xs
xsm
sm
md
lg

สามารถเทลคอมควงกฟภ.ทดสอบไวแมกซ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สามารถเทลคอมจูงมือกฟภ.ทดสอบและพัฒนาไวแมกซ์ร่วมกันบนเคเบิลใยแก้วนำแสง เผยอนาคตเกี่ยวดองเป็นพันธมิตรทำตลาดเชิงพาณิชย์เล็งเจาะลูกค้านิคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานรัฐในชนบท พร้อมลงทุนทันทีต้นทุนหนึ่งสถานีฐานไม่เกิน 10 ล้านบาท และสามารถให้บริการภายใน 1 เดือนหลังจากกทช.ออกไลเซนส์

นายไพโรจน์ วโรภาษ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถเทลคอม กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมมือกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทดสอบการให้บริการเครือข่ายสื่อสารความเร็วสูง ด้วยเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายในรูปแบบไวแมกซ์ (WiMAX) บนเครือข่ายสื่อสารเคเบิลใยแก้วนำแสง ที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เป็นรายแรก โดยได้ผ่านการทดสอบจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 51 และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท อัลวารอน จำกัด ( Alvarion Ltd.) จากประเทศอิสราเอล ผู้ผลิตอุปกรณ์ บรอดแบนด์ไร้สายมีประสบการณ์กว่า 15 ปี มียอดขายระบบสื่อสารไวแมกซ์ แบบ Fixed Access เป็นอันดับหนึ่งของโลก

ทั้งนี้ในเบื้องต้น เป็นการทำข้อตกลงเพื่อทดสอบและพัฒนาการให้บริการไวแมกซ์ร่วมกันซึ่งในอนาคตพร้อมเป็นพันธมิตรทางธุกิจและกลยุทธ์ให้บริการไวแมกซ์ โดยที่ผ่านมา สามารถเทลคอม และกฟภ.เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง

“เราได้ทำการทดสอบความสามารถของเทคโนโลยี ที่คลื่นความถี่ 2.5 GHz ใช้งานแบบจุดต่อจุด และแบบจุดต่อหลายจุด เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายใยแก้วนำแสง ของทางกฟภ. ในสภาพแวดล้อมจริง โดยทดสอบการใช้งาน ในด้านการสื่อสารข้อมูล ภาพ และเสียง ในแบบไร้สาย รวมเรียกว่าแบบ Quad Play โดยที่สามารถเทลคอมซึ่งมีประสบการณ์ และความชำนาญอยู่แล้ว ทางด้านการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในพื้นที่ชนบท เช่น โครงการโทรศัพท์ทางไกลชนบท โครงการอินเทอร์เน็ตตำบล บริการอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์ระหว่างประเทศ  VOIP - SAMART WIP รวมถึงความพร้อมให้บริการ ซอฟต์แวร์โปรแกรม และ ข้อมูล คอนเทนต์ต่างๆ ตลอดจนระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ e-Learning”

สามารถเทลคอมมีแผนให้บริการไวแมกซ์แก่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการบริการสื่อสารความเร็วสูง สำหรับการทำธุรกิจ ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีไวแมกซ์มีความเร็วในการให้บริการที่ค่อนข้างสูง และยังมีจุดเด่นเทียบเคียงการสื่อสารทางสายได้เป็นอย่างดี และกลุ่มหน่วยงานราชการในต่างจังหวัดห่างไกล ซึ่งไวแมกซ์จะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้ควบคู่หรือใช้เป็นระบบสำรองเทคโนโลยีดาวเทียมที่บริษัทให้บริการในพื้นที่ห่างไกล เช่น อินเทอร์เน็ต โรงเรียน อินเทอร์เน็ตตำบล ได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทจะไม่เน้นการลงทุนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพราะเชื่อว่าจะมีการแข่งขันสูงมาก

นายประสิทธิ์ชัย วีระยุทธวิไล  ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ  สายธุรกิจบริการเครือข่ายสื่อสาร สามารถเทลคอม กล่าวว่า หากกทช.สามารถออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการได้ สามารถเทลคอมจะเป็นผู้ยื่นขอใบอนุญาตประเภทที่สามารถเลือกพื้นที่ให้บริการได้ ซึ่งบริษัทเห็นว่า กทช.ควรจะออกใบอนุญาตเป็น 3 ประเภท คือใบอนุญาตให้บริการทั่วประเทศ ใบอนุญาตให้บริการเฉพาะภูมิภาค ใบอนุญาตให้บริการเฉพาะท้องถิ่นห่างไกล และค่าใบอนุญาตไม่ควรมีค่าความถี่หรือค่าธรรมเนียมใบอนุญาติที่สูงเกินไปเพราะต้นทุนส่วนนี้จะถูกผลักไปยังผู้บริโภค โดยเบื้องต้นคาดว่าค่าบริการไวแมกซ์จะมีค่าบริการใกล้เคียงกับค่าบริการอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากกทช.ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ สามารถเทลคอม พร้อมที่จะลงทุนให้บริการไวแมกซ์ได้ภายใน 1 เดือน ส่วนการลงทุนนั้นมีความพร้อมในการลงทุนอยู่แล้วเนื่องจากต้นทุนอุปกรณ์ไม่สูงมากนัก เพราะต้นทุนสถานีฐานขนาดเล็ก อยู่ในราคา 5 ล้านบาท ส่วนสถานีฐานขนาดใหญ่มีต้นทุน 10 ล้านบาท

นายผาสุก หลงสมบุญ รองผู้ว่าการธุรกิจสารสนเทศและการสื่อสาร กฟภ. กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้เพื่อเป็นการนำทรัพยากรเคเบิลใยแก้วนำแสงที่มีอยู่ 1.8 หมื่นกิโลเมตรทั่วประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และกฟภ. เล็งเห็นว่า ไวแมกซ์ สามารถช่วยระบบสื่อสารภายในของกฟภ.เองในพื้นที่ห่างไกลที่ระบบสื่อสารมีสายยังเข้าไม่ถึง

"จากความสำเร็จในการทดสอบครั้งนี้ คาดว่าในอนาคต กฟภ.จะสามารถนำประโยชน์จากระบบสื่อสารไวแมกซ์ ไปพัฒนาเสริมสร้างระบบการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐาน เช่น การสื่อสารข้อมูล  การประชุมทางไกล  อินเทอร์เน็ต  โทรศัพท์  ได้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลอย่างทั่วถึง ช่วยให้ คนไทยสามารถใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมได้อย่างเท่าเทียม"

Company Related Links :
Samart
กำลังโหลดความคิดเห็น