xs
xsm
sm
md
lg

มรดกล้านนาได้ฤกษ์ออนไลน์ มช.ย้ำชัด"ไม่ใช่แค่สแกน"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อาจารย์ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ที่ปรึกษาโครงการ Digitisation Initiative for Traditional Manuscripts of Northern Thailand หรือโครงการแปลงข้อมูลเอกสารโบราณภาคเหนือให้เป็นข้อมูลดิจิตอลของสำนักหอสมุดมช.
ทันที่มีข่าวว่าสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเงินสนับสนุนโครงการ EMC Heritage Trust ซึ่งอีเอ็มซี บริษัทจำหน่ายโซลูชันด้านการเก็บข้อมูลตั้งขึ้นเพื่อให้เงินทุนแก่องค์กรนำไปใช้ในการเก็บรักษามรดกข้อมูลมนุษยชาติ หลายคนอาจคิดว่าผลผลิตจากโครงการนี้อาจเป็นเพียงเว็บไซต์หนึ่งที่มีภาพสแกนเอกสารโบราณเช่น สมุดข่อย ใบลาน หรือพับสาสมัยล้านนาโพสต์ไว้จำนวนมากๆเท่านั้น

แต่สำนักหอสมุดมช.ยืนยันว่าไม่ใช่

อาจารย์ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ที่ปรึกษาโครงการย้ำชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่การสแกนหนังสือโบราณธรรมดาๆ แต่ประเด็นหลักอยู่ที่การบูรณาการความรู้ ผู้อ่านควรได้รับข้อมูลที่มาของเอกสารโบราณนั้นๆให้มากที่สุดจึงจะตรงกับแนวคิดอนุรักษ์ บนความหวังว่า โครงการนี้อาจทำให้มช.และประเทศไทยกลายเป็น"ฮับ"ของการอนุรักษ์มรดกโลกแบบดิจิตอลของภูมิภาคได้

"ถ้าเราทำได้ เราก็จะเป็นผู้รู้ เป็นศูนย์ในภูมิภาคให้คำปรึกษาองค์กรอื่นๆในการอนุรักษ์ ถ้ามีอุปกรณ์เราก็รับมาทำได้ เอกสารใบลานในอินเดียก็มี" อาจารย์ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ที่ปรึกษาโครงการ Digitisation Initiative for Traditional Manuscripts of Northern Thailand หรือโครงการแปลงข้อมูลเอกสารโบราณภาคเหนือให้เป็นข้อมูลดิจิตอลของสำนักหอสมุดมช.กล่าว

"สมุดข่อยออนไลน์"หาง่าย-ปลวกไม่ขึ้น

อาจารย์ม.ร.ว.รุจยาเล่าว่าการอนุรักษ์เอกสารโบราณล้านนานั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เอกสารโบราณส่วนใหญ่ถูกเก็บรักษาในวัด หลายส่วนกระจัดกระจายและถูกแมลงกัดกินเสียหาย ครั้งนั้นมช.ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน เริ่มจัดทำบัญชีรายการเอกสารโบราณตามวัด แยกตามหมวดหมู่ และเลือกเอกสารสำคัญบางส่วนขึ้นมาถ่ายไมโครฟิลม์ ซึ่งเป็นมาตรฐานการเก็บรักษาเอกสารต้นฉบับที่องค์กรอนุรักษ์นานาชาติเลือกใช้ ไมโครฟิลม์เหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่สำนักส่งเสริมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

"วัดเป็นขุมทรัพย์ของประเทศชาติ แต่กลับถูกปล่อยปละละเลยมานาน จริงๆก็เป็นหน้าที่ของทุกคน ของรัฐบาล แต่ก็ยังไม่มีใครทำอะไร เราเป็นเพียงเสียงเดียวเท่านั้น แต่ก็จะทำ" อาจารย์ม.ร.ว.รุจยายกตัวอย่างว่าข้อมูลเอกสารโบราณภาษาขอมในภาคใต้นั้นไม่มีการอนุรักษ์เลย

มีแค่แนวคิดผลงานไม่เกิด การจุดพลุโครงการนี้จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อสำนักหอสมุดมช.ได้รับทุนจากโครงการ EMC Heritage Trust ซึ่งอาจารย์เพ็ญสุวรรณ นาคะปรีชา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดมช. เล่าว่าเป็นความโชคดีจากการบังเอิญพบโฆษณาเชิญชวนให้ร่วมขอทุนในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง สำนักหอสมุดจึงส่งใบสมัครไปที่บริษัทอีเอ็มซีสำนักงานใหญ่โดยตรง ผลคือสำนักหอสมุดมช.เป็นหนึ่งในเจ็ดองค์กรที่ได้รับทุนมูลค่า 12,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 380,000 บาท

