ไอซีทีหวังเห็นราคาบรอดแบนด์ไทยลดลงจากเดิม 50 % ยอมรับมีความสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง รองปลัดเผยเสนอของบ 2,000 ล้านบาทภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เพื่อนำไปกระจายการใช้บรอดแบนด์เข้าสู่ชุมชน ผ่านโครงการไอซีทีชุมชน และการวางโครงข่าย GIN อินเทล ชี้ไทยเป็นประเทศสุดท้ายที่จะลงทุนไวแมกซ์ในภูมิภาคนี้เพราะกทช.ยังไม่ชัดเจนเรื่องการออกใบอนุญาต
นายนิมิตร ดำรงรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เปิดเผยภายหลังการประชุมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการวางรากฐานระบบไอซีทีว่า กระทรวงฯได้เห็นถึงความสำคัญของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง(บรอดแบนด์) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง จึงมีแผนผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยเบื้องต้นเห็นว่าปัจจัยที่จะทำให้บรอดแบนด์สามารถเข้าถึงประชากรได้ทั่วถึงมากขึ้นคือการทำต้นทุนบริการบรอดแบนด์ใหม่มีราคาถูกลง 50% จากปัจจุบันค่าบริการอินเทอร์เน็ตรายเดือนความเร็ว 3 เมกะบิตอยู่ที่ 590 บาท
“กระทรวงไอซีทีเห็นถึงความสำคัญของบรอดแบนด์ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของประเทศ โดยต้นทุนค่าบริการรายเดือนของบอรดแบนด์เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันบรอดแบนด์ให้เข้าถึงประชากรในประเทศ ดังนั้นค่าบริการบรอดแบนด์ควรถูกลงจากปัจจุบัน 50 % เช่นบรอดแบนด์ความเร็ว 1 เมกะบิต ราคา 300 บาท ต่อเดือน”นายนิมิตกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มีการวางเป้าหมายสำหรับแผนแม่บทไอซีที ฉบับที่ 2 เพื่อช่วยให้บรรลุพันธกิจและวิสัยทัศน์ดังกล่าวในระดับประเทศ โดยภายในปี 2553 จะต้องมีประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยบริการบรอดแบนด์ หรือคิดเป็นผู้จดทะเบียนการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 8 ล้านพอร์ต ขณะเดียวกันก็จะทำให้เป้าหมายของการเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านเครื่องภายในปี 2553 ด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศขึ้นอย่างน้อย 15 อันดับ ภายในปี 2556 จากการจัดอันดับของ Networked Readiness Rankings
นายอังสุมาล ศุนาลัย รองปลัดกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีได้ยื่นของบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้โครงการลงทุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบรอดแบนด์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี นับจากปี 2553-2554
ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าว แบ่งเป็น สำหรับโครงการศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนจำนวน 800 ล้านบาท และการวางโครงข่ายเชื่อมโยงสื่อสารข้อมูลภาครัฐ (GIN) กระจายสู่ระดับอำเภอประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการจะช่วยผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ตลอดจนการใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบรอดแบนด์ขึ้น โดยมีนายอังสุมาลเป็นประธาน และคณะกรรมการจากหน่วยงานภาครัฐ เบื้องต้นเพื่อทำหน้าที่หารือกับบริษัทโทรคมนาคม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐในการจัดสรร ติดตั้ง และการเช่าใช้โครงข่าย โดยจะประชุมนัดแรกสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนหารือกับภาคเอกชนต่อไป
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ในต่างประเทศต่างให้ความสำคัญต่อการลงทุนบรอดแบนด์เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีความสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เช่น ประเทศออสเตรเลีย จีน รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ลาวได้ลงทุนไวแมกซ์ไปแล้วส่วนประเทศเวียดนามก็ประกาศชัดเจนว่าจะมีการลงทุนในปีนี้
สำหรับประเทศไทยเชื่อว่าจะเป็นประเทศสุดท้ายเช่นเคยสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยี ไวแมกซ์ เนื่องจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการขับเคลื่อนใบอนุญาตไวแมกซ์ ทั้งนี้เห็นว่ากทช.ควรจะเร่งผลักดันออกใบอนุญาตเทคโนโลยี 3 จี 3.5 จี 4 จี ให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปมากกว่านี้
อย่างไรก็ดี ในต่างประเทศพบว่ามีการนำบรอดแบนด์มาใช้อย่างแพร่หลายเพราะเล็งเห็นว่าจะช่วยพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในทุกๆด้าน เช่น ด้านการศึกษาที่นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้นโดยผ่านระบบ บรอดแบนด์ ด้านภาคธุรกิจ บรอดแบนด์สามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถทำตลาดได้กว้างขึ้น ด้านบริการภาครัฐ บรอดแบนด์สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านอินเทอร์เน็ตได้สะดวกสบาย ลดการเดินทางไปทำธุรกิจตามศูนย์ราชการได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ในส่วนอัตราค่าบริการบรอดแบนด์ในประเทศไทยยังสูงกว่าต่างประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ต่อหัวของประชากรตัวอย่างเช่น ในรัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกาค่าบริการบรอดแบนด์ต่อเดือนอยู่ที่ 20-35 เหรียญ หรือ 700-1,000 บาท จากรายได้ต่อหัวของประชากรเฉลี่ย 25,000 เหรียญ หรือ 800,000 บาท ส่วนในประเทศไทยอัตราค่าบริการอยู่ที่ 590 บาทต่อเดือน จากรายได้ต่อหัวของประชากรเฉลี่ย 15,000 บาท
Company Related Links :
MICT