ทรีคอม (3Com) ประเทศไทยมั่นใจกลยุทธ์เพิ่มแบรนด์เอชทรีซี (H3C) สำหรับทำตลาดในกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ยักษ์โดยเฉพาะนั้นมาถูกทาง ยืนยันว่าสร้างแบรนด์ขึ้นใหม่จะได้รับผลดีกว่าการสร้างแบรนด์เดียว เชื่อลูกค้าไทยกลุ่มทรีคอมเดิมจะไม่หวั่นใจว่าโซลูชั่นทรีคอมเดิมไม่ใหญ่พอ ย้ำตัวอักษรเอช (H) ในเอชทรีซีไม่ได้หมายถึงหัวเว่ยแน่นอน
นายชิงชัย เมฆทิพย์พาชัย ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ทรีคอม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์การเพิ่มแบรนด์เอชทรีซีเข้ามาเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เครือทรีคอม ซึ่งมีการประกาศทั่วโลกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า กลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถขยายตลาดผู้ใช้ในประเทศไทยได้ทั้งกลุ่มลูกค้าทรีคอมเดิม ลูกค้าใหม่ และที่สำคัญคือกลุ่มลูกค้าของคู่แข่ง
"เหตุผลที่เราตัดสินใจทำหลายแบรนด์คือ ชื่อ H3C เป็นที่รู้จักในประเทศจีน ในฐานะพรีเมียมแบรนด์ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถตอบความต้องการองค์กรใหญ่มากในจีนได้จริง เรามองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำโซลูชันนี้ออกนอกประเทศจีน เหมือนซัมซุงที่เคยอยู่แต่ในเกาหลี แต่สามารถมีชื่อเสียงทั่วโลกเมื่อผลิตออกมาสู่โลกภายนอก ตรงนี้เรามองว่าการมีสินค้าแบรนด์เอชทรีซีเพิ่มเข้ามา จะทำให้ลูกค้าทรีคอมขยายเครือข่ายอย่างไรก็ได้ ลูกค้าใหม่ก็สามารถเลือกได้ตามต้องการว่าจะใช้เอชทรีซีหรือทรีคอม ขณะที่ลูกค้าค่ายคู่แข่งก็สามารถนำผลิตภัณฑ์มาตรฐานเปิดของเราเข้าไปเสริมในระบบที่มีอยู่ได้"
ใจความหลักของกลยุทธ์ใหม่ที่เอชทรีซีประกาศออกมาคือการแบ่งสายผลิตภัณฑ์ออกเป็นสามส่วน ได้แก่ แบรนด์เอชทรีซี สำหรับตลาดองค์กรขนาดใหญ่และผู้ให้บริการ, แบรนด์ทรีคอม สำหรับตลาดเอ็นเตอร์ไพรส์ถึงองค์กรขนาดเล็ก และแบรนด์ทิปปิงพอยท์ สำหรับการดูแลระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งหมดนี้ทรีคอมเชื่อว่าการแยกทำตลาดหลายแบรนด์ จะส่งผลดีกว่าการรวมสินค้าทุกสายไว้ที่แบรนด์เดียว
"ต้องยอมรับว่า บางตลาดมองภาพทรีคอมไม่ได้อยู่ในกลุ่มองค์กรใหญ่ ทรีคอมจึงมองว่าการสร้างแบรนด์เอชทรีซีขึ้นมาจะบรรลุจุดประสงค์ที่ตรงกว่า" ชิงชัยกล่าว "แบรนด์เอชทรีซีมีในตลาดไทยแล้ว 4-5 ปี หลังจากทรีคอมซื้อเอชทรีซีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทรีคอมประเทศไทยก็เมิร์ชเอชทรีซีประเทศไทยเข้าด้วยกัน ก่อนการประกาศเวิร์ลไวด์ครั้งนี้ด้วย ต้องบอกว่าก่อนการควบรวม เอชทรีซีเดี่ยวๆทำงานลำบากมาก เมื่อมาเป็นของทรีคอมอุปสรรค์ก็หมดไป 2 ปีที่ผ่านมาเอชทรีซีไทยมีลูกค้าเกิน 10 ราย รายใหญ่ที่สุดคือทีโอที ซึ่งมีเครือข่ายอยู่กว่า 40,000 พอร์ท"