โครงการแปลงเอกสารโบราณล้านนาเป็นข้อมูลดิจิตอลจึงเกิดขึ้นเพื่อต่อยอดการอนุรักษ์ที่ได้ดำเนินการไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยมช.จะนำต้นฉบับไมโครฟิลม์เอกสารโบราณ 350 ม้วนที่มีอยู่มาทำให้เป็นภาพดิจิตอล และนำเอกสารโบราณอื่นๆที่หอสมุดเก็บรักษาไว้อีก 1,160 เรื่องมาถ่ายไมโครฟิลม์และทำเป็นภาพดิจิตอลเพิ่มเติม จากนั้นจะสรุปความเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และนำชื่อบัญชีเอกสารโบราณที่มีอยู่เดิมมาลงเป็นฐานข้อมูล ทำให้สามารถสืบค้นข้อมูลได้ เผยแพร่พร้อมข้อมูลประกอบครบถ้วนตามมาตรฐานบัตรรายการสากลของเอกสารโบราณ Dublin Core

"เราจะทำให้พิถีพิถันหน่อย คาดว่าจะใช้เวลาเกิน 1 ปี เราจะบูรณาการให้ดี การเอาเอกสารขึ้นจอมันไม่ยาก แต่ยากที่การทำให้คนได้รับความรู้ เราเป็นมหาวิทยาลัย ต้องขยายองค์ความรู้นอกเหนือเอกสารด้วย ไม่ใช่แค่ถ่ายๆ แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ที่สำคัญเรายังไม่มีผู้รู้ภาษาล้านนามากพอ"

สำนักหอสมุดมช.ยอมรับว่าเงินทุนที่ได้รับนั้นยังอยู่ในระดับน้อยมาก แต่เชื่อว่าจะเป็นการจุดประกายให้ทุกฝ่ายมองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกชาติในรูปแบบดิจิตอล โดยเอกสารสมัครขอทุนระบุว่า เงินทุนที่ได้รับจะถูกใช้ในสามส่วน หนึ่งคือการสร้างและอบรมบุคลากร สองคือการจัดซื้อเครื่องสแกนสำหรับการแปลงไฟล์ และสามคือการจัดซื้อคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์แบบตู้แรค (rack) สำหรับให้บริการข้อมูลดิจิตอลมรดกชาติบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องใช้เงินมากที่สุด

คอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์แบบตู้แรคนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้บริการข้อมูลแบบมหาศาลหรือ MetaData บนอินเทอร์เน็ต เป็นฮาร์ดแวร์ราคาแพงที่องค์กรมากมายต้องเสียเงินลงทุนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถค้นหาข้อมูลมหาศาลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เช่น องค์กรด้านการเงิน หรือองค์กรด้านโทรคมนาคม ที่สำคัญ คอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์แบบตู้แรคนั้นเป็นหนึ่งในสินค้าหลักที่อีเอ็มซีวางจำหน่าย

ยืนยันไม่ใช่อัฐยายซื้อขนมยาย

นายธาดา เศวตศิลา ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชัน ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันว่าการให้ทุนโครงการ EMC Heritage Trust ไม่เข้าข่ายอัฐยายซื้อขนมยายแน่นอน เพราะอีเอ็มซีระบุชัดเจนว่าผู้ขอทุนไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าจากอีเอ็มซี หรือเป็นลูกค้าของอีเอ็มซีมาก่อน ที่สำคัญ อีเอ็มซีมองว่าสิ่งที่ทำจะเป็นผลดีต่อมนุษย์ชาติ โดยเรื่องการค้าเป็นเรื่องที่ต้องแยกพิจารณา

"เรื่องคอมเมิร์ชต้องแยกพิจารณา โครงการนี้โปร่งใสมาก อีเอ็มซีตัดสินให้ทุนโดยไม่สนใจว่าเป็นลูกค้าอีเอ็มซีหรือไม่ แค่ดูว่าเป็นมรดกโลกไหม ถ้าเป็นก็ให้ ส่วนตัวเชื่อว่าจุดประสงค์ของอีเอ็มซีคือการจุดประกาย ไม่ใช่การทำทั้งหมด เชื่อว่าจะทำให้มีอีกหลายโครงการเกิดขึ้นในประเทศไทย ผมดีใจที่ได้เป็นส่วนผลักดันให้เกิดการเก็บข้อมูลชาติไทย อีเอ็มซีประเทศไทยยินดีให้คำปรึกษาและช่วยทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นอีกที่ลำพูน"

นายธาดายืนยันว่าอีเอ็มซีจะผลักดันเรื่องนี้คนเดียวไม่ได้ และโครงการจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากขึ้นหากมีการวิจัยเพิ่มเติม ทั้งด้านศาสนา อักษรศาสตร์ และด้านการท่องเที่ยว

