ผู้ดูแลทีมนักพัฒนาเว็บระบบเปิดของกูเกิล แสดงวิสัยทัศน์ในงาน Google DevFest ซึ่งกูเกิลเรียกรวมพลนักพัฒนาในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา บอกว่า “ใบเซอร์ฯ” หรือ Certificate ประกาศนียบัตรของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่นักพัฒนาต้องคว้ามาเป็นเครื่องประกันว่ามีความรู้ในเทคโนโลยีจริงๆ นั้น ไม่ได้มีความสำคัญเลยในสังคมระบบเปิด กูเกิลจึงไม่เคยคิดที่จะออกใบเซอร์ฯ เทคโนโลยีของกูเกิลให้ใคร เพราะมั่นใจว่าถ้าเทคโนโลยีนี้เป็นเรื่องดี นักพัฒนาทุกคนก็ย่อมรู้และศึกษาเทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว
แพทริก เชนซอน ผู้สนับสนุนนักพัฒนาของกูเกิลสำนักงานใหญ่ ให้เหตุผลที่กูเกิลไม่มีแผนออกประกาศนียบัตรแก่นักพัฒนาเทคโนโลยีเว็บระบบเปิด (Open Web Technology) อีกว่า การใช้งาน Open Web ที่ขณะนี้อยู่ในรูปแบบชุมชนซึ่งพัฒนาร่วมกัน นั้นดีกว่าการใช้งานในรูปแบบเซ็นสัญญา
“กูเกิลไม่มีแผนออก Certificate เทคโนโลยี Open Web ของกูเกิล เทคโนโลยีนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เชื่อว่าจะยังพัฒนาต่อเนื่องไปอีกหลายปี ตอนนี้มีการใช้งานเป็น relationship ซึ่งผมมองว่าดีกว่าถ้านักพัฒนาเข้ามาร่วมกันกับชุมชน สำหรับการนำ Open Web ไปใช้งานกับองค์กรธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องมี Certificate เพราะถ้าเทคโนโลยีเป็นเรื่องดีทุกคนก็ยอมรับอยู่แล้ว”
ที่ผ่านมา Certificate เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับคนไอทีที่ต้องการให้บริการองค์กรธุรกิจ เพราะ Certificate เป็นเหมือนปริญญาที่นักพัฒนาต้องเสียเงินไปสอบเพื่อให้บริษัทไอทีเจ้าของเทคโนโลยีรับรองว่ามีความรู้ในเทคโนโลยีนั้นมากพอตามมาตรฐาน เชื่อว่าสิ่งที่แพทริกเอ่ยมาจะเป็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงโลกของนักพัฒนาในอนาคต
สำหรับ Open Web ที่แพทริกกล่าวถึงนั้นเป็นภาพใหญ่ของเทคโนโลยีเว็บระบบเปิดที่กูเกิลเป็นแกนนำผลักดันเพื่อจุดประสงค์ “คนใช้เน็ตสูงขึ้น” กูเกิลบอกว่า เว็บระบบเปิดที่จะทำให้นักพัฒนาเขียนโปรแกรมครั้งเดียวแต่สามารถนำไปใช้งานบนเว็บไซต์ที่หลากหลาย จะนำไปสู่เว็บแอปพลิเคชันที่ดีขึ้น ผู้ใช้ก็จะเพิ่มจำนวนจนส่งให้การใช้ประโยชน์บนอินเทอร์เน็ตเพิ่มตาม ช่องทางการทำรายได้บนอินเทอร์เน็ตก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
เทคโนโลยี Open Web พื้นฐานที่กูเกิลมองว่าจำเป็นต่อการจุดประกายนักพัฒนา ได้แก่ 1.OpenSocial ชุด API มาตรฐานกลางสำหรับแอปพลิเคชันบนเว็บไซต์เครือข่ายสังคม 2.Maps&Geo ชุด API กลางสำหรับแอปพลิเคชันด้านภูมิศาสตร์ 3.App Engine บริการที่เปิดให้นักพัฒนาสร้างเว็บแอปพลิเคชันเพื่อทำงานบนอินฟราสตรักเจอร์ของกูเกิล กูเกิลจึงเปิดการอบรมเทคโนโลยีทั้ง 3 แก่นักพัฒนาในประเทศไทยจำนวน 350 คนในชื่องาน Google DevFest ร่วมกับชุมชนนักพัฒนาไทย “บาร์แคมป์กรุงเทพ” จัดเวิร์กชอปเพื่อให้นักพัฒนาสร้างแอปพลิเคชันสำหรับสังคมออนไลน์บนแพลตฟอร์ม eXo Platform, Friendster, Hi5 และ iGoogle ด้วยการเขียนโปรแกรมในครั้งเดียว ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันฮัลโลวีนที่ผ่านมา
“300 คนที่เข้าอบรมในวันนี้อาจจะทำให้เกิดอย่างน้อย 100 เว็บแอปพลิเคชันเพื่อชุมชนออนไลน์สำหรับคนไทยเท่ๆ เราจัดงาน DevFest ที่จีนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แล้วจึงเริ่มเข้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์ ไทย จากนี้จะไปที่เวียดนาม และฟิลิปปินส์”
