ซิป้าร่วมมือ 7 สมาคมซอฟต์แวร์ไทย คลอดแผนแม่บทประจำปี 51ตั้งเป้าล่าฝันสร้างมูลค่าซอฟต์แวร์ไทยขึ้นหลักแสนล้านบาทใน3ปี เดินตามนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก เชื่อรัฐหนุนช่วยให้ไปถึงฝั่งฝันง่ายขึ้น
ดร.นายรุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า เปิดเผยว่า ซิป้าได้ร่วมมือกับ 7สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศ ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) สมาคมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (TSEP) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย(ATSI) สมาคมแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกประเทศไทย(TACGA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เกมไทย(TGA)สมาคมสมองกลฝังตัวไทย(TESA) และสมาคมe-Learning(ELAT) จัดทำแผ่นแม่บทอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทย ประจำปี 2551-2554 โดยมีจุดมุ่งหมายสร้างมูลค่าซอฟต์แวร์ไทยให้ถึง แสนล้านบาทภายในระยะเวลา3 ปี
“จากการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกันระหว่างซิป้ากับสมาคมทั้ง 7 เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่พัทยา จังหวัดชลบุรีได้มีข้อสรุปแผนแม่บทซอฟต์แวร์ไทย ประจำปีนี้โดยเป้าหมายของแผนแม่บทดังกล่าวคือการสร้างมูลค่าซอฟต์แวร์ไทยให้ถึงแสนล้านบาทในเวลา 3 ปี โดยได้วางโครงการที่นำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวหลายโครงการ”นายรุ่งเรืองกล่าว
โดยแผนแม่บทที่ทำร่วมกันประจำปีนี้ประกอบด้วย 1.พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ดิจิตอลคอนเทนต์ 2.ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ 3.สร้างความร่วมมือกับสถานศึกษาและภาคอุตสาหกรรมซอฟแวร์เพื่อผลิตบุคลากร 4.ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางไอซีที ของภูมิภาค 5.พัฒนาศักยภาพการแข่งขันไอทีของไทย และ6.การส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
“อย่างไรก็ดีแผนแม่บทประจำปีนี้ยึดตามหลักนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เล็งเห็นว่าการพัฒนาไอซีทีไทยเป็นกลไกสำคัญนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ความเป็นอยู่ของประเทศไทยได้ โดยนโยบายของภาครัฐ คือเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านบริการความรู้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ การจัดให้มีกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ส่วนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเน้นพัฒนาบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของตลาด และสุดท้ายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภูมิภาคนี้ โดยการที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเช่นนี้จะช่วยให้แผนแม่บทสำเร็จได้ง่ายขึ้น”ดร.รุ่งเรืองกล่าว
สำหรับแผนแม่บท ทั้ง 6 กลยุทธ์ที่กำหนดร่วมกันครั้งนี้มีโครงการต่างๆรองรับเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการ เช่นโครงการจัดตั้งสถาบันวิชาชีพด้านซอฟต์แวร์ โครงการ ส่งเสริมมาตรการคุ้มครองทางปัญญา โครงการร่วมทุนกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ โครงการส่งเสริมการใช้ และพัฒนาโอเพ่นซอฟต์แวร์ โครงการส่งเสริมใช้ไอทีสำหรับรัฐวิสาหกิจ โครงการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ เป็นต้น
นายจำรัส สว่างสมุทร นายกสมาคม ATCI เปิดเผยว่าการช่วยเหลือและสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่มีแหล่งเงินทุนในการประกอบการเพราะธนาคารไม่กล้าอนุมัติเงินกู้เพราะผู้ประกอบการไอทีไม่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ดังนั้นสมาคมมีแนวทางให้ผู้ประกอบการนำยอดสั่งซื้อสินค้าไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อใช้เป็นหลักในการพิจาณาความเสี่ยงและสมาคมยินดีเป็นผู้ค้ำประกันแก่ผู้ประกอบการ
Company Related Links :
SIPA