อีเอ็มซีนั้นประชาสัมพันธ์โครงการ EMC Heritage Trust มาตั้งแต่ปีที่แล้ว มูลค่าเงินสนับสนุนโครงการ 1 แสนเหรียญสหรัฐ โดยมช.เป็นหนึ่งใน 325 ใบสมัครจาก 34 ประเทศ นอกจากมช. ยังมีอีก 6 โครงการที่ได้รับทุนได้แก่ ห้องสมุดดนตรีของวงออเครสตร้า เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ฟิลฮาร์โมนิก ในรัสเซีย, โครงการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ My Days ของนอร์เวย์, ศูนย์การศึกษาเพื่อสันติภาพ CsPR มหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ ประเทศญี่ปุ่น, ห้องสมุด Villa Ocampo ของวิคตอเรีย โอคัมโปในอาร์เจนติน่า, สมาคมวัฒนธรรม U'mista ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี และพิพิทธภัณฑ์ Edgar Allan Poe ในเมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย แน่นอนว่าเงินทุนของอีเอ็มซีจะช่วยให้พิพิทธภัณฑ์และหอสมุดเหล่านี้สามารถเผยแพร่เอกสารหายากแก่คนทั่วโลก และอนุรักษ์ไว้ให้แก่ชนรุ่นหลัง

เทคโนฯไม่ใช่ทางออกเดียว

อาจารย์ม.ร.ว.รุจยากล่าวว่าเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่ทางออกเดียวของการอนุรักษ์ อธิบายว่าการ"ดิจิไทซ์"หรือการทำให้เอกสารโบราณกลายเป็นข้อมูลดิจิตอลนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์เท่านั้น ยอมรับว่าในทางอนุรักษ์นั้นยังมองว่าการดิจิไทซ์นั้นไม่มั่นคงหรือไม่เสถียรเท่าที่ควร แต่มีจุดเด่นที่ความสามารถชั้นเยี่ยมในการเผยแพร่

"การดิจิไทซ์อาจเกิดความผิดพลาดทำให้ข้อมูลหาย ระบบล่ม ที่สำคัญต้องใช้เครื่องในการอ่าน ถ้าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงก็อาจทำให้ข้อมูลใช้งานไม่ได้" อาจารย์ม.ร.ว.รุจยายกตัวอย่างคอมพิวเตอร์ปัจจุบันที่ไม่มีช่องอ่านแผ่น FloppyDisc ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว "แต่ดิจิไทซ์ดีที่สุดเรื่องการเข้าถึง"

อาจารย์ม.ร.ว.รุจยาระบุว่าสิ่งสำคัญในการอนุรักษ์คือจะต้องเก็บรักษาเอกสารต้นฉบับให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รองลงมาคือการเก็บในรูปไมโครฟิลม์ ถือว่าเป็นการเก็บที่มั่นคงที่สุดเพราะเทคโนโลยีไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ต้องใช้เครื่องอ่านก็ได้เพราะส่องไฟก็มองเห็น เก็บได้หลายร้อยปี อย่างสุดท้ายจึงจะเป็นการเก็บในรูปแบบดิจิตอล

"จริงๆแล้วไม่มีเทคโนโลยีก็เก็บได้ ต้นฉบับโบราณไม่บุบสลาย มันไม่ใช่กระดาษจึงไม่มีกรด แต่ต้องดูแลไม่ให้ปลวกและแมลงมากิน เอกสารโบราณที่เก่าแก่ที่สุดของไทยมีอายุประมาณ 500 ปี เป็นใบลานที่ลำปาง ยังอยู่ได้"

อาจารย์ม.ร.ว.รุจยา อาภากร นั้นจบการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอกในสาขาประวัติศาสตร์ เริ่มต้นงานอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีตำแหน่งเป็นกรรมการในโครงการมากมายขององค์การยูเนสโก แผนงานความทรงจำแห่งโลกหรือ Memory of the World-UNESCO อาจารย์ระบุว่าไม่เคยท้อที่งานอนุรักษ์ของประเทศไทยยังดำเนินไปได้ไม่เต็มที่

"ผมไม่ท้อ แต่ต้องปลงว่าไม่ค่อยมีคนทำ คนส่วนใหญ่ปล่อยไปตามยถากรรม โครงการนี้อาจจะเป็นของแปลกสำหรับฝรั่ง แต่อาจจะเป็นความภูมิใจให้กับคนไทยทุกคน โดยเฉพาะคนไทยนอกประเทศ"

โครงการนี้จะเผยแพร่ข้อมูลเอกสารล้านนาออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://library.cmu.ac.th โดยขณะนี้เว็บไซต์ดังกล่าวเริ่มต้นเผยแพร่เอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาล้านนาแล้ว ประเดิมด้วยการให้ความรู้การทำอาหารพื้นบ้านล้านนาผ่านเว็บไซต์ มีการแสดงสูตรอาหาร วิธีทำแบบภาพนิ่งและแบบวีดีโอ สามารถชมจาก http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood ได้โดยตรง

Related Links :
สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เจ้าหน้าที่หอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับเอกสารโบราณที่ถูกเก็บรักษาในตู้ภายในห้องสมุด
อาจารย์เพ็ญสุวรรณ นาคะปรีชา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดมช.ขณะรับมอบเงินสนับสนุนโครงการ EMC Heritage Trust จากนายธาดา เศวตศิลา ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชัน ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ตัวอย่างเอกสารโบราณสมัยล้านนาที่กำลังจะกลายเป็นสมุดโบราณออนไลน์ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น