กูเกิล บอกว่า มองเห็นโอกาสเติบโตในประเทศไทย จุดนี้กูเกิลเชื่อว่านักพัฒนาเกือบทั้งหมดของไทยจำนวนกว่า 324,000 คน ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน จะให้ความสนใจเทคโนโลยี Open Web กูเกิลบอกด้วยว่าไม่ได้เน้นเฉพาะนักพัฒนาไทยแต่ให้ความสำคัญกับทั้งภูมิภาค ซึ่งปี 2010 อาเซียนอาจจะมีนักพัฒนาเทคโนโลยี Open Web มากกว่าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือจีนก็เป็นได้
กูเกิลบอกด้วยว่า แอปพลิเคชันสำหรับชุมชนออนไลน์ไทยที่ดีที่สุดน่าจะเป็นฝีมือการพัฒนาของคนไทย ขณะเดียวกันก็ต้องการเข้าถึงกลุ่มนักพัฒนาโดยตรง จึงจัดงาน DevFest โดยร่วมมือกับบาร์แคมป์กรุงเทพแทนการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และการจัดงานที่ไทยก่อนเวียดนามไม่ได้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ แต่ขึ้นอยู่กับการเดินทาง
พรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์พันธมิตร กูเกิลสำนักงานสิงคโปร์ บอกว่าประโยชน์ที่กูเกิลจะได้จากการจัดงานครั้งนี้ คือ การโปรโมตให้นักพัฒนาทราบและหันมาใช้แพลตฟอร์มเปิดกันมากขึ้น ไม่มีจุดประสงค์เรื่องธุรกิจ ยังไม่ได้วางแผนเรื่องการจัดงานครั้งต่อไป โดยยืนยันว่ามองเฉพาะในส่วนการพัฒนาแอปพลิเคชันไม่ได้คลุมถึงส่วนการใช้งาน จึงยังไม่มีความเห็นว่าพฤติกรรมการใช้งานสังคมออนไลน์ของวัยรุ่นไทยจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดเว็บแอปพลิเคชันในเมืองไทยหรือไม่ แม้วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่จะนิยมเพียงโพสต์รูปและแชตกันโดยไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันมากมายเหมือนในประเทศอื่น
แอปพลิเคชันเทคโนโลยี OpenSocial สำหรับเว็บเครือข่ายสังคมอย่าง Friendster และ Hi5 รวมถึง iGoogle ไม่ได้เน้นออกแบบมาสำหรับผู้บริโภค ในรูปเกม แอปพลิเคชันด้านเพลง ภาพ หรือวิดีโอเท่านั้น แต่ยังมีแพลตฟอร์มอย่าง eXo Platform ที่เน้นการพัฒนาแอปพลิเคชันชุมชนออนไลน์สำหรับลูกค้าองค์กรรวมอยู่ด้วย แพลตฟอร์มสัญชาติฝรั่งเศสรายนี้ตั้งสำนักงานใหญ่ที่เวียดนามแล้ว โดยมองว่าทรัพยากรโอเพนซอร์สของเวียดนามเหนือกว่าประเทศใดในอาเซียน มีแผนจะหาพันธมิตรและผู้ให้บริการไอทีเพื่อบุกตลาดองค์กรธุรกิจไทยด้วย
อีกสิ่งที่น่าสนใจในงานนี้คือ ผู้บริหารเว็บไซต์รายใหญ่อย่างสนุกดอตคอม กระปุกดอตคอม ตบเท้าเข้าร่วมงานนี้ด้วย เท่ากับมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เว็บไซต์เหล่านี้จะร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตร OpenWeb ตามทิศทางที่กูเกิลวางไว้ จากการพูดคุยพบว่าผู้ประกอบการเว็บไทยไม่ได้สนใจเฉพาะ OpenSocial อย่างเดียว แต่มองว่าแอปพลิเคชันด้านแผนที่ก็มีโอกาสเติบโตสูงในตลาดธุรกิจของไทย ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าหาก 3G ในประเทศไทยเกิด ตลาดตรงนี้จะยิ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว
งานนี้กูเกิลไม่ให้ความเห็นเรื่องความคืบหน้าในการพัฒนาแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ หรือแผนงานภาพรวมของกูเกิลในอนาคต
แพทริกทิ้งท้ายโดยเชิญชวนนักพัฒนาไทยให้เข้าร่วมประกวด Gadget สำหรับ OpenSocial ซึ่งจะมีการแจกรางวัลใหญ่เป็นเครื่องเกมวี (Wii) บอกว่าจะรอชมผลงานจากนักพัฒนาไทย โดยงานนี้ประทับใจนักพัฒนาไทยมากที่มีการร่วมมือในรูปแบบชุมชนที่เหนียวแน่น
Company Related Links :