xs
xsm
sm
md
lg

ซิลิกอนวัลเ์ลย์ไทยเกิดไม่ได้ถ้า..

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทยในซิลิกอนวัลเลย์ของสหรัฐฯ สะท้อนปัญหาหลักที่ทำให้ความฝันในการสร้างซิลิกอนวัลเลย์ หรือเขตอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยยังห่างไกล ระบุคนไทยมีความสามารถแต่ยังขาดโอกาส ต่างจากซิลิกอนวัลเลย์ของจริงในสหรัฐฯที่มีเงินทุนรอคอยดาวดวงใหม่เสมอ ขณะที่การสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่ตรงจุด ทั้งเรื่องกฏหมายและการศึกษา

นายเรืองโรจน์ "กระทิง" พูนผล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ของกูเกิล (google) เล่าถึงซิลิกอนวัลเลย์ในสหรัฐฯ (Silicon Valley) ในฐานะคนไทยที่ใช้ชีวิตในซิลิกอนวัลเลย์ เมืองพาโลอัลโต สหรัฐอเมริกา ระบุว่าองค์ประกอบที่ซิลิกอนวัลเลย์ในสหรัฐฯแตกต่างจากที่อื่นคือความพร้อมด้านคน ด้านเทคโนโลยี เงินทุน และความกล้าเสี่ยง และไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครจะลอกเลียนแบบ

"ซิลิกอนวัลเลย์ไม่มีจุดกำเนิดที่ชัดเจน เกิดขึ้นเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว เป็นการยากมากที่ใครจะไปถอดแบบหรือเลียนแบบมา มันเหมือนระบบนิเวศที่ซับซ้อน เหมือนร่างกายมนุษย์ที่เราไม่สามารถสร้างอวัยวะขึ้นมาได้เอง แต่ต้องใช้เวลาในการเพาะบ่ม และมันไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรมธรรมดา"

ถ้าไม่กล้าเสี่ยง

กระทิงมองว่าสิ่งที่ทำให้ซิลิกอนวัลเลย์ของสหรัฐฯต่างจากที่อื่นคือความกล้าเสี่ยง เจ้าของไอเดียมีความมุ่งมั่นกล้าเสี่ยง ขณะเดียวกันนักลงทุนผู้ให้โอกาสก็กล้าเสี่ยงด้วย เจ้าของความคิดสามารถนำโครงการไปเคาะประตูเสนอขอเงินทุนได้ทันที ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทรายใหญ่อย่างอิริก ชมิดท์ ซีอีโอกูเกิล หรือเทอร์รี่ ซีเมล อดีตซีอีโอยาฮู ถึงกับสละเวลางานมาสอนนักศึกษาในโรงเรียนบริหารธุรกิจสแตนฟอร์ด เพื่อหาโอกาสลงทุนทางธุรกิจจากนักเรียนดาวรุ่ง

สำหรับการผลักดันให้ภูเก็ตกลายเป็นสวรรค์ไอซีทีเพื่อดึงดูดนักลงทุน กระทิงให้ความเห็นว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานพร้อมแล้วทั้งคนไอทีและโครงข่ายเว็บไซต์เทคโนโลยี Web2.0 แต่สิ่งที่ยังขาดคือกฏหมาย และการสนับสนุนจากภาครัฐ

ถ้าไม่มีกฏหมาย

"มีคำพูดว่า การจะสร้างซิลิกอนวัลเลย์นั้นขอเพียงมือไอทีเก่งๆ 300 รายเท่านั้น เชื่อว่าไทยเรามีมือไอทีเก่งๆเกิน 300 ด้วยซ้ำ คนมีแล้วแต่มีกฏหมายรองรับรึเปล่า ตอนนี้ประเทศไทยมีเว็บไซต์ web2.0 เยอะ มีพื้นฐานแล้วแต่จะทำให้เป็นคอมเมอร์เชียลยังไงนี่คือความท้าทาย ยืนยันว่าประเทศไทยก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ไม่ตามหลังชาติอื่น แต่สาเหตุที่ทำให้คนทำเว็บไทยไม่รวย คืองบการตลาดออนไลน์ที่ยังน้อย และความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของระบบออนไลน์ไทย"