แม้จะเพิ่มแบรนด์เอชทรีซีเข้ามา แต่ทรีคอมจะใช้โครงสร้างคู่ค้าดั้งเดิม คือจากทรีคอมไปดิสทริบิลเตอร์ รีเซลเลอร์ สู่เอนด์ยูสเซอร์ โดยชิงชัยจะดูแลเต็มตัวไม่มีการตั้งบุคคลอื่นขึ้นมาบริหารงานเหมือนทิปปิงพอยท์ ยืนยันว่าอุปกรณ์ทรีคอมและเอชทรีซีทำงานร่วมกันได้ 100% และมั่นใจว่าลูกค้าทรีคอมเดิมจะไม่กังวลว่าเครือข่ายแบรนด์ทรีคอมที่ใช้อยู่นั้นมีขนาดไม่ใหญ่พอ
"แบรนด์ทั้งสามของทรีคอมมีจุดแข็งต่างกัน มีอัตราการเติบโตของตัวเอง ไม่ทับกัน คนละตลาด ตรงนี้เรามองว่ามันเป็นทางเลือกของลูกค้าที่ดีขึ้น ทรีคอมก็ไม่ได้ไปไหน ดูแลลูกค้าอยู่ดี แต่การเพิ่มเอชทรีซีเข้ามา เท่ากับเราเสนอสิ่งที่จะขยายได้ใหญ่มากขึ้นแล้วแต่ลูกค้าเลือก พันธมิตรเราก็สามารถเลือกขายได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเราพยายามดูแลไม่ให้ขัดกันอยู่แล้ว"
ชิงชัยยอมรับว่าขณะนี้ ตลาดเอนเตอร์ไพรส์สามารถสร้างรายได้ให้ทรีคอมมากกว่าตลาดเอสเอ็มอี สัดส่วนตลาดเปลี่ยนแปลงจากเดิม 50-50% มาเป็น 70-30% โดยกลุ่มเป้าหมายตลาดเอนเตอร์ไพรส์ของทรีคอมยังคงเป็น 3 กลุ่มหลักคือ องค์กรภาครัฐ ผู้ให้บริการ และองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เช่นเดิม
ทรีคอมไม่ได้พูดถึงความคาดหวังในรูปยอดขายของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ รวมถึงตัวเลขการทำตลาดแบรนด์เอชทรีซีที่วางไว้ แต่ระบุว่าจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์เอชทรีซีในประเทศไทยอย่างเป็นทางการช่วงสัปดาห์ปลายเดือนพฤษภาคม เช่น H3C S12500 สวิตช์สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ความเร็ว 6.6 เทราบิตต่อวินาทีที่สามารถรับส่งแพกเกจข้อมูล 2.2 พันล้านชุดต่อวินาที ที่เชื่อว่าถูกสร้างมาเพื่อประชัดกับสวิตช์ตระกูล Nexus ของคู่แข่งอันดับหนึ่งของซิสโก้
ชิงชัยย้ำว่า ตัวอักษรเอชในเอชทรีซีนั้นไม่ได้หมายถึงหัวเว่ย (Huawei) ซึ่งเคยร่วมทุนกับทรีคอมช่วงก่อนปี 2006 เนื่องจากความสัมพันธ์ของทั้งสองบริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องกันแล้วหลังการซื้อหุ้นคืน 100% ของทรีคอมด้วยเงิน 882 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ไม่ได้หมายถึงหัวเว่ยเลย เพราะกับหัวเว่ยเราถือเป็นคู่แข่งกันด้วยซ้ำ" ชิงชัยทิ้งท้าย "พวกผมยังแอบคุยกันเล่นๆว่า H3C นี่หมายถึง high performance 3Com หรือเปล่า"
Company Related Links :
3Com