ทนเฉยไม่ไหว ถึงแม้ไม่อยากละลายเงินกับการขยายโครงข่าย 3G บนความถี่เดิม หรือ 3G HSPA ความถี่ 900 MHz แต่เอไอเอสจำเป็นต้องเข้าเกียร์เดินหน้า สู้ศึกโมบายอินเทอร์เน็ตทุกรูปแบบ หลังจากที่ปล่อยให้น้องกลาง ดีแทค กับ น้องเล็ก ทรูมูฟ เซตมาตรฐานโมบาย อินเทอร์เน็ตมาก่อนหน้านี้
จากถ้อยแถลง AIS Vision 2011 ของวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ย้ำว่าเป้าหมายในปีนี้มุ่งไปที่ 4 กลยุทธ์หลัก คือ คุณภาพเครือข่าย คุณภาพบริการ คุณภาพดีไวซ์ และ คุณภาพแอปพลิเคชัน ซึ่งเอไอเอสรวมเรียกว่า 'Quality DNAs' หรือการเน้นคุณภาพชนิดเข้มข้น
'จริงๆ แล้ว เอไอเอสได้เน้นเรื่องคุณภาพมาหลายปีแล้ว แต่สำหรับปีนี้ เอไอเอสจะเพิ่มระดับความเข้มข้นของคุณภาพในทุกมิติ'
หากย้อนดูผลดำเนินงานของเอไอเอสในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เอไอเอสยังคงครองความเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งการตลาด 53.4% หรือคิดเป็นการเติบโตในภาพรวมถึง 7.5% โดยมีลูกค้าและการใช้งานทางด้านวอยซ์เพิ่มขึ้น 9-10% ส่วนด้านดาต้าก็เติบโตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งาน โมบาย ดาต้าเติบโตกว่า 100% โดยมีผู้ใช้มากกว่า 7.5 ล้านราย เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งเป้าหมายในปีนี้เอไอเอสมองว่า ปริมาณการใช้งานโมบายดาต้าจะโตเพิ่มขึ้น 200% ขณะที่การใช้งานทางด้านเสียงก็ยังคงโตเช่นกัน โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้หน้าใหม่ในตลาดประมาณ 2-3 ล้านราย
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมในปี 2554 น่าจะเติบโตอีกประมาณ 3-5% ซึ่งเชื่อว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือจะยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แม้แต่การใช้งานพื้นฐานด้านเสียง รวมทั้งจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกมากสำหรับการใช้งานโมบาย อินเทอร์เน็ต โซเชียลเน็ตเวิร์ก สมาร์ทดีไวซ์ รวมถึงแอปพลิเคชันในทุกๆ ระบบปฏิบัติการ โดยคาดว่า การแข่งขันของโอเปอเรเตอร์จะเป็นไปอย่างรุนแรงในแกนของโทเทิล โซลูชัน ซึ่งถือว่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าได้เพิ่มเติมขึ้นจากที่ผ่านมา
'เอไอเอสได้ดำเนินการเพื่อตอบรับเทรนด์การแข่งขันดังกล่าวโดยตลอด จึงทำให้ปี 2554 เรามีความพร้อมในการให้บริการด้วยรูปแบบของโทเทิลโซลูชันอย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้เอไอเอสยังคงความเป็นผู้นำในตลาดโทรศัพท์มือถือ'
มาร์ค ชอง ชิน ก๊อก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารด้านปฏิบัติการหรือซีโอโอคนใหม่ของเอไอเอส ที่มาแทนนายฮุย เว็ง ชีออง ขยายความว่าคุณภาพดังกล่าวจะถูกถ่ายทอดไปยังองค์ประกอบรากฐานของความเป็นเอไอเอส ซึ่งนับเป็นหัวใจหลักในการส่งมอบบริการจากทุกมิติ ผ่านดีไวซ์ เน็ตเวิร์ก แอปพลิเคชัน รวมถึงคัสตอมเมอร์ เซอร์วิสสู่ผู้ใช้บริการ