กระทิงเชื่อว่ากฏหมายและการสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่เพียงพอในขณะนี้ เช่นกฏหมายเรื่องสิทธิการใช้งานข้อมูลดิจิตอลของไทยที่ยังตามการเปลี่ยนแปลงในโลกไซเบอร์ยุค Web 2.0 ไม่ทัน ที่สำคัญ กฏหมายซึ่งครอบคลุมและมีประสิทธิภาพจะทำให้ระบบออนไลน์มีความปลอดภัยสูง

"ต้องให้โอกาส เพราะที่สหรัฐฯเองก็ยังครอบคลุมได้ไม่หมด" กระทิงกล่าว "ยุคนี้การปิดเว็บไม่ใช่ทางออก ถ้าเว็บถูกปิดผู้ใช้ก็ไปโพสต์ที่เว็บอื่นได้" เพราะ Web2.0 นั้นมอบอำนาจให้ผู้บริโภคทุกคนสามารถเผยแพร่คอนเทนท์ของตัวเองได้อย่างเสรี

ถ้าไม่มีการสนับสนุน

กระทิงยกตัวอย่างการสนับสนุนของรัฐบาลประเทศเวียดนามได้อย่างน่าสนใจ เล่าว่ารัฐบาลเวียดนามสนับสนุนด้านการศึกษาด้วยการเปิดให้ชาวเวียดนามเรียนภาษาอังกฤษฟรี สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาวเวียดนามจำนวนมากมีทักษะภาษาที่ดีขึ้น ส่งให้โอกาสของชาวเวียดนามสดใสขึ้นด้วย

"อย่าให้อุปสรรค์เล็กๆอย่างภาษามาขวางการถ่ายทอดความคิดของเรา ผมเป็นคนจังหวัดกำแพงเพชรที่เรียนภาษาอังกฤษพื้นฐานตอนปีหนึ่งแล้วได้เกรด c มา 2 ตัว แต่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองจนกระทั่งสอบ GMAT ได้คะแนน 750"

และถ้าไม่พึ่งตนเอง

แม้หลายเสียงจะตอกย้ำว่าอนาคตไอทีของไทยแลนด์แพ้เวียดนามอย่างไม่เห็นฝุ่น แต่กระทิงเชื่อว่าคนไทยทำได้หากเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน

"คนไทยถ้าแข่งตัวต่อตัวไม่แพ้เวียดนามหรือจีนหรอกครับ จงพึ่งตัวเราเอง อย่ามัวแต่พึ่งอัศวินม้าขาวมาช่วยเหลือ" กระทิงปลุกใจ "Web2.0 เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ได้จุดประกายให้คนไทยแล้ว ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ได้อยู่ในระดับใดทั้งสิ้น คนไทยทำได้ ถึงเราตัวเล็กกว่าแต่เราก็ยกน้ำหนักชนะเค้า"

ชื่อตำแหน่งของกระทิงในกูเกิลคือ Quantitative/Product Marketing Manager หน้าที่หลักคือดูแลภาพรวมการทำตลาดผลิตภัณฑ์เสิร์ชเอนจิ้นในตลาดละตินอเมริกาและเอเชีย การกล่าวถึงซิลิกอนวัลเลย์ครั้งนี้เกิดขึ้นในงานเปิดตัวหนังสือ บทเรียนธุรกิจร้อนๆจาก Silicon Valley ซึ่งกระทิงเผยว่าใช้เวลานำรายงานที่เคยเขียนสมัยเรียนมาปรับเพิ่มข้อมูลใหม่เพียง 3 เดือน และการให้ความเห็นทั้งหมดสะท้อนออกมาในฐานะคนวงในที่เป็นคนไทย ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ที่กระทิงมีในกูเกิล

กระทิงเป็นบุคคลที่น่าสนใจ ใครอยากรู้ว่าทำไมต้องชื่อกระทิง เส้นทางจากจังหวัดกำแพงเพชรสู่ซิลิกอนวัลเลย์จะขรุขระขนาดไหน ก่อนจะเข้าทำงานกับกูเกิลต้องสัมภาษณ์งานกี่รอบ สตีฟ จ็อบส์ที่กระทิงเคยพบมาดแมนเพียงใด และแนวคิดในการวางตัวแบบไทยๆให้ทำให้สามารถขึ้นเป็นผู้บริหารของกูเกิลด้วยวัยเพียง 30 ปีคืออะไร อดใจรอพบคำตอบในบทความตอนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น