xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสั้น : จ่ายเงินด้วย"วลี"ผสม"รหัส", ฉลอง 40 ปีอินเทอร์เน็ต, เฟสบุ๊กรับ711ล้านชนะคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


**ระบบจ่ายเงินอเมซอนใหม่ ดึง"วลี"ผสม"รหัส"

อเมซอนดอทคอม (Amazon.com) ยักษ์ใหญ่เว็บไซต์ค้าปลีกเอาใจชาวช้อปปิ้งออนไลน์ให้สามารถจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยเปิดให้ผู้ใช้ผูก"ถ้อยคำวลี"เข้ากับรหัสส่วนตัว เพื่อให้ผู้ใช้กรอกเมื่อต้องการจ่ายเงินแทนที่จะต้องเสียเวลาป้อนชื่อ ที่อยู่ที่ต้องการให้จัดส่ง และหมายเลขบัตรเครดิตทุกครั้งที่จับจ่ายออนไลน์อย่างเคย

บริการจ่ายเงินระบบใหม่ของอเมซอนมีชื่อว่า Amazon PayPhrase ผู้ที่มีสิทธิ์ใช้ระบบจ่ายเงินนี้จะต้องเป็นสมาชิกที่เก็บข้อมูลเครดิตการ์ดและที่อยู่เพื่อส่งของกับอเมซอนแล้ว โดยผู้ใช้สามารถตั้งรหัสส่วนตัวเป็นคำวลีสั้นๆร่วมกับชุดตัวเลขหรือ PIN ส่วนตัวเพื่อใช้สำหรับดึงข้อมูลเหล่านี้ เมื่อต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ใช้สามารถกรอกคำวลีและรหัส PIN เหล่านี้แทนหมายเลขบัตรเครดิต โดยไม่ต้องเลือกที่อยู่ส่งของอีก

อเมซอนการันตีว่า ระบบจ่ายเงินใหม่นี้มีความยืดหยุ่นมาก เนื่องจากผู้ใช้สามารถตั้งวลีและรหัส PIN หลายชุดแต่ใช้หมายเลขบัตรเครดิตเดียวกันได้ เป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ให้กับบุตรหลานที่อยู่ต่างที่กัน นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคสามารถจับจ่ายออนไลน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น อเมซอนยังเชื่อว่าจะทวีความปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วย โดยอเมซอนระบุว่ามีแผนจะนำระบบชำระเงินใหม่นี้ไปใช้กับเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์พันธมิตรแห่งอื่นด้วย
ศาสตราจาร์ยลีโอนาร์ด ไคลน์ร็อค แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากยูซีแอลเอเป็นผู้นำทีมในการเฉลิมฉลอง 40 ปีอินเทอร์เน็ต กับเครื่อง Interface Message Processor
**ชาวโลกร่วมฉลอง 40 ปีอินเทอร์เน็ต

มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส หรือยูซีแอลเอ (UCLA) นำทีมชาวโลกร่วมเฉลิมฉลองโอกาส 40 ปีจุดกำเนิดอินเทอร์เน็ตโลกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคมตามเวลาในสหรัฐฯ หัวหน้าทีมพัฒนายอมรับว่าไม่เคยจินตนาการถึงทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ก หรือยูทูบเลยในครั้งที่สามารถให้กำเนิดเครือข่ายพื้นฐาน ที่นำไปสู่ต้นกำเนิดอินเทอร์เน็ตได้สำเร็จ

ศาสตราจาร์ยลีโอนาร์ด ไคลน์ร็อค แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากยูซีแอลเอเป็นผู้นำทีมในการเฉลิมฉลองครั้งนี้ โดยศาสตรจารย์ไคลน์ร็อคมีดีกรีเป็นผู้นำทีมวิจัยที่สามารถทำให้คอมพิวเตอร์"ออนไลน์"หรือเชื่อมต่อกันแม้จะอยู่ห่างไกลกันได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ปี 1969 ความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือคอมพิวเตอร์ซึ่งยูซีแอลเอเรียกว่า "Interface Message Processor" สามารถส่งตัวอักษร "LO" ไปยังคอมพิวเตอร์ในสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดผ่านทางสายโทรศัพท์ ทั้งที่ 2 สถานที่มีระยะห่างกันมากกว่า 300 ไมล์

อักษร LO นั้นมาจากคำว่า LOGIN ซึ่งแม้การออนไลน์จะหลุดไปจนทำให้การส่งข้อความทั้งคำไม่สำเร็จ แต่ก็ถือได้ว่านี่คือครั้งแรกของการส่งข้อความระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านสายโทรศัพท์ ซึ่งถูกพัฒนาจนกลายเป็นอาร์ปาเน็ต (Arpanet : Advanced Research Projects Agency Network) โดยนักวิทยาศาสตร์ในสังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก่อนจะเกิดเป็น World Wide Web ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษนามทิม เบอร์เนอร์ส-ลี สามารถทำให้เว็บไซต์ถูกเปิดผ่านโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ได้ในที่สุด
สัญลักษณ์เฟสบุ๊ก
**เฟสบุ๊กรับทรัพย์711ล้านค่าเสียหายข้อความสแปม

เฟสบุ๊กแถลงชนะคดีต่อต้านการส่งข้อความขยะกับนักการตลาดออนไลน์ชื่อดังนามแซนฟอร์ด วอลเลซ (Sanford Wallace) ระบุศาลแคลิฟอร์เนียตัดสินให้บริษัทโฆษณาจ่ายเงินให้เฟสบุ๊กจำนวน 711 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นค่าเสียหายฐานเข้าถึงหน้าสมาชิกผู้ใช้เฟสบุ๊กโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการแอบอ้างส่งข้อความและโพสต์ข้อความปลอม

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลสหรัฐฯสั่งลงโทษวอลเลซและให้ความคุ้มครองเว็บไซต์เครือข่ายสังคม ฐานละเมิดสิทธิคนออนไลน์ด้วยการก่อความเดือดร้อนรำคาญเพราะการส่งข้อความไม่พึงประสงค์ เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2008 เครือข่ายสังคมอย่างมายสเปส (MySpace) ก็ชนะคดีได้รับค่าเสียหายมูลค่ากว่า 230 ล้านเหรียญจาก Wallace และเพื่อนนาม Walter Rines ตัดสินโดยศาลลอสแองเจลิส หลังจากที่ปี 2006 วอลเลซถูกปรับ 4 ล้านเหรียญเพราะคดีส่งสปายแวร์หรือโปรแกรมสอดแนมไปรบกวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

โทษปรับ 711 ล้านเหรียญนี้ถือเป็นคดีความมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2008 เฟสบุ๊กสามารถชนะคดีและได่รับค่าเสียหายจากนักการตลาดออนไลน์นาม Adam Guerbuez และบริษัท Atlantis Blue Capital ของเขาเป็นมูลค่า 873 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งข้อความสแปมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศไปรบกวนสมาชิกเฟสบุ๊ก
กำลังโหลดความคิดเห็น