xs
xsm
sm
md
lg

ผ่า5ยุทธศาสตร์ดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอทีเอสไอจับมือ 8 พันธมิตร เร่งขับเคลื่อน 28 โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์หลัก “ส่งเสริมผู้ใช้ ผลิตโปรแกรมเมอร์หน้าใหม่ เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยแสดงศักยภาพ พร้อมเสนอกระทรวงไอซีทีของบ 100 ล้าน เป็นกองทุนเพื่อการส่งเสริมการใช้อีอาร์พีไทย สำหรับเอสเอ็มอี หวังดันซอฟต์แวร์ไทยสอดรับเป้าแสนล้านของซิป้า พร้อมเสนอกระทรวงไอซีทีของบ 100 ล้าน เป็นกองทุนเพื่อการส่งเสริมการใช้อีอาร์พีไทย สำหรับเอสเอ็มอี

นายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) กล่าวถึงแนวทางการบริการงานตามแผนยุทธศาสตร์ ที่วางแผนให้ครอบคลุมการพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยในทุกๆ ด้านว่า เอทีเอสไอได้ร่วมกับ 8 องค์กรหลัก ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า, ซอฟต์แวร์ พาร์ค, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค), สำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมแห่งชาติ, กรมส่งเสริมการส่งออก, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย และมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการทำงานของเอทีเอสไอในปี 2551 ที่จะเน้นการปฏิบัติตามกรอบแนวทางของ 28 โครงการ จาก 5 ยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ตลอดช่วงปี 51-54

สำหรับ 5 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1.สนับสนุนการตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย และโครงการที่ 10 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 นี้ ทางเอทีเอสไอมีแผนจะเสนอกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เพื่อของบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนเพื่อการส่งเสริมการใช้อีอาร์พีไทยสำหรับเอสเอ็มอี หรือ ERP Funding for SMEs 2.การพัฒนาการศึกษาและบุคลากร ตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ค้นคว้าข่าวสาร 3.สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระหว่างผู้ประกอบการซอฟต์แวร์กับหน่วยงานอื่น 4.สนับสนุนในการหาแหล่งเงินทุนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือนวัตกรรมใหม่ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีความแข็งแกร่ง และขยายกิจการให้เติบโตต่อไปได้ รวมถึงให้มีการสนับสนุนให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ในวงกว้าง 5.การปรับแก้ไข ระเบียบ ข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

การใช้ 5 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นเพราะเอทีเอสไอเห็นถึงปัญหาของวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศ ที่แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักคือ ด้านผู้ใช้ซอฟต์แวร์ ที่ยังขาดความรู้และการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงความสามารถของซอฟต์แวร์ไทย จนขาดความเชื่อมั่นทำให้ไม่กล้าใช้, ด้านนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และด้านผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่ยังขาดกำลังในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ให้เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งต้องการแรงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดแก่ผู้ใช้ และสร้างมาตรฐานให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยผลิตผลงานที่มีคุณภาพ พร้อมการบริการที่ดีขึ้น

“จริงๆ แล้วซอฟต์แวร์ไทยมีจุดแข็งอยู่ที่ความเป็นโลคัล คอนเทนต์ เพราะไทยมีความอ่อนไหวเรื่องวัฒนธรรม กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ”

นอกจากนี้ เอทีเอสไอยังมียุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย เช่น โครงการพัฒนาโปรแกรมเมอร์ 100 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยเป้าหมายเพื่อพัฒนาโปรแกรมเมอร์ให้มีศักยภาพ และมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเฉพาะทางมากขึ้น จากนั้นจึงป้อนแรงงานอาชีพเข้าสู่ซอฟต์แวร์เฮาส์ต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังมีโครงการไอซีที เทรนนิ่ง และอีกหลายโครงการ

ด้านผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย เอทีเอสไอมีแผนจะยกระดับภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการผ่านโครงการที่หลากหลาย เช่น โครงการซอฟต์แวร์ ชอป ชันแนล ที่จะเป็นเสมือนศูนย์กลางการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนข้อมูล การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ การนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ การจัดสัมมนาเชิงธุรกิจ เป็นต้น

นายกสมาคมเอทีเอสไอกล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยถือว่ามีคุณภาพมาก ได้รับการรองรับจากบริษัทชั้นนำหลายแห่ง รวมถึงมาตรฐานการจัดการต่างๆ ของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ก็เริ่มทำได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหากพัฒนาให้ผู้ประกอบการกลายเป็นเรียล ซัปพลาย ได้จริง และสามารถสร้างเรียล ดีมานด์ให้เกิดขึ้นได้ จะทำให้อัตราการซื้อขายซอฟต์แวร์ในไทยเพิ่มอีกหลายเท่าตัว จากปัจจุบันตลาดซอฟต์แวร์ไทยถือว่าเล็กมากหากเทียบกับตลาดโลกเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 25 ล้านล้านบาท

“ที่มูลค่าตลาดซอฟต์แวร์โลกสูงขนาดนั้น แต่ไทยตลาดยังเล็กอยู่ ถามว่ามันคือโอกาสหรือไม่ ผมว่ามันคือโอกาส”

ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เอทีเอสไอได้วางสถานะและแนวโน้มทางการตลาด และการพัฒนาของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เพื่อให้ทราบทิศทางการตลาด ซึ่งจะเป็นตัวชี้นำและกำหนดการวางแผน ปฏิบัติงานได้ในทันที นอกจากนี้ เอทีเอสไอยังวางกลยุทธ์เพื่อสร้างเครือข่ายและโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระดับภูมิภาคด้วย

“นโยบายในปีนี้เป็นแผนระยะสั้น และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เป็นไปตามเป้าของซิป้าแสนล้าน ส่วนระยะยาวเรามองตลาดส่งออก ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศทีละมากๆ โดยตลาดที่เรามองคือเวียดนาม จีน และมีแผนจะรุกตลาดเพื่อนบ้านอื่นๆ ในอนาคต”

Company Related Links :
ATSI
กำลังโหลดความคิดเห็น