ไอดีซีคาดแนวโน้มตลาดคลาวด์ในไทยเริ่มเข้าสู่จุดเพิ่มการลงทุน เชื่อบริษัทที่ให้บริการด้านโซลูชันและการจัดการเตรียมลงทุนระบบ IaaS เป็นมูลค่าราว 100 ล้านบาท ขณะที่บริการอย่าง SaaS และ PaaS จะเริ่มเห็นชัดมากขึ้นในปีหน้า ส่วนไมโครซอฟท์โชว์ประสิทธิภาพนำระบบคลาวด์ช่วยจัดการภัยพิบัติ
นายอรรถพล สาธิตคณิตกุล ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยและที่ปรึกษา ไอดีซี ประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มการให้บริการคลาวด์ในปีนี้ จะเน้นไปที่กลุ่มผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงบริษัทที่นำเสนอโซลูชันในการจัดการข้อมูลต่างๆ เริ่มลงทุนในการให้บริการ Infrastructure as a Service (IaaS) เพื่อผันให้บริษัทกลายเป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์กับองค์กรที่มีความต้องการ
ส่วนอีก 2 ประเภทที่เหลือคือ Software as a service (SaaS) หรือ การพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันเพื่อประยุกต์การใช้งานคลาวด์เข้ากับอุปกรณ์พกพาต่างๆ และ Platform as a Service (PaaS) ที่เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มทั้งระบบเพื่อใช้งานร่วมกับระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง
"การลงทุนคลาวด์ในประเภท IaaS ของประเทศไทยปีนี้ น่าจะคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% หรือราว 100 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนทางด้านพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้บนระบบคลาวด์ถือเป็นสัดส่วนที่ตามมา สุดท้ายคือการลงทุนในรูปแบบของการให้บริการทั้งแพลตฟอร์ม ที่จะเริ่มมีมากขึ้นในปีถัดๆไป"
โดยไอดีซีให้ข้อมูลว่า กลุ่มผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO : Chief Information Officer) ที่มีความรู้ทางด้านไอที จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้แต่ละองค์กรเดินหน้าเข้าสู่ยุคของการใช้บริการคลาวด์คอมพิวติงในอนาคต
"จากการวิจัย ซีไอโอ ในปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้บริหารมากกว่า 59% ให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ และประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรผ่านการนำระบบไอทีเข้ามาใช้ ในขณะที่ 27% อยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยนเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่วน 14% ที่เหลือเป็นการบำรุงรักษาระบบไอทีที่ใช้อยู่"
ประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายๆองค์กรยังไม่มีการตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ระบบคลาวด์คือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้หลายบริษัทไม่กล้าเดินหน้าไปยังการใช้งานคลาวด์แบบเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการให้บริการคลาวด์ที่เป็นแบบไพรเวท สำหรับใช้ภายในองค์กรที่สามารถควบคุมความปลอดภัยของข้อมูลได้แต่ใช้งบประมาณในการลงทุนสูง
ขณะที่คลาวด์แบบพับบลิค ถือเป็นรูปแบบการให้บริการที่จะได้รับความสนใจจากองค์กรธุรกิจขนาดกลางและย่อย และถือเป็นโอกาสสำคัญให้กับธุรกิจ เนื่องจากใช้งบประมาณในการลงทุนน้อยกว่าแต่มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน ช่วยให้ขับเคลื่อนองค์กรได้สะดวกมากที่สุด แต่ทั้งนี้ยังมีการให้บริการคลาวด์แบบไฮบริดที่เป็นการผสมผสานการใช้งานทั้ง 2 รูปแบบข้างต้นให้แก่องค์กรที่เหมาะสม
"คลาวด์จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยจัดการบริหารข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร เพื่อตอบโจทย์การแข่งขันของธุรกิจ เนื่องจากจะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดความรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพในอัตราการลงทุนที่ต่ำกว่า"
กลุ่มเป้าหมายที่ไอดีซี มองว่าจะมีการลงทุนในด้านระบบคลาวด์แบบไพรเวทอับดับแรกๆ คือกลุ่มของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร รวมถึงตลาดภาครัฐ การศึกษา กลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อใช้งบประมาณการลงทุนเท่าๆกัน
ขณะที่ตลาดของนักพัฒนาเป็นอีกหนึ่งตลาดที่คาดว่าจะมีการเติบโตมากขึ้นในปีหน้า เนื่องจากการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อใช้งานบนสมาร์ทโฟน กลายเป็นอีกหนึ่งความสามารถในการนำคลาวด์มาประยุกต์ใช้เข้ากับโมบายคอมพิวติง
***ไม่ใช่แค่ธุรกิจเจอภัยพิบัติก็คลาวด์ได้
จากความที่ไมโครซอฟท์เป็นองค์กรที่ต้องการนำคลาวด์เข้ามาให้บริการกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศ ส่งผลให้ตัวบริษัทจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อนำร่องในการนำระบบมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้งาน อย่างกรณีที่เกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น และพนักงานของไมโครซอฟท์ที่อยู่ในญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย จึงเกิดการพัฒนากิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม ในการนำระบบคลาวด์ที่ไมโครซอฟท์มี มาร่วมกับเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านการจัดการเป็นหลัก
นายประสบโชค ประมงกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า สิ่งที่ไมโครซอฟท์เร่งดำเนินการในช่วงแรกหลังเกิดภัยพิบัติ คือการร่วมมือกันภายในองค์กรทั่วโลก ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือจัดการในสิ่งของบริจาคที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น
"มีการจัดตั้งกลุ่ม Citizenship ขึ้นมาช่วยเหลือในการนำ วินโดวส์ อะซัวร์ และบริการบนระบบคลาวด์ รวมถึงการนำแผนที่ Bing มาใช้เพื่อวิเคราะห์พื้นที่ก่อน-หลังเกิดเหตุการณ์เพื่อคำนวนว่าพื้นที่ใดประสบภัยมากที่สุด ส่งผลไปถึงการกระจายความช่วยเหลือเข้าไปยังแต่ละพื้นที่ ไม่นับถึงการรวบรวมเงินบริจาคภายในองค์กรกว่าอีก 250 ล้านเหรียญ ที่ส่งเข้าไปช่วยเหลือในญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์"
โดยการที่มีทีมงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยพิบัติโดยเฉพาะจะช่วยทำให้เรื่องในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือจัดการและบริหารการบริจาคอาหารเป็นระบบมากขึ้น แน่นอนว่ายังสามารถนำการจัดการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์กรณีเกิดภัยพิบัติหรืออุทกภัยในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน