัลเลย์" แห่งสยามประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทุกหัวระแหงของแต่ละประเทศที่วางตัวเองพร้อมที่จะเป็นประเทศมหาอำนาจในยุคแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์ก ต่างก็ตั้งป้อมปราการแห่งใหม่ในโลกไซเบอร์ โดยมีศูนย์บัญชากรอยู่ในโลกจริง ตั้งแต่ต้นตำรับอย่างอเมริกาที่มี "ซิลิกอนวัลเลย์" ณ แคลิฟอร์เนียเหนือ ส่วนที่อินเดียก็มีที่บังกาลอร์ ด้านจีนเองก็มีหลายเมืองไม่ว่าจะเป็น ปักกิ่ง หรือต้าเหลียน

แต่เมื่อมองย้อนกลับมาหาเราประเทศไทย สิ่งที่คุณรู้แต่อาจจะรู้ไม่หมดก็คือ ซิลิกอนวัลเลย์ของไทยนอกเหนือจากที่รังสิต ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของเนคเทค (ศูนย์เทคโนโลยีอิเลิกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือ NECTEC) แล้ว ยังมีอีกที่หนึ่งซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะต้นกล้าคนไอทีรุ่นใหม่ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ภายในห้องกระจกเล็กๆ ของตึกใหญ่ในห้างฟอร์จูนรัชดาฯ ภายใต้ชื่อองค์กรว่า "ทีซ่า (TESA)" หรือ Thai Embedded Systems Association หรือในชื่อไทยฉบับเต็มคือ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย



ผู้เขียนได้รู้จักกับ "พี่มดแดง" ขนิษฐา ประสารสุข " ผู้บริหารหญิงแกร่งที่ดูแล "ทีซ่า" มากว่า 9 ปี 
ซึ่งเป็นผู้พาทัวร์องค์กร และครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษที่จะได้พบปะกับเด็กไทยไฟแรงกว่า 30 ชีวิต ซึ่งกำลังเข้าร่วม "TESA Hyper Camp" หรือ "ค่ายเรียลริตี้ฉบับไอที" เพื่อปั้นคนเก่งและแกร่งประดับวงการสมองกลฝังตัวไทยให้ได้มากที่สุด

กล่าวคือ  TESA Hyper Camp คือ โครงการฝึกงานช่วงซัมเมอร์ของเด็กวิศวะสาขาต่างๆ โดยกว่าจะฝ่าด่านมาเป็น "เด็กฝึกงาน" ที่นี่ได้ ต้องมีการส่งตัวจากอาจารย์ จากนั้นก็ต้องผ่านการทดสอบข้อเขียนและการสัมภาษณ์ โดยแต่ปีแคมป์นี้จะรับได้ประมาณ 30 คนเท่านั้น หัวใจหลักของการฝึกงานที่นี่ก็คือ การได้รับโจยท์จากทางบริษัทหรือองค์กรต่างๆ จริง และให้เด็กๆ พัฒนา "โซลูชั่น" ไฮเทครูปแบบต่างๆ ให้ "ตอบโจทย์" ได้มากที่สุด ซึ่งหัวข้อหลักในปีนี้ก็คือ การสร้างโซลูชันไอทีด้วยอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

ตลอด 44 วันที่ "เด็กวิด'วะ" จากต่างมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะถูกจับกลุ่มกันตามความสมัครใจ โดยแบ่งตามโจทย์ที่ผู้ประกอบการให้ เพื่อคิดค้น "โซลูชั่น" ทางไอทีต่างๆ ให้สอดคล้อง และนำไปใช้งานได้จริง และเมื่อฝึกจบแล้วทุกคนจะได้ใบประกาศ และโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการร่วมงานกับบริษัทที่เป็นพันธมิตรกับทีซ่า

เป้าหมายสูงสุดหลังจบกิจกรรมค่ายเรียลริตี้ฉบับไอทีนี้มี 2 สเต็ปด้วยกัน ประการแรกคือ การเปิดให้เด็กทดสอบความชอบของตัวเองในสนามจริง เพื่อดูว่าตัวเองถนัดงานด้านไหน และประการที่สองซึ่งสำคัญที่สุดก็คือ "การแมทช์ชิ่ง" เด็กๆ ที่เป็นเพชรเม็ดงามเข้ากับองค์กรที่เหมาะสมนั่นเอง



หลังจากกว่า 2 ชั่วโมงเต็มที่ผู้เขียนได้แทรกตัวไปตามโต๊ะสีลูกกวาดเพื่อลาดตระเวนดูผลงานของน้องๆ ตามกลุ่มต่างๆ ก็พบโซลูชันไอทีที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ระบบคุยแบบเห็นหน้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างคอมพิวเตอร์ และแท็ปเบล็ต ระบบรักษาความปลอดภัยด้วยการสแกนลายนิ้วมือ พร้อมการเตือนมาที่มือถือด้วย SMS หากเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงระบบการตรวจสอบความถูกต้องของใบหน้าด้วยสมองกลอิเล็กทรอนิกส์ 

"บิ๊ก" นายชุติพนธ์ เอียสกุล นักศึกษาชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ ได้ร่วมแนะนำโครงการและตอบคำถามเกี่ยวกับผลงานตัวเองที่เป็นระบบรักษาความปลอดภัยด้วยการสแกนลายนิ้วมืออย่างฉะฉาน โดยเขาเรียก "ทีซ่า" ว่าเป็น "สำนักเส้าหลินแห่งโลกไอที" เพราะการฝึกงานที่นี่ได้ทั้งเพื่อน ประสบการณ์ทำงานจริงที่หนักหน่วง และโอกาสที่จะได้ "ถูกเลือก" เข้าทำงานในองค์กรในฝันที่ตนเองถนัดด้วย ซึ่งคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

หลังจากได้ไปสัมผัสกับผู้คนในทีซ่า ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงความจริงใจและไฟแห่งความคิดสร้างสรรค์จากผู้อยู่เบื้องหลัง "ทีซ่า" มากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรระดับดอกเตอร์นับสิบชีวิต ที่ต้องการปฏิรูปทัศนคติและสร้างบรรยากาศของการคิดค้นนวัตกรรมไอทีภายในประเทศ รวมถึงเด็กๆ ที่จะเป็น "ต้นน้ำ" ในการการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีในไทยให้ก้าวทัดเทียมนานาชาติ

ผู้เขียนจึงอดคิดไม่ได้ว่า การสร้างห้องแล็ปเพื่อปลุกปั้นเด็กรุ่นใหม่นี้ ไม่ควรจะจำกัดอยู่เฉพาะในวงการไอที แต่ทุกวงการที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหลักของประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็น วงการท่องเที่ยว วงการแพทย์ ก็ควรที่จะได้รับการสนับสนุนทั้งงบประมาณ และการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น