xs
xsm
sm
md
lg

เอไอเอสอาศัยโครงข่ายมือถือขยายฐานไวแมกซ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอไอเอสเชื่อเทคโนโลยีไวแมกซ์หนีไม่พ้นกลุ่มโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายมือถือ ที่ได้เปรียบในเรื่องของอินฟราสตรักเจอร์ที่วางไว้ทั่วประเทศอยู่แล้ว รายใหม่ที่ขอไลเซนส์โอกาสแจ้งเกิดยาก เพราะอาจล่าช้าในการให้บริการ และต้องเช่าโครงข่ายจากค่ายมือถือ หาก กทช. ปล่อยให้บริการในเชิงพาณิชย์ พร้อมนำสื่อมวลชนโชว์ไวแมกซ์ คอมเมอร์เชียล เทสต์ ใน 3 พื้นที่เพื่อโชว์ความแตกต่าง และพร้อมให้บริการภายใน 3 เดือน ด้วยงบลงทุนเฟสแรก 1,500 ล้านบาท ครอบคลุม 76 จังหวัด

นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า ไวแมกซ์ในมุมมองของโอเปอเรเตอร์มือถือสามารถช่วยเสริมการให้บริการได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นทางเลือกสำหรับระบบสื่อสัญญาณของเครือข่ายเซลลูลาร์ เสริมการให้บริการร่วมกับ 3G คือเมื่อเคลื่อนที่ใช้ 3G อยู่กับที่ใช้ไวแมกซ์ ให้บริการทดแทนฟิกซ์ไลน์ ใช้เป็นแพลตฟอร์มในการส่งมอบคอนเทนต์ โดยเฉพาะวิดีโอและบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ในบริเวณพื้นที่ซึ่งสายโทรศัพท์เข้าไม่ถึง

“ไวแมกซ์จะช่วยในเรื่องของเทคโนโลยี แต่การคิดค่าบริการเชิงพาณิชย์คงมีรายได้ไม่มาก แต่ต้องอาศัยการผนวกบริการหลายลักษณะและต้องอาศัยเครือข่ายเซลลูลาร์ เพราะไวแมกซ์จะอยู่เดี่ยวๆ ไม่ได้ ผมเชื่ออย่างนั้น”

สำหรับเรื่องการขอใบอนุญาตหรือไลเซนส์ไวแมกซ์จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในกลุ่มเอไอเอสได้ขอในนามเอไอเอส และซูเปอร์บรอดแบนด์ เน็ตเวิร์ก (เอสบีเอ็น) ซึ่งในมุมมองของวิเชียรยืนยันว่า บริการไวแมกซ์ที่จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้เร็วและมาก คงหนีไม่พ้นผู้ที่มีโครงข่ายมือถือ เพราะเทคโนโลยีไวแมกซ์สามารถติดตั้งอยู่ในที่เดียวกับสถานีฐานของมือถือได้

ส่วนเรื่องของใบอนุญาตที่แตกต่างกันไม่เป็นปัญหา เพราะการให้บริการไวแมกซ์ของกลุ่มเอไอเอสก็ทำแบบเช่าโครงข่ายที่เอไอเอสมีอยู่ และก็แบ่งรายได้ให้ทีโอที ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายอาจจะต้องไปขอเช่าโครงข่ายผู้ที่มีอยู่แล้วหากต้องการให้บริการ

“การให้บริการไวแมกซ์คงหนีไม่พ้นผู้ให้บริการมือถือ เพราะมีเครือข่ายเอื้อให้อยู่แล้ว”

พร้อมกันนี้ เอไอเอสได้นำคณะสื่อมวลชนทดสอบไวแมกซ์ในลักษณะของคอมเมอร์เชียล เทสต์ในสภาวะการใช้งานจริงในนามเอไอเอส แยกตามลักษณะพื้นที่ ประกอบด้วย ใจกลางเมือง (สีลม) เมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว (ชลบุรี) และเขตชานเมือง (ลำลูกกา) ส่วนเขตชนบท (มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง) มีแผนจะทดสอบหลังเทศกาลสงกรานต์ ส่วนอุปกรณ์ใช้ของ 4 ซัปพลายเออร์คือ โมโตโรล่า หัวเว่ย โนเกีย-ซีเมนส์ และเอ็นอีซี เพื่อคัดเลือกรายที่ดีกว่า ราคาถูกกว่า

การทดสอบดังกล่าวได้ผลที่แตกต่างกัน คือในพื้นที่ที่มีตึกมากรัศมีการให้บริการจะน้อยกว่าพื้นที่โล่ง จากปกติรัศมีการให้บริการของไวแมกซ์จะอยู่ระหว่าง 3-10 กิโลเมตร แต่เป้าหมายหลักในการให้บริการไวแมกซ์ของเอไอเอสคือเขตชานเมือง และเมืองใหญ่หรือเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก

“ไวแมกซ์ไม่เหมาะกับใจกลางเมือง เพราะมีตึกมากการทะลุทะลวงของคลื่นไปได้ไม่ไกล แต่ในกรุงเทพฯเอไอเอสก็ทำเหมือนกัน เพื่อโชว์ให้เห็นว่าเทคโนโลยีใช้งานได้จริง และให้คู่แข่งปวดหัวเล่น” นายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาดเอไอเอส กล่าว

ทั้งนี้ หาก กทช.ให้เปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ เอไอเอสพร้อมจะลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 350-450 สถานีฐาน และสามารถให้บริการได้ภายใน 3 เดือน

“ไวแมกซ์เราจะแข่งกับเทคโนโลยีเอดีเอสแอลที่ให้บริการไฮสปีดอินเทอร์เน็ตผ่านสายทองแดง แต่ไม่ได้แข่งกับมือถือ”

ส่วนค่าบริการจะแตกต่างกันไปตามรูปแบบการใช้งาน หากโทร.ผ่านพีซีจะไม่เสียค่าบริการ ถ้าเป็นการยกหูโทร.ครั้งละบาท แต่ถ้าเข้ามือถือจะเป็นอีกราคาหนึ่ง

Company Related Links :
AIS
กำลังโหลดความคิดเห็น