บทความตอนที่แล้วดูเหมือนจะสะท้อนแต่เส้นทางโรยกลีบกุหลาบของมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เศรษฐีวัย 23 ปีจากโลกออนไลน์ที่นิตยสาร Forbes จัดอันดับว่าร่ำรวยเป็นอันดับ 785 ของโลก จากเด็กชายในครอบครัวยิว-อเมริกันที่เริ่มเขึยนโปรแกรมตั้งแต่ประถม 6 สู่หนุ่มนักศึกษาฮาร์เวิร์ดที่พาตัวเองและผองเพื่อนปลุกปั้นโปรเจ็ค Facebook.com บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เป็นธุรกิจเต็มขั้น
แน่นอนว่าก่อนที่ Facebook จะทำให้ซีอีโอซัคเกอร์เบิร์กกลายเป็นเศรษฐีหนุ่มติดอันดับโลก ยังมีขวากหนามมากมายที่ซัคเกอร์เบิร์กต้องฝ่าฟันไป
Facebook นั้นเป็นที่รู้จักในนามบริการออนไลน์ที่ทำให้ผู้ใช้แบ่งปันข้อมูลกับเพื่อนที่อยู่ในสังคมเดียวกันแบบรวดเร็วทันใจและเข้าถึง ทั้งข้อมูลแฟ้มภาพถ่ายเมื่อครั้งไปเที่ยว ภาพยนตร์ที่ชอบ และประวัติส่วนตัวทั่วไป ต่างจากเว็บไซต์ชุมชนออนไลน์อื่นตรงที่ Facebook เป็นชุมชนในโลกที่มีตัวตนอยู่จริง ใช้ชื่อ Email เดียวกันและต้องการทำความรู้จักคนอื่นๆในสังคมเดียวกัน ทั้งหมดนี้โดนใจชาวอเมริกันที่กระตือรือร้นอยากจะรู้จักคนอื่นในสังคมเดียวกันให้มากขึ้น
ชาวอเมริกันที่นิยมชมชอบ Facebook มีทั้งกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย นักเรียนโรงเรียนมัธยม รวมถึงคนวัยทำงาน สถิติชุมชนที่ใช้ Facebook ล่าสุดมีจำนวนหลายหมื่นชุมชน มีทั้งชุมชนเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับสหรัฐฯ CIA ชุมชนพนักงานร้านแมคโดนัลด์ และกองกำลังนาวิกโยธินของสหรัฐฯ ที่สำคัญ Facebook ยังสนับสนุนการขายสินค้าข้ามบริษัทบนเว็บไซต์ และวางเป้าหมายว่า ผู้ใช้จะสามารถค้นหาสินค้าทุกชนิดได้จากเว็บไซต์แห่งนี้ในอนาคต
วิกฤตคือโอกาส
หลังจากได้ทุนก้อนแรกจาก Peter Thiel ผู้ร่วมก่อตั้งบริการชำระเงินออนไลน์ PayPal มูลค่า 5 แสนเหรียญ ผลงานหนึ่งที่โด่ดเด่นของ Facebook.com คือบริการ News Feed เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือน 5 กันยายน 2006 ไม่ใช่รายการข่าวสารบ้านเมืองแต่เป็นรายการความเคลื่อนไหวของกลุ่มเพื่อนในเว็บไซต์
ซัคเกอร์เบิร์กตกที่นั่งลำบากเนื่องจากผู้ใช้จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับฟีเจอร์นี้ โดยผู้ใช้มองว่า News Feed ทำให้ข้อมูลส่วนตัวแพร่กระจายไปทั่วเว็บ Facebook โดยไม่ได้รับอนุญาต
ผู้ใช้ Facebook ร่วมใจประท้วงไม่เห็นด้วยกับฟีเจอร์ News Feed ราว 700,000 คนภายในไม่ถึง 48 ชั่วโมง ร้อนถึงซัคเกอร์เบิร์กต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ใช้ เพื่อขอโทษที่ละเลยการให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัว และยืนยันว่าเจตนาในการออกแบบฟีเจอร์ News Feed คือเพื่อให้ข่าวสารข้อมูลแก่คนในชุมชนเดียวกันบน Facebook เท่านั้น
เมื่อทีมวิศวกรของ Facebook ลงมือปรับปรุงความเป็นส่วนตัวของ News Feed ซัคเกอร์เบิร์กระบุว่าขณะนี้ News Feed กลายเป็นสิ่งที่ผู้ใช้นิยมไปแล้วเรียบร้อยโรงเรียน Facebook
เดือนพฤศจิกายน 2007 ซัคเกอร์เบิร์กได้ฤกษ์เปิดตัวระบบโฆษณาออนไลน์ใหม่ในชื่อ Beacon เป็นระบบที่เปิดให้นักการตลาดสามารถลงโฆษณาได้ด้วยตัวเองคล้ายระบบของกูเกิล (Google) ชนวนระเบิดปะทุขึ้นอีกเมื่อระบบโฆษณา Beacon สามารถเก็บข้อมูลใช้งานเว็บไซต์ของสมาชิก Facebook ได้ ความสามารถนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า Facebook กำลังจะละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อีกครั้ง
ธันวาคม 2007 ซัคเกอร์เบิร์กระบุว่ากำลังดำเนินการทดสอบระบบโฆษณา Beacon อย่างจริงจัง ขออภัยในข้อผิดพลาดต่อผู้ใช้ และเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
