"เอไอเอส" มึนตึ้บ ฮัทช์ฟ้องศาลหาว่าบล็อกสัญญาณ ‘ป๋าวิเชียร’ แจงถ้าบล็อกสัญญาณจริง ทำไมปริมาณทราฟิกฮัทช์พุ่งกระฉูดถึง 7 ล้านนาทีต่อวัน จับเข่ากสทแก้ปัญหา ด้วยการต่อเชื่อมโดยตรง แต่ฮัทช์ต้องเข้าสู่การคิดค่าเชื่อมโครงข่าย (ไอซี) เหมือนค่ายมือถือรายอื่น ด้านสถาบันคุ้มครองผู้บริโภค กทช.นัดฮัทช์ เอไอเอส เคลียร์ปัญหาที่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน
นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสหรือเอไอเอส กล่าวว่า วานนี้ (3 มี.ค.) เอไอเอสได้เข้าหารือร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม กรณีการโทร.ข้ามโครงข่ายระหว่างฮัทช์กับเอไอเอสมีปริมาณการโทร.สำเร็จต่ำ ว่าไม่ได้เกิดจากการบล็อกสัญญาณ แต่เกิดจากปริมาณการโทร.จากฮัทช์มายังโครงข่ายเอไอเอส จำนวนมหาศาลอยู่ที่วันละ 7 ล้านนาที หรือ 183 ล้านนาทีต่อเดือน ซึ่งหากมีการบล็อกสัญญาณเกิดขึ้นจริงปริมาณทราฟิกจะต้องมีปริมาณต่ำลงไม่ใช่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมหาศาลอย่างเช่นปัจจุบัน
“การหารือวันนี้เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยเอไอเอสเข้าชี้แจงกรณีการโทร.ข้ามเครือข่ายจากฮัทช์มายังเอไอเอสเป็นไปได้ยากเป็นเพราะปริมาณการโทร.ของลูกค้าฮัทช์เพิ่มขึ้นมหาศาลเนื่องจากโปรโมชั่นราคาถูกของฮัทช์ และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะการบล็อกสัญญาณ”นายวิเชียรกล่าว
อย่างไรก็ดี การเจรจาครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าเอไอเอส และกสท จะมีการเชื่อมต่อโครงข่ายโดยตรงหากัน ซึ่งเดิมกสทจะเชื่อมต่อโครงข่ายฮัทช์ผ่าน บริษัท ทีโอที ก่อนจะเชื่อมต่อมายังเอไอเอส ซึ่งการเชื่อมต่อผ่านทีโอที ทำให้การควบคุมทราฟิกระหว่างกันดำเนินการได้ยาก โดยหลังจากนี้ฝ่ายเทคนิคของทั้งสองจะไปดำเนินการเชื่อมต่อโครงข่ายโดยตรงระหว่างกัน
ทั้งนี้ การตกลงเชื่อมต่อตรงระหว่างกันเท่ากับว่าหลังจากนี้ ฮัทช์จะต้องเซ็นใช้ระบบการคิดค่าเชื่อมโครงข่าย (อินเตอร์คอนเน็คชันชาร์จหรือไอซี) กับ เอไอเอส โดย กสท ยืนยันค่าไอซีที่นาทีละ 0.21 บาท และเอไอเอสยืนยันเสนอที่นาทีละ 1 บาท ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นไม่ต้องกัน จึงต้องรอให้กทช.เป็นผู้ตัดสินตัวเลขไอซีสุดท้าย
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ สบท. เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาว่าบอร์ดมีมติให้สบท. ดำเนินงานประสานกับสถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม(สชท.) เรียกผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 ราย เข้ามาชี้แจงปัญหาที่เกิดจากการผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์ เลส มัลติมีเดีย หรือฮัทช์จำนวน 7,000 รายไม่สามารถโทรเข้าไปยังโครงข่ายของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสหรือเอไอเอส
ทั้งนี้ สบท.จะเรียกฮัทช์เข้ามาชี้แจงกรณีดังกล่าวประมาณวันที่ 4 เม.ย.51 ส่วน เอไอเอสจะเข้ามาให้ข้อมูลประมาณวันที่ 8 เม.ย.51 สำหรับข้อมูลที่ได้จากผู้ประกอบการทั้ง 2 รายภายหลังจากที่มีการชี้แจงแล้วจะมีการสรุป เพื่อนำเสนอบอร์ดพิจารณาต่อไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงจะต้องมีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ สบท.ยังได้มีการยื่นหนังสือที่ HCWML.LG 0176/2008 ลงวันที่ 24มี.ค.51 มาที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) โดยให้เหตุผลว่าตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.51 จนถึงปัจจุบันผู้ใช้บริการของฮัทช์ไม่สามารถโทรศัพท์ไปยังเลขหมายของ เอไอเอส ได้ ซึ่งกทช.คงจะต้องมีการตรวจสอบปริมาณการใช้โครงข่ายและปริมาณวงจรที่มีการโทร.เข้าไปในโครงข่ายของเอเอสไอ พร้อมกับจะต้องขอข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป เนื่องจากประเด็นที่เกิดขึ้นมีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาหลายด้านไม่ว่าจะเทคนิค กฎหมายและรายละเอียดของสัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างโอปอเรเตอร์ด้วย
ด้านฮัทช์ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ศาลแพ่งได้รับคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 51 ที่ผ่านมา และได้มีออกหมายห้ามชั่วคราวห้ามมิให้ เอไอเอสปิดกั้นการเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการฮัทช์และเอไอเอส บริษัทฯ ได้ขอให้ศาลคุ้มครองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการฮัทช์โดยห้ามมิให้มีการปิดกั้นการใช้ ทั้งนี้ การที่ผู้ใช้บริการไม่สามารถโทรออกจากเครือข่ายฮัทช์ไปยังเครือข่าย เอไอเอสได้ นับตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.เป็นต้นมา
โดยผู้ใช้บริการฮัทช์ประสบปัญหาอย่างมาก ไม่สามารถติดต่อ เชื่อมโยงหมายเลขปลายทางในเครือข่ายเอไอเอสได้ ขณะที่การติดต่อเชื่อมโยงไปยังหมายเลข ปลายทางในเครือข่ายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นยังคงเป็นไปตามปกติ นอกจากนี้ การประสานงานเชิงเทคนิคที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะฉะนั้น เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการฮัทช์ บริษัทฯ จึงได้ร้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองดังกล่าว ในวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา
Company Related Links :
Hutch
AIS