กลายเป็นเรื่องทอลก์ออฟเดอะทาวน์ เมื่อชาวบ้านจังหวัดลำปางและอีกหลายชีวิตในเมืองเหนือขึ้นป้ายเตือนชาวบ้านให้ระวัง “เบอร์โทรอันตราย” จำนวน 3 เบอร์ ระบุว่ารับสายแล้วอาจจะเสียชีวิต ร้อนถึงทุกหน่วยงานต้องออกมายืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นความจริง
ถามว่าความหวาดผวาเรื่องเบอร์โทรมรณะเป็นบทพิสูจน์อะไรของสังคมไทย นี่คือ 6 บทสรุปที่ “ผู้จัดการไซเบอร์” รวบรวมได้จากกรณีที่เกิดขึ้น
1. คนไทยชนะเลิศเรื่อง “ไวรัลมาร์เก็ตติ้ง”
กรณีเบอร์โทรมรณะ คือกรณีศึกษาที่ยอดเยี่ยมสำหรับนักการตลาดด้าน Viral Marketing หรือการบอกต่อปากต่อปาก เรื่องนี้ประชาสัมพันธ์เอไอเอสระบุว่า ต้นตอของข่าวเบอร์โทรมรณะนี้มาจากแม่เฒ่าในเชียงรายรับโทรศัพท์แจ้งข่าวลูกชายเสียชีวิต จึงช็อคและเป็นลมหมดสติคาโทรศัพท์ ข่าวนี้ถูกบอกต่อพร้อมเติมสีใส่ไข่จนกลายเป็นหากใครรับโทรศัพท์ อาจจะได้รับอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กจนทำให้มีเลือดออกทางปากและจมูก แถมยังบอกอีกว่ามีผู้เสียชีวิตจากเบอร์โทรอันตรายนี้หลายรายแล้ว
ข่าวลือบอกอีกว่า “จังหวัดแพร่ ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่มีคนตายแล้ว” ลูกเล็กเด็กแดงบางส่วนถูกยึดโทรศัพท์มือถือ หรือสั่งห้ามรับโทรศัพท์จากเบอร์ที่ไม่ได้บันทึกไว้ในเครื่องเลยทีเดียว
กระแสบอกต่อกระจายทั่วตัวสร้างความตระหนกทั่วภาคเหนือ ร้อนถึงสื่อต้องออกมาไขความจริง ทั้งจากผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่เป็นเจ้าของเบอร์มรณะ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีผู้เสียหายกรณีนี้หรือไม่ และจากแพทย์เพื่อสรุปความเป็นไปได้ด้านสุขภาพ ทุกรายขานรับว่าไม่มีทาง เมื่อสื่อลงมาเล่นด้วยข่าวลือที่ความจริงกระจ่างแล้วจึงไล่ลามไปทั่วประเทศไทย
2.คนไทยดูหนังมากไป
มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโทรศัพท์มรณะ ตัวละครในเรื่องจะต้องพบเจอเหตุการณ์ร้ายเพียงเพราะรับหรือกดโทรไปยังเบอร์อาถรรพ์ กรณีที่เกิดขึ้นคล้ายกับเนื้อหาภาพยนตร์เหล่านี้ ทำให้หลายคนวิจารณ์ว่า “คนไทยดูหนังมากเกินไป”
3.คนไทยกำลังเครียด
จากการสอบถามนักจิตวิทยาของสถาบันของรัฐแห่งหนึ่ง พบว่ากรณีดังกล่าวเป็นเพียง “ภาวะตื่นตระหนกหมู่” ซึ่งเกิดขึ้นจากคนในสังคมมีภาวะตึงเครียด มีบุคลิกภาพอ่อนแอในจิต มีอาการ Suggest Team หรือชักชวนง่าย และมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ทำให้เบอร์มรณะกลายเป็นประเด็นขึ้นมา
นักจิตวิทยารายนี้บอกว่า กรณีเบอร์มรณะมีความคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ “โรคจู๋” ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเราเมื่อยี่สิบปีก่อน ครั้งนั้นชาวบ้านในเขตภาคอีสาน รับประทานก๋วยเตี๋ยวญวนแล้วเกิดอาการ “นกเขาไม่ขัน” ก่อให้เกิดประเด็นพูดกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ว่าเป็นการวางยาของทหารเวียตนามในสมัยที่ยังมีภัยคอมมิวนิสต์ ทำให้ก๊วยเตี๋ยวญวนขายไม่ออกกันเป็นแถว จนสุดท้ายก็มีผู้เชี่ยวชาญออกมาสรุปว่าเป็นผลมาจากการอุปทานหมู่ด้านจิตใจ
4.คนไทยยังระแวงคลื่นมือถือ
ชาวบ้านจำนวนมากปักใจเชื่อว่าผู้โชคร้ายจากการรับโทรศัพท์เบอร์มรณะนั้นเสียชีวิตเพราะคลื่นโทรศัพท์มือถือ จุดนี้ในต่างประเทศเองก็ยังเสียงแตกเป็น 2 ส่วน บางส่วนยังกังวลว่าคลื่นโทรศัพท์มือถืออาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งที่การทดสอบส่วนใหญ่ระบุว่าไม่มีผลใดๆ
5. บริการเช็กเบอร์ไม่ช่วยอะไร
ความสามารถของบริการเช็คเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะนี้มีเพียงการตรวจสอบระบบเครือข่าย และพื้นที่ใช้บริการเท่านั้น ไม่สามารถให้รายละเอียดอื่นนอกเหนือจากนี้ ดังนั้นกรณีเบอร์โทรมรณะจึงทำให้ทุกคนใช้วิธีทดลองโทรไปยังเบอร์ที่เป็นข่าว ซึ่งก็ไม่ได้รับข้อมูลใดเพิ่มเติมอยู่ดี
6.เจ้าของเบอร์ช้ำใจที่สุด
คนที่เสียหายที่สุดจากกรณีที่เกิดขึ้น คือ เจ้าของเบอร์มรณะ เบอร์มรณะที่ขึ้นประกาศเตือนส่วนใหญ่โทร.ไม่ติด มีเพียง 1 เบอร์เท่านั้นที่สามารถติดต่อได้ ซึ่งรายงานข่าวระบุว่าเจ้าของเบอร์ผู้โชคร้ายได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากมีสายโทรศัพท์โทร.เข้าไปต่อว่าจำนวนมาก จนกระทั่งต้องเลิกใช้งานเบอร์มรณะไปแล้วในที่สุด
เชื่อว่ายังมีสรุปอื่นนอกเหนือจาก 6 ข้อนี้ ขอเชิญทุกท่านอ่านเพิ่มเติมจากคอมเมนต์ด้านล่างเลยครับ :-)