xs
xsm
sm
md
lg

เอชพีชี้อีก3ปีความเสี่ยงด้านไอทีเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอชพีเผยผลการสำรวจความคิดเห็นคนในวงการไอที จาก 20 ประเทศทั่วโลก ชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องระหว่างความเสี่ยงทางไอทีกับความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เผย 80% ของบริษัทในเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่าความเสี่ยงทางด้านไอทีจะเพิ่มขึ้นในอีก 3 ปี พร้อมแนะโซลูชันซอฟต์แวร์ช่วยแก้ปัญหาให้ธุรกิจ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายองค์กร

จากการศึกษาของ Economist Intelligence Unit (EIU) ในนามของเอชพี ที่สำรวจความคิดเห็นของผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการไอทีในทวีปอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียแปซิฟิก ถึงต้นเหตุที่สำคัญที่สุดของความเสี่ยงทางไอทีว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบที่ซับซ้อนมากขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์หรือองค์รวมของธุรกิจ ส่งผลให้ด้านไอทีขององค์กรต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย นอกจากนี้ ยังมาจากการเพิ่มขึ้นของการถูกโจมตีด้านความปลอดภัยจากแฮกเกอร์ซึ่งมีจำนวนมากยิ่งขึ้น

สุทัศน์ วงศ์วิเศษกุล ผู้อำนวยการฝ่ายขาย หน่วยธุรกิจเอชพีซอฟต์แวร์ กลุ่มธุรกิจ เทคโนโลยี โซลูชันส์ กรุ๊ป บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) หรือเอชพี กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านไอทีและความเสี่ยงด้านธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก การที่ไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ทางไอทีเท่ากับการไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ทางธุรกิจ บริษัทที่สามารถจัดการกับประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดีจะได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างชัดเจน

จากผลการสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลง ความซับซ้อน และการรักษาความปลอดภัยเป็น 3 สิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงทางไอทีมากที่สุด  ร้อยละ 39 ของผู้ที่ถูกสอบถามกล่าวว่า การจัดการความเสี่ยงระดับองค์กรธุรกิจของบริษัทของพวกเขาเป็นไปควบคู่กับการจัดการความเสี่ยงด้านไอที  ร้อยละ 57 ของผู้ที่ถูกสอบถามตรวจสอบความอ่อนแอของระบบความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน โดยใช้คนปฏิบัติ เพียงร้อยละ 24 ของผู้ที่ถูกสอบถามมองว่า กระบวนการด้านความปลอดภัยของแอปพลิเคชันของพวกเขามีความสมบูรณ์พร้อม ด้วยการมีนโยบายอย่างชัดเจนพร้อมด้วยเครื่องมือที่พร้อมใช้งาน เพื่อจัดการกับเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างจนถึงการตรวจสอบคุณภาพและการดำเนินงาน โดยพบว่า IT Infrastructure Library (ITIL), Six Sigma และ ISO 20000 เป็นกรอบการทำงานที่ใช้กันมากที่สุดในการทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐาน

ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่ถูกสำรวจกล่าวว่า การทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานทำให้สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ขององค์กรด้านไอทีได้มากขึ้น  ร้อยละ 37 ของผู้ที่ถูกสำรวจกล่าวว่า การทำให้การจัดการความเปลี่ยนแปลงทางไอทีเป็นไปอย่างอัตโนมัติทำให้สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้มากขึ้น ร้อยละ 43 ของผู้ที่ถูกสำรวจเห็นด้วยว่า การทำให้การทำงานของระบบไอทีเป็นไปอย่างอัตโนมัติช่วยลดระยะเวลาและงบประมาณในการสร้างนวัตกรรมใหม่

ในส่วนของเอชพีซอฟต์แวร์มุ่งให้ช่วยลูกค้าลดความเสี่ยงจากดาวน์ไทม์ของบริการทางธุรกิจ ด้วยโซลูชันที่สามารถช่วยลูกค้าจัดการและทำให้การดำเนินงานด้านไอทีอย่างอัตโนมัติ ข้อมูลสำคัญๆ ที่ได้จากการศึกษาของ Economist Intelligence Unit ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าความขัดข้องของบริการทางธุรกิจส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางไอที การทำให้กระบวนการต่างๆ ทางไอทีทำงานได้อย่างอัตโนมัติทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถคาดการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านั้นได้มากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ

โซลูชันซอฟต์แวร์ของเอชพีให้ความสำคัญกับ3ส่วนคือ Business Technology Optimization (BTO) โซลูชัน HP Software BTO ช่วยให้องค์กรธุรกิจมั่นใจได้ว่าจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี ทุกแอปพลิเคชันหรือบริการในการนำมาใช้งานหรือการผลิต จะให้ผลตอบแทนเหนือกว่าเป้าหมายทางธุรกิจเดิมที่กำหนดไว้ โดยพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์ BTO ของเอชพีซอฟต์แวร์ ประกอบด้วยความแข็งแกร่งจากโซลูชัน HP OpenView, Peregrine, Mercury และ Opsware ที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านไอที เชื่อมต่อการทำงานด้านไอที ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผน รวมทั้งช่วยให้ฟังก์ชันการทำงานสำคัญด้านไอทีสามารถทำได้โดยอัตโนมัติตามกลยุทธ์ แอปพลิเคชัน และการปฏิบัติการ

ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของ Business Information Optimization (BIO) : โซลูชัน HP Software BIO ที่มุ่งให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาลภายในองค์กร ทั้งที่เป็นข้อมูลแบบที่มีโครงสร้าง และข้อมูลแบบที่ไม่มีการจัดโครงสร้าง (structured and unstructured information) เช่น ระดับสินค้าคงคลังและอีเมลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และลดความเสี่ยงทางธุรกิจ  โดยพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์ BIO ของเอชพีซอฟต์แวร์ ครอบคลุมถึงซอฟต์แวร์ระบบธุรกิจอัจฉริยะ (business intelligence: BI) และซอฟต์แวร์บริหารจัดการข้อมูล (information management software)  รวมทั้งโซลูชันครบวงจรที่ประกอบด้วย ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการต่างๆ ของเอชพี

ขณะที่ส่วนที่ 3 เป็นเรื่องของ HP OpenCall: โซลูชัน HP OpenCall มุ่งสำหรับการใช้งานของผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมและสื่อสารมวลชน ภาคการผลิต และบริษัทที่ให้บริการด้านการเงิน มุ่งช่วยเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรเป็นหลัก

ผู้บริหารเอชพีกล่าวว่า จุดแข็งของเอชพีอยู่ที่การมีโปรดักต์ที่ครอบคลุมทั้ง 3 ส่วนคือ  STRATEGY , APPLICATIONS และCPERATIONS ที่มีรายละเอียดของแต่ละส่วนอย่างชัดเจนขณะที่คู่แข่งไม่ครอบคลุมเหมือนเอชพี  ผู้ใช้จะสามารถจัดลำดับความสำคัญของโปรเจกต์ที่เข้ามาได้ว่าควรทำโปรเจกต์ไหนก่อนและโปรเจกต์ไหนทำในลำดับต่อมาได้ โดยคำณวนได้จากความคุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้จาก 3 โซลูชันเอชพีคาดว่า BTO  จะได้รับความนิยมใช้งานมากที่สุดในเมืองไทย รวมทั้งมองภาพรวมเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบันว่าไม่ว่าเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาดซอฟต์แวร์ของเอชพี

Company Related Links :
HP
กำลังโหลดความคิดเห็น