xs
xsm
sm
md
lg

CDMA กำลังจะตาย !?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเทคโนโลยี CDMA ไม่มีอนาคต พัฒนาไม่ได้ และกำลังจะตายไปจากโลกสื่อสารไร้สาย เหมือนอย่างที่นักการเมือง หรือ ผู้บริหาร จอมสร้างภาพ ต่อหน้าพูดอย่างลับหลังพูดอย่าง ทำได้ทุกรูปแบบเพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ซ่อนเร้นไว้อ้าง

นี่จะเป็นความจริงอีกด้าน ที่สังคมควรรับรู้ไว้

การพูดโดยไร้หลักฐานทางวิชาการหรือข้อมูลด้านเทคนิค เพียงเพราะกลัวน้ำลายในปากบูดว่า CDMA ไร้อนาคตนั้น เมื่อสอบถามกับ 'คนึงจิตร สุริยะธำรงกุล' ผู้จัดการประจำประเทศไทย ควอลคอมม์ อินคอร์ปอเรทเต็ด ซึ่งเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี CDMA ยืนยันอย่างแข็งขันว่า ไม่มีงานวิจัยหรือเอกสารที่ระบุเช่นนั้นแต่ประการใด

ครั้นตรวจสอบข้อมูลเอกสารที่เผยแพร่ภายในเว็บไซด์ของ CDMA Development Group (www.cdg.org) กลับพบว่า CDMA2000 ซึ่งมีจุดเด่นในการให้บริการทางด้านเสียงและบรอดแบนด์ดาต้าในตลาดอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก ด้วยจำนวนโอเปอเรเตอร์ถึง 314 รายใน 120 ประเทศที่ใช้เทคโนโลยี CDMA2000 และโอเปอเรเตอร์อีก 26 รายที่กำลังติดตั้งเทคโนโลยี CDMA2000 ทั่วโลกมียอดจำนวนผู้ใช้ CDMA2000 ทั้งหมดสูงถึง 550 ล้านราย ณ เดือนมิถุนายน 2553 และถูกคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 800 ล้านรายภายใน 5 ปีข้างหน้า

โดยมีฐานใหญ่อยู่ที่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งใหญ่ไม่ใหญ่ดูได้จาก 'สตีฟ จ็อบ' ยังต้องยอมที่จะพัฒนาไอโฟน4 เวอร์ชัน CDMA2000 ออกวางขาย ซึ่งน่าจะเป็นหลักประกันได้ในระดับหนึ่งว่า CDMA2000 ยังมีอนาคต

ขณะที่ผู้ใช้บรอดแบนด์ไร้สายผ่านเทคโนโลยี CDMA EV-DO ก็ยังมีอัตราเติบโตสูงมากเช่นกัน จากข้อมูล ณ มิถุนายน 2553 มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ดาต้าสูงถึง 148 ล้านรายทั่วโลกจากผู้ให้บริการเครือข่าย 168 ราย ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราผู้ใช้มากถึง 629 ล้านรายภายในปี 2558

ในเอกสารยังระบุว่า CDMA2000 กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั่วทวีปเอเชีย ด้วยเครือข่าย CDMA จำนวน 84 แห่ง และด้วยยอดจำนวนผู้ใช้ถึง 314 ล้านรายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไชน่า เทเลคอม (China Telecom) มียอดผู้ใช้ CDMA2000 เพิ่มขึ้น 3 ล้านรายในทุกๆ เดือน โดยมียอดผู้ใช้ถึง 80 ล้านราย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 ประเทศอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่อันดับที่ 2 ของเทคโนโลยี CDMA ในโลก ด้วยจำนวนยอดผู้ใช้ CDMA ในปัจจุบันสูงกว่า 110 ล้านราย และตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ อินโดนีเซีย และเวียดนามมีอัตราเติบโตสูงมากด้วยเช่นกัน

