xs
xsm
sm
md
lg

เทคนิคการถ่ายภาพใต้น้ำให้สวย ถูกใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวทะเล เชื่อว่าคงมีหลายคนที่กำลังวางแผนจะเดินทางไปดำน้ำสัมผัสความสวยงามของโลกใต้ทะเลไม่ว่าจะใน หรือนอกประเทศ และทุกคนก็คงต้องการเก็บภาพความสวยงามเหล่านั้นมาอวดเพื่อนๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ร่วมเดินทางด้วย

และจะดีกว่าไหมหากนักดำน้ำมีความรู้ หรือเทคนิคการถ่ายภาพใต้น้ำก่อนจะถึงเวลาลงไปดำน้ำจริง เพื่อให้ภาพที่ออกมามีความสวยงาม และสมบูรณ์แบบที่สุด วันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซ ขอนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพใต้น้ำแบบง่ายๆ จากอาจารย์พรรัก เชาวนโยธิน อาจารย์สอนวิชาการถ่ายภาพสารคดีใต้น้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มาให้ผู้อ่านได้ทดลองปรับใช้งานกัน

ทำความเข้าใจกับฟิสิกส์เกี่ยวกับน้ำ

เวลาที่เรามองสิ่งของใต้น้ำเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมของที่เรามองมันดูใหญ่ ดูใกล้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ดัชนีการหักเหของแสงในน้ำมีค่ามากกว่าในอากาศ (ประมาณ 1 1/3 เท่า) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เห็นสิ่งของที่อยู่ใต้ทะเลใหญ่กว่านั่นเอง ทดลองดูได้จากการที่เอาดินสอจุ่มในแก้วน้ำเปล่าดู แล้วสังเกตุดูดินสอส่วนที่จมน้ำกับส่วนที่อยู่เหนือน้ำ

น้ำมีความหนาแน่นกว่าอากาศประมาณ 800 เท่าซึ่งเปรียบได้เท่ากับ การถ่ายรูปใต้น้ำ 1 เมตรเหมือนกับการถ่ายรูปบนบกด้วยระยะห่าง 800 เมตร เมื่อแสงผ่านน้ำจะเกิดการสูญเสียสี และคอนทราสต์ เนื่องจากแสงตกกระทบกับอนุภาคเล็กๆ ในน้ำ อีกทั้งอนุภาคและโมเลกุลในน้ำนั้นดูดกลืนแสง ซึ่งสีแดงจะถูกดูดกลืนก่อน ต่อมาจะเป็นสีส้มและเหลืองตามลำดับ

++ ถ่ายเวลาไหนดี ++

ถ้าพระอาทิตย์อยู่ต่ำ จะทำให้แสงใต้น้ำมีการกระจายมากขึ้น แสงมีความนุ่มนวลขึ้น ถ่ายภาพออกมาแสงสวยกว่า ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาก่อน 10 โมงเช้า และหลังบ่ายสอง

++ การตั้งค่ากล้อง ++

ความละเอียด - การตั้งความละเอียดของภาพขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำภาพไปใช้ หากต้องการนำภาพไปขยายให้มีขนาดใหญ่ การกำหนดความละเอียดที่สูงจะช่วยให้ภาพยังคงความละเอียดของภาพไว้ได้

(ในการถ่ายภาพใต้น้ำเราจะไม่พยายามซูมเข้าเพราะจะทำมีระยะห่างของน้ำมากขึ้น ส่วนมากผู้ที่เริ่มถ่ายภาพใต้น้ำ จะไม่ค่อยกล้าเข้าใกล้ subject หรือถ่ายไกลเกินไป ทำให้ subject ในภาพออกมาดูเล็กมาก นอกจากนี้ระยะห่างในน้ำทำให้ภาพมีสีสันและความคมชัดน้อยลง เพราะฉะนั้นเมื่อคิดว่าเข้าใกล้แล้วให้เข้าใกล้เข้าไปอีก)

นอกจากนี้ หากกล้องถ่ายภาพของคุณรองรับไฟล์ .RAW ก็ควรตั้งค่าไฟล์ .RAW ไว้ด้วย ในกรณีที่แสงของภาพที่ได้ยังไม่ถูกใจ หรือผิดเพี้ยนไปจากสภาพแสงจริง สามารถนำไฟล์ที่เป็น .RAW มาปรับเปลี่ยนค่าความสมดุลแสง (White Balance) ได้ตามที่ต้องการ

ค่าความไวแสง (ISO) - ISO ย่อมาจาก International Standard Organization ค่าความไวแสงนั้นมีความสำคัญมากสำหรับการถ่ายภาพ

การตั้งค่า ISO สำหรับการถ่ายภาพใต้น้ำนั้น ควรตั้งค่าต่ำๆ เข้าไว้ เพื่อลดการเกิดน๊อยส์ หรือสัญญาณรบกวนภาพ โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ 100-250 หากไม่พอ ค่อยปรับเพิ่มทีละสเต็ป แต่หากต้องการระยะชัดลึก (Depth of Field) มากขึ้น ควรเปลี่ยน ISO ให้สูงขึ้น

ค่าความสมดุลแสงขาว (White Balance) - การตั้งค่าความสมดุลของแสงขาวก็มีส่วนสำคัญ ที่ง่ายที่สุดคือการใช้ Auto White Balance (Auto B/W) คือระบบจะทำการตั้งค่าให้เองตามสภาพแสงปัจจุบัน แต่หากกล้องของคุณมีไวท์บาลานซ์ ใต้น้ำ ก็สามารถเลือกใช้ได้เช่นกัน

การตั้งค่าความไวชัตเตอร์ (Shutter Speed) - การตั้งค่าความไวชัตเตอร์นั้น จะสามารถทำได้กับกล้องที่มีโหมด TV, S หรือ M เท่านั้น โดยสามารถปรับค่าได้ดังนี้



ในกรณีที่วัตถุไม่เคลื่อนที่เลย (Still Object) อาทิปลาดาว ปะการัง หรือโขดหิน สามารถตั้งไว้ต่ำสุดไม่ควรเกิน 1/30 วินาที



สิ่งมีชีวิตเคลื่อนที่ช้า (Slow Moving) อาทิ หอยทาก ปู กุ้ง หอย ควรใช้ความไวชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/60



สิ่งมีชีวิตเคลื่อนที่เร็ว (Faster Moving) อาทิปลา หรือ Sea Lion ควรใช้ความไวชัตเตอร์ 1/120 ขึ้นไป

++ เลือกมุมมองถูก ได้ภาพสวย ++

การจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพใต้น้ำนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการถ่ายภาพบนบก ดังนั้น ให้ใช้หลักง่ายๆ คือ หลักกฏสามส่วน ซึ่งทุกคนคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว



1. การถ่ายภาพในระยะใกล้ (Close-Up) เหมาะสำหรับการถ่ายภาพปลา หรือปะการังเดี่ยวๆ ที่เน้นวัตถุ เล็กๆ ระยะใกล้ๆ ซึ่งการถ่ายภาพแบบนี้สามารถเลือกโหมด Macro ที่มีมาให้ในกล้องได้เลย นอกจากนี้การถ่ายภาพในระยะใกล้ใต้น้ำแนะนำให้เปิดแฟลชช่วย เพราะการใช้แฟลชจะช่วยเพิ่มความสว่าง คงสีสันของวัตถุใต้ทะเล และความคมชัดให้กับภาพถ่าย

การตั้งค่าการถ่ายระยะใกล้นั้น เลือกโหมดมาโคร (รูปดอกไม้) > เปิดแฟลช > เลือก Auto B/W หรือใช้โหมด A ตั้งค่ารูรับแสง F8 ระยะวัตถุ 5-6 นิ้ว



2. การถ่ายภาพมุมกว้าง (Wide Angle) เหมาะสำหรับการถ่ายภาพบรรยากาศใต้ท้องทะเล เห็นวิวกว้างๆ อาจใช้โหมดออโต้ (Auto) ที่มีมาให้ในกล้อง หรือใช้โหมด P (Program) > เปิดแฟลช > เลือก Custom WB หรือไวท์ บาลานซ์ใต้น้ำ > ตั้งค่าการวัดแสงแบบเฉลี่ย (Matrix) > ปรับรูรับแสง F2.8

+ + เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย + +

- ก่อนจะลงดำน้ำ นักดำน้ำควรศึกษา และหัดสังเกตุพฤติกรรมของสัตว์ใต้ท้องทะเลก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการดำน้ำ และถ่ายภาพใต้น้ำ เนื่องจากสัตว์บางชนิดมีอันตรายที่เราไม่รู้ซ่อนอยู่ การเข้าใกล้มากเกินไปจะทำให้นักดำน้ำได้รับอุบัติเหตุด้วย
- การถ่ายภาพใต้น้ำควรเข้าใกล้วัตถุที่จะถ่ายให้มากที่สุด (Closer to Closer) แต่การเข้าใกล้มากเกินไปอาจจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล หรืออาจก่อให้เกิดกับอันตรายต่อนักดำน้ำด้วย
- การถ่ายภาพควรใช้มุมมองภาพระดับสายตา หรือมอง 30องศาลงไป
- การโฟกัสภาพ ควรเลือกโฟกัสที่สายตาไว้ก่อน ตัวไม่ชัดไม่เป็นไร ขอให้ดวงตาชัดไว้ก่อน
- การถ่ายภาพใต้น้ำต้องใช้ความอดทนสูง บางทีการถ่ายภาพในแต่ละช็อตอาจใช้เวลาในการรอจังหวะ 5 - 10 นาที และควรกดชัตเตอร์ให้เร็วที่สุดในกรณีที่เจอช็อตที่ถูกใจ บางครั้งถ่ายมาเป็น 10ภาพ อาจมีภาพที่สวยงาม และใช้งานได้เพียงภาพเดียว

** ขอบคุณภาพประกอบบทความจากอินเทอร์เน็ต **
กำลังโหลดความคิดเห็น