ATCI เผยซอฟต์แวร์ดาวรุ่งปีหน้า ไฟแนนซ์ แอปพลิเคชัน มาเป็นอันดับ 1 “มนูญ อรดีดลเชษฐ์” แนะวิธีนำไทยสู่ตลาดโลกต้องเฟ้นหาจุดแข็งเพื่อส่งเสริมให้ตรงจุด ชี้ไทยมีดีด้านบริการสาธารณสุขและสุขภาพ เผยส่งออกซอฟต์แวร์ไทยยังไม่ติดฝุ่นอินเดีย ระบุไทยอยู่ขั้นโหล่ระดับโลก ส่วนเอเชียยังอยู่ต่ำกว่าระดับกลางเล็กน้อย วอนรัฐสนับสนุนการวิจัยเพื่อช่วยกระตุ้นให้เห็นผลระยะสั้น
นายธนชาติ นุ่มนนท์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) เปิดเผยในงาน Thailand ICT Award( TICT) 2008 Symposium ว่า ซอฟต์แวร์ แอพพิเคชั่นที่มาแรงในปี 2552 ประกอบด้วย 1. ไฟแนนซ์ แอปพลิเคชัน 2.Security 3.CRM& Contac center 4.Spend management 5.eHR 6.Agriculture 7.Tourism+Mobile+Internet 8.Auto-Carcare+Insuretasp 9.Health care
ส่วน นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ประธานกรรมการนโยบายไอซีที มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผย ว่าการจะนำซอฟต์แวร์ไทยออกสู่ตลาดได้สำเร็จนั้น ไทยจะต้องหันมามุ่งเน้นจุดเด่นของประเทศที่มีให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและผลักดันที่ตรงจุดที่สุด โดยที่ผ่านมาเป็นการสนับสนุนในวงกว้างซึ่งใช้เวลานานจึงจะเกิดผลสำเร็จ
“การผลักดันซอฟต์แวร์ไทยให้ไปยังตลาดโลกนั้นเราจะต้องกลับมามองว่าในประเทศไทยปัจจุบันเราเก่งด้านไหน เพื่อจะได้มุ่งเน้นพัฒนาให้ตรงจุด เพราะหากเราเสียเวลากับสิ่งที่ไม่ใช่จุดแข็งความถนัด จะเป็นการเสียเวลาเปล่า”นายมนูกล่าว
อย่างไรก็ดีด้านที่เราถนัดตอนนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องการบริการ สาธารณสุข สุขภาพ และ BDD ดังนั้นควรจะเริ่มต้นสะสมความรู้เกี่ยวกับด้านต่างๆที่กล่าวมาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถนำไปใช้งานตอบสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ตัวเลขการส่งออกซอฟต์แวร์ไทยสู่ตลาดโลกแม้จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ไม่น่าพอใจเพราะเป็นการเติบโตจากฐานขนาดเล็ก ซึ่งไทยมีตัวเลขการส่งออกล่าสุดเพียง 6,000-7,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ต่ำมาก หากเปรียบเทียบกับต่างชาติ โดยเฉพาะอินเดียที่มีอัตราการเติบโตมากกว่าปีละ 30-40 % แต่เป็นการเติบโตในฐานใหญ่ จนเรียกได้ว่าปัจจุบันอินเดียได้กลายเป็นเจ้าโลกด้านซอฟต์แวร์ไปแล้ว ส่วนมูลค่าการใช้ซอฟต์แวร์ในประเทศมีเพียง 60,000 ล้านบาท และ 80 %ในประเทศไทยยังพึ่งพาซอฟต์แวร์ต่างประเทศ
นายมนูกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับระดับโลกแล้วยังถูกจัดระดับอยู่ในระดับล่าง ซึ่งเป็นระดับเดียวกับ ประเทศเวียดนาม อียิปต์ ส่วนในด้านการประเมินความพร้อมในการพัฒนาระดับเอเชียประเทศไทยอยู่ประมาณระดับ 7 ของระดับ 10 ซึ่งเป็นระดับที่ยังสามารถก้าวขึ้นมาได้อีก
ทั้งนี้การจัดงานมอบรางวัลแก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในประเทศ หรือการนำซอฟต์แวร์ในประเทศออกประกวดในเวทีโลกนั้นจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำเสนอซอฟต์แวร์ไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก
อย่างไรก็ดีคาดหวังอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินในการศึกษาวิจัยซอฟต์แวร์ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เห็นผลสำเร็จในระยะสั้น หากปล่อยให้มหาวิทยาลัย บริษัท หรือองค์กรต่างๆ ลงทุนดำเนินการด้านนี้เองจะต้องรอเห็นผลในระยะยาวประมาณ 5 ปี ซึ่งอาจจะไม่ทันเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“หากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนวิจัยซอต์แวร์ที่เห็นว่ามีความสำคัญเช่นเกี่ยวกับซอฟต์แวร์การเกษตร ก็จะสามารถช่วยกระตุ้นให้เห็นผลในระยะสั้นแต่หากปล่อยให้สถาบันการศึกษา บริษัท หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการก็จะเห็นผลในระยะยาวซึ่งไม่ทันสถานการณ์”นายมนู กล่าว
Company Related Links :
ATCI