ในทวีปแอฟริกา โอเปอเรเตอร์จำนวน 64 รายได้เปิดให้บริการ CDMA2000 บนแถบความถี่ 450 MHz, 800 MHz และ 1900 MHz ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของ CDMA2000 1X โอเปอเรเตอร์สามารถให้บริการการสื่อสารพื้นฐานด้วยเสียงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเทคโนโลยี EV-DO ช่วยตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของดาต้าแอปพลิเคชัน

ในทวีปอเมริกาเหนือ Sprint และ Verizon Wireless มีอัตราการเติบโตอย่างแข็งแกร่งทางด้านการให้บริการบรอดแบนด์ดาต้า ด้วยยอดรายได้ที่มากกว่า 30% ต่อรายได้เฉลี่ยต่อราย (ARPU) และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทวีปละตินอเมริกา ประเทศต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งประเทศเม็กซิโก บราซิล เปรู เอกวาดอร์ และอาร์เจนติน่า ใช้เทคโนโลยี CDMA2000 บนแถบความถี่ 450 MHz ที่รู้จักกันว่า CDMA450 เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลด้วยการให้บริการเชื่อมต่อมาตรฐานโลก

ส่วนเส้นทางการพัฒนา CDMA2000 นั้น ก็มีแนวทางการพัฒนาใน 2 แนวทาง คือการพัฒนาทางด้านเสียงกับการพัฒนาทางด้านข้อมูล

สำหรับการให้บริการทางด้านเสียงนั้น เทคโนโลยี 1X Advanced จะเพิ่มศักยภาพของเครือข่าย CDMA2000 1X ในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เพื่อลดการใช้เสปคตรัมที่ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่า สำหรับการให้บริการทางด้านข้อมูลด้วยเทคโนโลยี EV-DO ด้วยปัจจัยนี้ 1X Advanced จะสามารถให้บริการทางด้านโทรศัพท์ได้มากกว่าระบบจีเอสเอ็มถึง 50 เท่า

ทางด้านการให้บริการบรอดแบนด์ดาต้า EV-DO Rel. 0, Rev. A and Rev. B ที่ได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว และในปี 2554 DO Advanced จะเพิ่มศักยภาพเครือข่ายของข้อมูลในพื้นที่หนาแน่นด้วยการแนะนำเทคนิค 'Smart Network' ใหม่ๆ จำนวนมาก เซลล์เล็กๆ จะมีบทบาทหลักในการสนองตอบต่อความต้องการทางด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้น

เครือข่าย Heterogeneous ซึ่งประกอบด้วย Microcells, Pico Cells และ Femto Cells จะสามารถตอบความต้องการด้วยการเปิดให้บริการเครือข่าย (ด้วยแบนด์วิดท์ที่เพิ่มขึ้น) ใกล้ชิดกับผู้ใช้มากขึ้น ขณะที่ Wi-Fi Hotspots จะช่วยลดโหลดของเครือข่ายเซลลูล่าร์ และ LTE จะช่วยเติมเต็มเครือข่าย 3G ด้วยการเพิ่มศักยภาพของบรอดแบนด์ตามความต้องการ
เอกสารของ CDMA Development Group ยังระบุว่า เวลานี้กระแสของการเคลื่อนตัวจากมือถือยุค 2G ไปสู่ 3G ส่งผลให้โทรศัพท์มือถือได้พัฒนาจากอุปกรณ์ธรรมดาที่ใช้เพียงเพื่อการโทร.เข้า-ออก เป็นอุปกรณ์การสื่อสารยุคหน้าที่สามารถเชื่อมต่อผู้คน ข้อมูล ทรัพยากรส่วนบุคคลและสื่อได้ทันทีในทุกที่ทั่วโลก

เมื่อดูถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทคยักษ์ๆ ต่างได้ผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่อนับล้านๆ เครื่องออกสู่ตลาด อาทิ อีรีดเดอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมถึง Machine-to-Machine Modules ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ที่ติดต่อสื่อสารถึงกันได้ ต่างกำลังถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากในโลกแห่งการสื่อสารไร้สาย