เริ่มจากคุณภาพเน็ตเวิร์ก ปีนี้เป็นอีกปีที่เอไอเอสใส่เม็ดเงินพัฒนาเครือข่ายมากขึ้นถึง 10,000 ล้านบาท หลังจากที่เอไอเอสชะลอการลงทุนเรื่องเน็ตเวิร์กในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่ทำให้เอไอเอสต้องลงทุนเน็ตเวิร์กครั้งใหญ่ เป็นผลมาจากกระแสการใช้งานโมบาย อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความนิยมในสมาร์ทโฟนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ล่าสุดเอไอเอสได้สิทธิ์ขายไอโฟน4 ทำให้ความต้องการใช้งานโมบายดาต้าเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 200% จนทำให้เน็ตเวิร์กของเอไอเอสที่เคยเร็วเริ่มช้าลงไปถนัดตา ถึงแม้จะมีการนำเทคโนโลยี EDGE Plus เข้ามาเสริมในบางจุด แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ปีนี้ เอไอเอสจะใช้งบลงทุนทางด้านเครือข่าย 10,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุน 2 ส่วน ส่วนแรก 7,500 ล้านบาทเป็นการปรับเปลี่ยนเครือข่ายบนเทคโนโลยี 2G ให้พร้อมรับการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตที่กำลังเติบโตไปแล้วล่วงหน้า รวมทั้งนำเทคโนโลยี EDGE Plus เข้ามาพัฒนาเพิ่มเติม จะมีทั้งการขยายพื้นที่การให้บริการ, เพิ่มความสามารถในการรองรับการใช้งานของเครือข่าย 2G เดิมที่ยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เอไอเอสยังเตรียมเพิ่มเทคโนโลยีเครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกและตอบไลฟ์สไตล์การใช้งานในลักษณะของ Fix Wireless ด้วยเทคโนโลยีไวร์เลส บรอดแบนด์ถึงบ้าน ที่จะมีให้ความเร็วสูงสุดถึง 8 เมกะไบต์ต่อวินาที ซึ่งเอไอเอสเรียกว่า 'ซูเปอร์บรอดแบนด์' โดยเป็นการติดตั้งอุปกรณ์ให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายเข้ากับเน็ตเวิร์กของเอไอเอสทั่วประเทศ ส่งกระจายสื่อสัญญาณไปยังอุปกรณ์ปลายทางที่เป็นแบบไร้สาย ภายใต้คลื่นความถี่ 5 กิกะเฮิรตซ์ ที่มีรัศมีทำการประมาณ 5 กิโลเมตร โดยจะมีอุปกรณ์แปลงคลื่นความถี่ดังกล่าวให้เป็นคลื่นความถี่สำหรับไว-ไฟที่ 2.4 กิกะเฮิรตซ์เพื่อให้บริการตามบ้านอีกทอดหนึ่ง
'ตอนนี้เอไอเอสได้ไลเซนส์เพื่อให้บริการแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาสแรกนี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ 1 ซิม ทุกเครือข่าย'
เทคโนโลยีไวร์เลส บรอดแบนด์นอกจากจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบสนองความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับผู้ใช้บริการของเอไอเอสแล้ว ยังจะเป็นอาวุธทางการตลาดชิ้นสำคัญที่เอไอเอสนำเข้ามาอุดช่องโหว่ในเรื่องไว-ไฟที่ทางทรูมูฟนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่เน้นย้ำตลอดว่ามีไว-ไฟอยู่กว่า 18,000 จุดได้เป็นอย่างดี ซึ่งยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้มากนัก แต่จะเริ่มทดลองให้บริการในบางพื้นที่ก่อน หลังจากนั้นถึงจะเปิดให้บริการในเชิงแมส โดยจะเห็นกิจกรรมการตลาดอย่างเข้มข้นภายในไตรมาส 2ของปีนี้
ส่วนที่สอง จะเป็นการลงทุนขยายพื้นที่ให้บริการของ 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA บนคลื่นความถี่ 900 MHz ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยจำนวนสถานีฐาน 133 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนขยายเครือข่าย 3G HSPAสำหรับสถานีฐาน 1,884 แห่ง ประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการเพิ่มเติมภายในไตรมาสที่สอง บริเวณกทม.ชั้นใน และจังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา หัวหิน ภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงราย หลังจากนั้นในไตรมาสที่สามก็จะทยอยขยายพื้นที่ให้บริการในกทม.ชั้นนอก นครปฐม และขอนแก่น
