xs
xsm
sm
md
lg

"เน็ตเบย์"ปลุกตลาดอี-เพย์เมนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ : นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตเบย์ ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านอี-บิสซิเนสครบวงจร
เน็ตเบย์เชื่ออี-เพย์เมนต์อนาคตโตสูง มั่นใจหากแจ้งเกิดเต็มตัวจะช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา ส่วนนโยบายปีนี้ส่งทีมงานรุกตลาดอี-บิสซิเนสมากขึ้น ตั้งเป้ารายได้ 300 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาทำได้ 200 ล้านบาท

นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตเบย์ ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านอี-บิสซิเนสครบวงจร กล่าวว่า ขณะนี้การทำธุรกิจออนไลน์ตัวที่น่าจะมีอนาคตและมีแนวโน้มโตสูงคือการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ หรืออี-เพย์เมนต์ เกี่ยวกับศุลกากร และขณะนี้ทางกรมศุลกากรได้มีการนำไปใช้เชื่อมต่อกับธนาคารต่างๆ แล้ว โดยเลิกใช้ระบบเก่าที่เรียกว่าไฟแนนซ์อีดีไอ หรือเอฟอีดีไอ

บริการดังกล่าวมีอัตราการโตถึง 100% ทุกเดือน หลังจากเริ่มใช้เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความสะดวกสบาย และลดต้นทุนในการดำเนินงานด้านระบบการขนส่งหรือลอจิสติกส์ได้ เพราะขณะนี้มีใบขนประมาณ 5 แสนใบต่อเดือน หรือตกปีละ 6 ล้านใบ หากมีการใช้ผ่านระบบอี-เพย์เมนต์สามารถลดต้นทุนอย่างมหาศาล และประหยัดเวลาได้มาก ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปเพื่อให้เมสเซนเจอร์นำใบไปวาง

ส่วนวิธีการชำระผู้ประกอบการเพียงใส่รายละเอียดใบขนผ่านระบบออนไลน์ก็สามารถชำระภาษีศุลกากรได้สะดวกรวดเร็ว เพียงระบุว่าให้ตัดยอดเงินจากบัญชีอะไร ธนาคารไหนเท่านั้น

"การที่จะทำให้ตรงนี้เกิดผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองก่อน ถ้าใช้ระบบนี้แล้วกลัวเรื่องความปลอดภัยก็ลองศึกษาก่อนใช้ เพราะการทำอี-เพย์เมนต์หากเกิดการผิดพลาดก็สามารถไล่เบี้ยกันได้ เนื่องจากมีหลักฐานอยู่แล้ว ทำให้เงินไม่สูญหาย ต่างจากการทำอี-คอมเมิร์ซที่ทำธุรกรรมจากนายกอไปขายขอไปนายคอ เมื่อเกิดข้อพลาดนายขอหรือนายคอไม่คืนเงินก็มีโอกาสเป็นไปได้"

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวทางกรมศุลกากรก็มีการจัดสัมมนา เพื่อให้ความรู้ผู้ใช้บริการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับระบบอี-เพย์เมนต์ เน็ตเบย์เป็นผู้บริหารจัดการเรื่องของเกตเวย์ที่เชื่อมต่อระหว่างระบบจากธนาคารกับระบบของกรมศุลกากร โดยคิดค่าบริการจากการทำธุรกรรมประมาณ 30-35 บาทต่อใบขน ทั้งนี้ จากค่าบริการดังกล่าวทางเน็ตเบย์จะแบ่งกับธนาคารที่ทำธุรกรรมผ่านช่องทางนี้ ส่วนจะเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่มีการเจรจากับแต่ละธนาคาร

นอกจากนี้ เน็ตเบย์ยังมีแผนจะติดตั้งระบบเกตเวย์ของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบของกรมศุลกากรอีกประมาณ 5-7 แห่ง เช่น บีโอไอ, กรมพลังงาน, กรมการต่างประเทศ เป็นต้น โดยเน็ตเบย์จะติดตั้งระบบให้ฟรี เนื่องจากได้เครดิตจากซัปพลายเออร์ต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าของอุปกรณ์ประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนรายได้ที่เน็ตเบย์จะได้คือค่าการทำธุรกรรมครั้งละประมาณ 10 บาท ขณะที่ซัปพลายเออร์นอกจากจะได้ค่าอุปกรณ์
ที่ทางเน็ตเบย์ทยอยจ่ายให้แล้ว ยังจะได้ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์สินค้าด้วย เพราะถ้าระบบดังกล่าวแจ้งเกิดเต็มตัว จะทำให้การขายอุปกรณ์ด้านอี-เพย์เมนต์ได้ง่ายขึ้น

นอกจากการกระตุ้นการทำอี-เพย์เมนต์แล้ว เน็ตเบย์ยังมีการให้บริการติดตั้งซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันให้แก่ลูกค้าที่สนใจจะทำระบบออนไลน์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า โดยมีราคาโซลูชันตั้งแต่หลักล้านบาทถึง 20 ล้านบาท ส่วนการทำตลาดจะมีทีมงานเข้าไปนำเสนอให้แก่ลูกค้าเป็นหลัก

ด้านรายได้ในรอบปีนี้ผู้บริการเน็ตเบย์ตั้งเป้ารวมระหว่างเน็ตเบย์กับซอฟต์แวร์ลิ้งก์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันไว้ที่ 300 ล้านบาท จากปีนี้ผ่านมาทำได้ 200 ล้านบาท โดยรายได้หลักยังมาจากซอฟต์แวร์ลิ้งก์ประมาณ 100 กว่าล้านบาท

Company Related Links :
Netbay
กำลังโหลดความคิดเห็น