ในเอกสารยังระบุว่า CDMA2000 เป็นเทคโนโลยีแรกที่เปิดให้บริการ 3G จึงทำให้ CDMA 2000 มีอัตราเติบโตอย่างแข็งแกร่งในตลาดโลก และมาตรฐานของเทคโนโลยีตระกูลนี้ถูกคาดว่าจะมีการพัฒนาอย่างสูงในทศวรรษหน้าด้วย นอกเหนือจากการให้บริการทางด้านเสียง มัลติมีเดียและบรอดแบนด์ดาต้า รวมทั้งแอปพลิเคชั่นต่างๆ มากมาย อาทิ การให้บริการสาธารณสุขทางไกล การศึกษาทางไกล การเชื่อมต่อของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไร้สาย อุปกรณ์ทางด้านรถยนต์และอุปกรณ์ทางด้านพลังงาน เป็นโอกาสการเติบโตหลักสำหรับ 3G CDMA

ปัจจุบันนี้ LTE กำลังเริ่มประกาศศักยภาพในโลกไร้สาย ด้วยการต่อยอดความสำเร็จของ 3G และยกระดับโมเดลทางธุรกิจของบรอดแบนด์ไร้สายที่อิ่มตัว ขณะที่ 3G ยังคงให้บริการทางด้านเสียงด้วยประสิทธิภาพสูงสุด โดย 4G จะเติมเต็มการให้บริการ 3G ทางด้านการให้บริการข้อมูลความเร็วสูงในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นทางด้านดาต้าแอปพลิเคชั่น

หนทางการพัฒนาเครือข่าย 3G ทั้งหมดมุ่งสู่เทคโนโลยี LTE ไม่ว่าจะเป็นโอเปอเรเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยี CDMA2000 หรือไม่ก็ตาม โอกาสการเติบโตทางธุรกิจของเทคโนโลยีทั้ง 3G/4G ที่มีจำนวนยอดผู้ใช้ 1 พันล้านรายทั่วโลกในปี 2010 คาดว่าจะเติบโตด้วยการมีจำนวนยอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึงจำนวน 4.5 พันล้านรายภายใน 5 ปีข้างหน้า

สำหรับโอเปอเรเตอร์ 3G ในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้เงินอย่างชาญฉลาดในการลงทุนทางด้านการอัปเกรดเครือข่าย 3G ที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนาสู่เทคโนโลยี LTE การแทนที่เครือข่ายหนึ่งด้วยเทคโนโลยีอื่นเป็นการสูญเสียในตลาดที่มีการแข่งขันสูงดั่งเช่นปัจจุบันนี้

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ของ CDMA2000 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ กสท เพิ่งลงทุนไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ใน 51 จังหวัดภูมิภาค สามารถอัปเกรดเทคโนโลยีให้รองรับการใช้งานทางด้านโมบายดาต้าที่มีการมองว่า จะเติบโตถึง 25 เท่าใน 5 ปีข้างหน้า ได้ทันทีไม่ต้อง 'เปลี่ยน' เครือข่าย CDMA2000 มาใช้ระบบใหม่ HSPA ที่เป็นเทคโนโลยี 3G เช่นเดียวกัน แต่ประการใด รวมทั้งยังสามารถพัฒนาไปสู่ LTE ได้

ก่อนหน้านี้กสท โทรคมนาคม มีเจตนาอย่างแรงกล้าที่ต้องการรวมเครือข่าย CDMA เพื่อให้บริการในลักษณะ Single Network เพื่อทำการตลาดที่เข้มแข็งและเข้มข้น ภายใต้การเป็นพี่เลี้ยงชั้นดีของควอลคอมม์ ที่ถือเป็นเจ้าของเทคโนโลยี CDMA ที่ยังย้ำทุกวันนี้ว่า CDMA ยังมีอนาคต พัฒนาได้ และยังไม่ตายไปจากโลกนี้

แต่สิ่งที่กำลังโคม่าและใกล้ตายเต็มที่ คือ ข้อเท็จจริง ที่ถูกขุดหลุมฝังอย่างน่าเกลียด เพียงเพราะต้องการแสวงหาสิ่งที่ไม่สมควรได้
กำลังโหลดความคิดเห็น