โดยที่หากวัดจำนวนสถานีฐาน 3G HSPA แล้วถือว่าเอไอเอสมีจำนวนมากกว่าดีแทคและทรูมูฟ ที่ยังเป็นแค่ทดลองบริการแบบไม่เชิงพาณิชย์ ในขณะที่เอไอเอสสามารถทำการตลาดได้เต็มรูปแบบ หากการลงทุนในครั้งนี้ของเอไอเอสแล้วเสร็จก็จะทำให้เอไอเอส มีเน็ตเวิร์ก 3G ที่มีพื้นที่ให้บริการมากกว่าคู่แข่ง ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องช่องความถี่ที่มีอยู่ 12.5 MHz ค่อนข้างจะเกือบเต็ม
วิเชียรให้มุมมองเกี่ยวกับการลงทุน 3G ว่า การเปิดประมูลใบอนุญาต 3Gบนคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่ยังต้องรอไปอีกนาน ทำให้เอไอเอสต้องตัดสินใจลงทุนบนเครือข่ายเดิมไปก่อนแต่ถือเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากเป้าหมายการให้บริการ 3Gของเอไอเอสยังอยู่บนคลื่น 2100 MHz เป็นหลัก ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน เอไอเอสเชื่อมั่นว่า จะนำส่งบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าได้
ทั้งนี้เอไอเอสได้จัดสรรคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 5 MHz ไว้ให้บริการ 3Gนอกเหนือจากการให้บริการ 3Gบนเครือข่าย 2100 MHz ทีโอที ในฐานะพันธมิตรซึ่งจะทำให้เครือข่าย 3Gของเอไอเอสเป็นเครือข่ายที่ครอบคลุมมากที่สุด
เพื่อให้ครบองค์ประกอบ DNAs (ดีไวซ์ เน็ตเวิร์ก แอปพลิเคชั่นและเซอร์วิส) ในส่วนของดีไวซ์ หรืออุปกรณ์ปลายทางนั้น เอไอเอสจะมีการนำโทรศัพท์มือถือเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการในทุกๆ เซกเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นเบสิกโฟน สมาร์ทโฟน รวมถึงสมาร์ทดีไวซ์ใหม่ๆ ในหลากหลายระบบปฏิบัติการ พร้อมแพกเกจการใช้งานที่เหมาะสมทั้งวอยซ์และดาต้า
ด้านแอปพลิเคชัน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เอไอเอสจะพัฒนาแอปฯใหม่ๆ ที่จะอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้ในทุกๆ เซกเมนต์ บนทุกระบบปฏิบัติการของดีไวซ์แต่ละประเภท เช่น เอไอเอส ซอกเกอร์ ไลฟ์ จะมีผลและข้อมูลฟุตบอลทุกลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนา Local Applications ซึ่งเอไอเอสได้ส่งเสริมให้พาร์ตเนอร์ทางด้านคอนเทนต์ที่มีกว่า 250 ราย ให้พัฒนาคอนเทนต์ที่มีอยู่ให้ก้าวมาสู่แอปฯให้มากขึ้น แทนที่เอไอเอสจะพัฒนาขึ้นมาเอง
ส่วนเรื่องของบริการนั้นยังคงมุ่งเน้นที่จะมอบความพึงพอใจและประสบการณ์ที่อุ่นใจได้ผ่านทุกช่องทางการให้บริการ ในปีนี้ได้ยกระดับคุณภาพการให้บริการไปอีกขั้นกับ Certified Smart Phone Expert ให้บริการผ่าน Call Center และ สำนักงานบริการทั่วประเทศ ที่พร้อมอยู่เคียงข้างให้คำแนะนำตลอด 24 ชั่วโมง
ใบอนุญาต 3G ความถี่ 2.1 GHz ไม่ใช่ยาวิเศษเหมือนครั้งหนึ่งที่กทช.พยายามเสกสรรค์ปั้นเรื่องว่าทุกๆชีวิตปวงชนชาวไทย ต้องใช้ 3G แต่ 3G 2.1GHz เป็นอีกเทคโนโลยีทางเลือกที่ช่วยยกระดับการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ซึ่งตอบสนองเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพวกที่มีความจำเป็นใช้เท่านั้น 3G ไม่ใช่มีแล้วทำให้พูดเร็วขึ้น
แต่ในเมื่อใบอนุญาตใหม่ยังไม่ประมูล แนวรบสื่อสารข้อมูลหรือโมบาย อินเทอร์เน็ต จะต้องสู้กันบนเน็ตเวิร์กเดิม ความถี่เดิม โดยยุทธศาสตร์เอไอเอสที่เสียเปรียบเรื่องความถี่ ที่สุดแล้วคือการปูพรมไวไฟ ในกทม. และหัวเมืองใหญ่ที่สำคัญ สร้างซูเปอร์บรอดแบนด์ พร้อมลง HSPA 3G อุดช่องโหว่ และเติมเต็มให้ความต้องการบริโภคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงของผู้บริโภค
ดีแทค ทรูมูฟ หนาวแน่ !!!
Company Related Link :
AIS