Facebook ยังเผชิญปัญหาเดียวกับเว็บไซต์อื่นๆ คือปัญหาการฟ้องร้องว่าเป็นผลงานที่ขโมยความคิดคนอื่นมา โดยนักศึกษาฮาร์เวิร์ด 3 รายนาม Divya Narendra, Cameron Winklevoss และ Tyler Winklevoss ระบุว่าเคยว่าจ้างให้ซัคเกอร์เบิร์กเขียนโปรแกรมบนเว็บไซต์ของพวกเขานามว่า ConnectU และกล่าวหาว่าซัคเกอร์เบิร์กขโมยแนวคิด การออกแบบ แผนธุรกิจ รวมถึงซอร์สโค้ดดั้งเดิมไป
คดีนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2004 ผู้ฟ้องระบุว่าร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม และไม่มีเจตนาให้เว็บ Facebook ต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม Facebook ตัดสินใจฟ้องกลับและการพิพากษาคดียังไม่สิ้นสุดในขณะนี้
ด้านสื่อใหญ่อย่างนิวยอร์กไทมส์ เคยแสดงความเห็นว่า ซัคเกอร์เบิร์กอาจได้แนวคิดบริการมาจากเว็บไซต์ houseSYSTEM ของคุณปู่ Aaron J. Greenspan บุคคลสำคัญของสหรัฐฯก็เป็นได้
รวยเพราะหุ้น
ซัคเกอร์เบิร์กไม่ได้สร้างฐานะปึกแผ่นจากรายได้โฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของเว็บ Facebook แต่มาจากการขายหุ้นบริษัทให้ไมโครซอฟท์ซึ่งทุ่มเงินกว่า 8,000 ล้านบาท ซื้อหุ้น Facebook ในสัดส่วน 1.6% จากซัคเกอร์เบิร์ก ราคานี้ไมโครซอฟท์คำนวณโดยตั้งมูลค่า Facebook ไว้สูงถึง 51,000 ล้านบาท มูลค่าเทียบเท่าบริษัทจำหน่ายสินค้าชื่อดัง GAP และโรงแรมแมริออท
การตัดสินใจขายหุ้นให้ไมโครซอฟท์ เกิดขึ้นหลังจาก Facebook ปฏิเสธข้อเสนอซื้อมูลค่า 1 พันล้านเหรียญจากยาฮู (Yahoo) ครั้งนั้นทั้งตัวซัคเกอร์เบิร์กและนักลงทุนคนแรกของบริษัทอย่าง Thiel กล่าวตรงกันว่ายังไม่รีบร้อนขาย Facebook ให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่หรือขายหุ้นให้สาธารณชน และราคาเสนอซื้อแค่หนึ่งพันล้านเหรียญนั้นต่ำเกินไป ฐานผู้ใช้และจำนวนผู้เข้าชมที่เพิ่มขึ้นทุกวันทำให้ทั้งสองเชื่อว่ามูลค่าบริษัทสูงกว่าที่ยาฮูเสนอมาแน่นอน สิ่งที่ Facebook จะเลือกจึงเป็นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและทำให้บริษัทเติบโตต่อไป
แต่เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ตัดสินใจควักเงิน 246 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8.16 พันล้านบาท) แลกกับการครอบครองหุ้น Facebook เพียง 1.6% ทำให้ซัคเกอร์เบิร์กอดใจไม่ไหว ยอมเจียดหุ้นในมือยกให้ไมโครซอฟท์แต่โดยดี
เรื่องนี้ได้รับเสียงวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะการที่ไมโครซอฟท์ให้ราคา Facebook สูงกว่าผู้เสนอซื้อรายอื่นอย่างน่าสงสัย เพราะหากคำนวณราคาหุ้นที่ไมโครซอฟท์เสนอมา เท่ากับไมโครซอฟท์กำหนดมูลค่ารวมของ Facebook ไว้ถึง 1,500 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 51,000 ล้านบาท ซึ่งเซอร์เกย์ บริน ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่เสนอตัวซื้อหุ้น Facebook ด้วยเช่นกัน ระบุว่าเป็นราคาที่เกินจริง เพราะในแต่ละปีเฟซบุ๊คทำรายได้ไม่ถึง 200 ล้านเหรียญด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี การซื้อขายหุ้นระหว่างไมโครซอฟท์และซัคเกอร์เบิร์กมูลค่า 246 ล้านเหรียญ และการถือหุ้นบริษัทที่ไมโครซอฟท์ตีราคาไว้สูงถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้นิตยสาร Forbes จัดอันดับความร่ำรวยของซัคเกอร์เบิร์กไว้ที่อันดับ 785 ของโลกไปแล้ว แม้นักวิเคราะห์จะยังสงสัยในสภาพคล่องด้านการเงินของซัคเกอร์เบิร์กอยู่
แม้จะถูกสงสัยเรื่องสภาพการเงิน แต่ซัคเกอร์เบิร์กไม่เคยถูกสงสัยเรื่องฝีไม้ลายมือ ขณะนี้ Facebook กำลังเพิ่มจำนวนวิศวกรและพนักงานบริการลูกค้าเพื่อรองรับตลาดมหาวิทยาลัยในแคนาดาและอังกฤษที่มีอัตราเติบโตเกือบ 30% ต่อเดือน และทำสถิติเป็นเว็บที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของสหรัฐฯ
เชื่อแน่ว่า โลกจะจับตาเศรษฐีหนุ่มวัย 23 ปีคนนี้ต่อไปอีกนานแสนนาน
ขอบคุณข้อมูลจาก Wikipedia.com