เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่องกลุ่มสามารถฯเดินหน้าโครงการ SIAเป็นปีที่ 7 เน้นเพิ่มมูลค่าและสร้างความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นทั้งเป็นปีแห่งการสร้างเถ้าแก่มืออาชีพ เพิ่ม e-Learning อนาคตตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการส่งออกซอฟต์แวร์ให้มากยิ่งขึ้น
นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อการกระตุ้นตลาดซอฟต์แวร์ไทยให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นทางบริษัทฯให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ในด้านการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์จึงได้จัด Samart Innovation Awards 2009 (SIA) ขึ้นอีกเป็นปีที่ 7 ซึ่งในปีนี้จะมีการเพิ่มมูลค่าและสร้างความเข้มข้นครั้งยิ่งใหญ่ให้กับการประกวด โดยจะมีการขยายกลุ่มเป้าหมาย ไม่จำกัดแค่กลุ่มนิสิตนักศึกษา แต่จะครอบคลุมถึงกลุ่มบุคคลทั่วไป และนอกจากจะประกวดซอฟต์แวร์ประเภท Mobile Application แล้ว ในปีนี้ยังมีการเพิ่มประเภท Business Software โดยเฉพาะด้าน e-Learning เข้าไปด้วย อีกทั้งยังเน้นให้เป็นปีแห่งการสร้างเถ้าแก่มืออาชีพ เพื่อส่งเสริมทางด้านการพาณิชย์สำหรับผลงานที่โดดเด่นและช่วยสร้างรายได้ รองรับกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
“กุญแจสำคัญในการจัดประกวดการแข่งขันครั้งนี้ไม่เพียงแต่คาดหวังให้สามารถทดแทนการนำเข้าและลดค่าใช้จ่ายในการซื้อซอฟต์แวร์จากต่างชาติเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออกซอฟต์แวร์ที่เพิ่มมากขึ้น และเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโต ด้วยการเป็นเวทีของนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ ให้ได้แสดงออกถึงพลังความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ด้อยกว่าใคร”
ด้านนางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวว่า ต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนและหน่วยงานทั้งหลายสร้างเวทีเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมทางด้านซอฟต์แวร์ใหม่ๆ และต้องนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ในเวลาเดียวกัน เวที SIA จะช่วยปิดช่องว่างโดยทำให้กลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หน้าใหม่ หรือกลุ่มที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังไม่มีทุนก้อนแรกสนับสนุนไม่สามารถผ่านเข้าเวทีประกวดหลักได้มีโอกาสในอนาคต
นายเจริญรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเพิ่มประเภท General Software เข้ามามาก เนื่องจากตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศที่มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ e-Learning Software เป็นตลาดที่มีอนาคต แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็ยังมีผู้สนใจหันมาศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น และส่วนหนึ่งเรียนผ่าน e-Learning สามารถทำงานพร้อมศึกษาหาความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านการสื่อสารที่รวดเร็ว สะดวกและทันสมัยที่สุด ทำให้ที่ผ่านมาตลาด e-Learning ในประเทศไทย ยังเติบโตสูงขึ้นถึง 100% ซึ่งก็โตขึ้นตามตลาดทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดครองส่วนแบ่งตลาดถึง 6 หมื่นกว่าล้านบาท หรือประมาณ 60% ของตลาดอี-เลิร์นนิ่งทั่วโลกที่มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท สำหรับในเอเชีย คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตของอี-เลิร์นนิ่งจะอยู่ในระดับ 25 - 30% ต่อปี”
จากการเห็นโอกาสการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์ ประกอบกับประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญและถือเป็นเจ้าตลาดด้าน e-Learning Software ที่ประสบความสำเร็จจากหลายๆโครงการ เช่น โครงการ U-Plus ของมหาวิทยาลัยเอแบค ม.หอการค้า ม.รังสิต ฯลฯ และยังมีโครงการที่จะขยายไปอีก 9 สถาบันในปีนี้ กลุ่มสามารถจึงมั่นใจได้ว่า จะสามารถผลักดันซอฟต์แวร์ที่มีผลงานโดดเด่นมาพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ไม่ยาก
Company Related Links :
Samart