xs
xsm
sm
md
lg

ไอดีซีชี้ปีนี้ไอทีไทยทะลุ4.3พันล.ดอลล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไอดีซีประเมินตลาดไอทีรอบปีนี้ ระดับเอพีอินเดียแนวโน้มโตสูงสุด ขณะไทยติดอันดับ 4 ส่วนตลาดไอทีไทยคาดโตอีก 9% คิดเป็นมูลค่า 4,360 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นคือนโยบายการลงทุนจากภาครัฐ หลังได้รัฐบาลใหม่ ส่วนใหญ่ของอัตราการโตยังเป็นฮาร์แวร์คิดเป็นสัดส่วนกว่า 73%

นายทวีสิทธิ์ กุลองคณานนท์ ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัย กลุ่มตลาดโทรคมนาคม บริษัท ไอดีซี ประเทศไทย กล่าวถึงตลาดไอทีปี 2551 ว่า รอบปีที่ผ่านมาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอพี รวม 13 ประเทศมีมูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีสิ้นสุดเดือนต.ค.อยู่ที่ 136,961.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนมีส่วนแบ่งตลาดมากสุด รองลงไปเป็นออสเตรเลีย เกาหลี อินเดีย ส่วนไทยอยู่อันดับ 9 หรือ 10

สำหรับปีนี้แนวโน้มตลาดไอทีในเอพี อินเดียมีแนวโน้มโตมากที่สุด รองลงไปคือจีน เวียดนาม ส่วนไทยอยู่อันดับ 4 และมูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของไทยไม่ว่าจะเป็นฮารด์แวร์ ซอฟท์แวร์ จากข้อมูลล่าสุดงานวิจัยของไอดีซีเกี่ยวกับการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลก เปิดเผยเมื่อเดือนต.ค. 2550 คาดว่า การใช้จ่ายด้านไอทีในประเทศไทยจะมีมูลค่าถึง 4,360 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2551 โดยมีอัตราการเติบโต 9.3% จากปี 2550 ฮาร์ดแวร์ยังคงเป็นสัดส่วนการใช้จ่ายมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 73% มีอัตราการเติบโตจากปี 2550  8% ซึ่งตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี ยังคงเป็นสัดส่วนการใช้จ่ายสูงสุดด้านฮาร์ดแวร์

ตลาดซอฟท์แวร์มีอัตราการเติบโตจากปี 2550 คิดเป็น 12% โดยตลาดซอฟท์แวร์ประเภท System Infrastructure เป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงสุดและมีอัตราการเติบโตมากสุดเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดซอฟท์แวร์ประเภทอื่นๆ

บริการด้านไอทีมีมูลค่าการใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วน 19% ของมูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีรวม และมีอัตราการ เติบโตจากปี 2550 คิดเป็น 13% ซึ่งบริการออกแบบระบบแบบครบวงจร   ยังคงเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด ในขณะที่บริการดำเนินการจัดการด้านไอทีให้กับองค์กร   เป็นตลาดที่มีอัตราการ เติบโตสูงสุด

ตลาดโทรคมนาคมในไทยปีนี้ลดลง

สำหรับตลาดโทรคมคาคม ไอดีซี คาดว่า ในปี 2550 มูลค่าการใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมของไทยจะมีมูลค่าประมาณ 7.80 พันล้านเหรียญ สหรัฐ ซึ่งมีอัตราการเติบโตจากปี 2549 อยู่ที่ 20% และคาดว่า ในปี 2551 จะมีมูลค่าการใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมประมาณ 7.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ  มีอัตราการเติบโต 0% โดยตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยังคงครองสัดส่วนสูงที่สุด มากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายทั้งหมด  

ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมในบ้านเราเติบโตในปี 2550 นั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการแข็งขึ้นค่าเงินบาท เมื่อมองเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตามค่าเงินบาทตลาดโทรคมนาคมจะมีอัตราการเติบโตในระดับต่ำ  นอกจากนี้ ในปี 2551 ตลาดรวมจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับปี 2550 ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวลงของรายได้ใน ส่วนบริการโทรศัพท์พื้นฐาน

ตลาดพีซีรอบปีนี้โต 12%

เกี่ยวกับตลาดพีซีในไทยสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ปี 2550 ไอดีซีคาดว่า ตลาดโดยรวม จะอยู่ที่ 1,707,336 เครื่อง ขยายตัวจากปี 2549 ประมาณ 11%  โดยโน้ตบุ๊กยังคงเป็นตลาดที่มี อัตราการเติบโตคิดเป็น 43.47%  หรือ 784,331 เครื่อง ในขณะที่ ตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือเดสก์ทอป มีอัตราการขยายตัว 7% เนื่องจาก  มีการลดขนาดของการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการขนาดใหญ่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ไอดีซีคาดว่าในปี 2551 ตลาดรวมพีซียังคงมีอัตราการขยายตัวราว 12% หรือคิดเป็น 1,912,431 เครื่อง คาดว่าตลาดโน้ตบุ๊กยังคงเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโต 15%  หรือ 901,958 เครื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการ ความสะดวกสบายในการใช้ งานคอมพิวเตอร์ และ  Mobility Life ในขณะเดียวกันผู้ผลิตได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ครอบคลุมความต้องการผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านราคา ดีไซน์ คุณสมบัติ ประสิทธิภาพ และมีการเจาะกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ในขณะที่ตลาดคอมพิวเตอร์ ตั้งโต๊ะคาดว่าจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 10% หรือ 981,790 เครื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดยังมี ความต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษา หรือ หน่วยงานของรัฐบาล นอกจากนี้คาดว่าน่าจะมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นภายหลัง รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศรวมถึง การขยายตัวของภาคธุรกิจ

เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทมัลติฟังก์ชั่น

ตัวเลขของตลาดรวมเครื่องพิมพ์และเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท มัลติฟังก์ชั่น ในปี 2550 จะอยู่ที่ 1,248,500 เครื่อง ซึ่งขยายตัว ขึ้นจาก ปี 2549 ประมาณ 4.7% โดยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทยังคงสัดส่วนมากที่สุด ในตลาดเครื่องพิมพ์ด้วยยอดขาย กว่า 570,000 เครื่อง คิดเป็นสัดส่วน 45.8% ของตลาดทั้งหมด แต่เมื่อเทียบกับปี 2549 ยอดขายของเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทนั้นกลับลดลง  12.5% ด้วยปัจจัยลบด้านความต้องการ ของตลาดที่ย้ายไปสู่เครื่องอิงค์เจ็ตมัลติฟังก์ชั่นซึ่งในส่วนของเครื่องอิงค์เจ็ทมัลติฟังก์ชั่นนี้ ไอดีซีเชื่อว่าจะสามารถขายได้มากกว่า 487,000 เครื่องในปี 2550 ซึ่งโตขึ้นจากปี 2549 ถึง 34.2%

สำหรับปี 2551ไอดีซีเชื่อว่าจะเป็นปีที่สัดส่วนระหว่างเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท และเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทมัลติฟังก์ชั่นจะถึงจุดเปลี่ยนแปลง ซึ่งไอดีซีเชื่อว่าในปีนี้เครื่อง พิมพ์อิงค์เจ็ทมัลติฟังก์ชั่นจะเป็นอุปกรณ์การพิมพ์ที่มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งของตลาด แทนที่เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท และตลาดรวมของเครื่องพิมพ์จะโตขึ้นประมาณ 4.8% หรือ ยอดขายรวมประมาณ 1,300,000 เครื่อง

เลเซอร์มัลติฟังก์ชั่นโต 11%

จากข้อมูลไตรมาสที่ 3 ปี 2550 สำหรับตลาดเครื่องเลเซอร์มัลติฟังก์ชั่นในปี 2550 คาดว่าจะอยู่ที่ 64,878 เครื่อง ซึ่งขยายตัวขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 16% โดยเครื่องถ่าย เอกสารเลเซอร์มัลติฟังก์ชั่นจะมีสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่ 49% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ +5% ส่วนเครื่องพิมพ์เลเซอร์มัลติฟังก์ชั่นจะมีสัดส่วนรองลงมาคิดเป็น 40% ลดลงจากปี 2549 ประมาณ -4% คาดว่าในปี 2551 เครื่องเลเซอร์มัลติฟังก์ชั่นจะมี อัตราการเติบโตราว 11% หรือ 72,154 เครื่อง โดยเครื่องพิมพ์เลเซอร์มัลติฟังก์ชั่น จะมีอัตราการเติบโตมากกว่าเครื่องเลเซอร์มัลติฟังก์ชั่นประเภทอื่นๆเนื่องจากมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยสนับสนุนการใช้งานให้กับผู้ใช้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การแข่งขันด้าน ราคาและมีรายการ ส่งเสริมการขายที่น่าสนใจก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น

อุปกรณ์สื่อสารพกพามือถือโตสุด79.3%

ด้านตลาด Handset ในไทยของปี 2550 ซึ่งรวมผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ พีดีเอ และพีดีเอโฟน พบว่า ยอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ (รวมพีดีเอ และพีดีเอโฟน) ของปี 2550 อยู่ที่ 10.2 ล้านเครื่อง ซึ่งมีอัตราเติบโตจากปี   2549    อยู่ที่ 13% โดยโทรศัพท์มือถือยังครองส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุด  79.3% รองลงมาคือพีดีเอโฟน   20% และพีดีเอ  0.2% สำหรับปี 2551 คาดว่า จะมียอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ เครื่องใหม่มากกว่า 15 ล้านเครื่อง และมีอัตราการเติบโต  16% เนื่องจากราคาที่ลดลง ในทุกๆ ปี ประกอบกับมีรายการส่งเสริมการขายที่น่าดึงดูดใจ รวมถึงมีการน ำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปใส่ในเครื่องเพื่อสนับสนุนการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ในด้านต่างๆ เช่น การใส่เทคโนโลยี EDGE เข้าไปในเครื่อง  

มูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ปีนี้14.66 พันล้านบาท

ไอดีซี คาดว่ารายได้ของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่จำหน่ายในประเทศไทยจะมีมูลค่าราว 13.29 พันล้านบาทในปี 2550 และมีอัตราการเติบโตจากปี 2549 อยู่ที่ 17.46% เมื่อแยกตามประเภทของซอฟท์แวร์ทั้ง 3 ประเภทหลักแล้วพบว่า ซอฟต์แวร์สำหรับระบบสาธารณูปโภคจะมีสัดส่วนมากที่สุด 40% รองลงมาคือ ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันต่างๆ 38% และ ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันเพื่อการเตรียมพร้อม และพัฒนา  22% เมื่อพิจารณาตามประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายทาง ด้านซอฟต์แวร์มากที่สุดในปี 2550 พบว่า กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะสัดส่วนการใช้จ่ายมากเป็นอันดับหนึ่ง 28% รองลงมา ได้แก่ สถาบันการเงินและ การธนาคาร  17% และธุรกิจโทรคมนาคม 13% ไอดีซีเชื่อว่าในปี 2551 รายได้ของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่จำหน่ายในประเทศไทย จะมีอัตราการเติบโต 10.28 หรือเท่ากับ 14.66 พันล้านบาท

ตลาดบริการด้านไอทีปีนี้ค่า3หมื่นล้านบาท

ตลาดบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือบริการด้านไอที (ไม่รวมบริการด้าน การสื่อสาร) ในประเทศไทยจะมีมูลค่าราว 2.71 หมื่นล้านบาท เมื่อแยกประเภทของการให้บริการด้านไอทีเป็น 3 ประเภทหลักแล้วพบว่า บริการด้านที่ปรึกษา และบริการออกแบบรับเหมาระบบครบวงจร หรือ IT Consulting and System Integration Services (C&SI) จะมีส่วนแบ่งสูงสุด 39% รองลงมาคือกลุ่มบริการด้าน TPS หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ ทางด้านเทคโนโลยี เช่น บริการด้านการวนับสนุนการให้บริการทาง hardware และ software support และ IT Outsourcing ซึ่งมีส่วนแบ่งใน อุตสาหกรรมบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีสัดส่วน 37% และ 24%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนของอุตสาหกรรมบริการด้านไอทีของไทยในภาพรวมแล้ว ไอดีซีคาดว่ามูลค่างานบริการด้านไอทีในปี 2551 จะมีมูลค่าตลาดมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตอยู่ที่ราวร้อยละ 13%  เมื่อเทียบกับปี 2550 และในปี 2552 ตลาดจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาทในปี 2552

ตลาดบริการของโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่า197 พันล้านบาท

ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยปี 2550 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 167.55 พันล้านบาท โดยบริการด้านเสียงคิดเป็นสัดส่วนถึง 91% ของตลาดรวมหรือคิดเป็น มูลค่าราว 153.11 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 5% ในขณะที่บริการด้านข้อมูล ในปี 2550 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 14,44 พันล้านบาท มีส่วนแบ่ง 9% ของตลาดบริการโดยรวม เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 21% เมื่อพิจารณาจำนวนผู้จดทะเบียนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2550 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 52 ล้านราย โดยผู้ที่จดทะเบียนใช้งานในระบบเติมเงิน จะมีอัตราการเติบโตมากที่สุด 31% ปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้จดทะเบียนใช้งานโดยรวมในปี 2550 เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 29%  ส่วนหนึ่งเป็นผลมากจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ราคาของเครื่องโทรศัพท์ เคลื่อนที่ที่ลดลงอย่างมาก และการออกโปรโมชั่นใหม่ๆ ที่จูงใจให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการจดทะเบียนมากกว่า 1 เลขหมาย เพื่อใช้งานให้ตรงกับความต้องการและคุ้มค่าที่สุด

ในปี 2551 ไอดีซีคาดว่า ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีมูลค่ารวมราว 197.84 พันล้านบาทและมีอัตราการเติบโตจากปี 2550 อยู่ที่ 18% โดยบริการด้านข้อมูล  จะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 18% ซึ่งเทคโนโลยี 3G จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าตลาด ให้กับบริการด้านข้อมูล ในขณะที่ บริการด้านเสียงจะมีอัตราการเติบโต เพียงเล็กน้อยราว  4 %

ตลาดโทรคมนาคมประเภทสายมูลค่าลดลง14%

ไอดีซีคาดว่าในปี 2550 ตลาดโทรคมนาคมประเภทสาย ได้แก่ บริการโทรศัพท์พื้นฐาน บริการสื่อสารข้อมูลและบริการอินเตอร์เน็ตจะมีมูลค่า ตลาดราว 2.20 พันล้านเหรียญ สหรัฐ โดยตลาดบริการอินเทอร์เน็ตจะคิดเป็น 21% ของบริการตลาดโทรคมนาคม ทั้งหมด โดยในปี 2550 คาดว่าตลาดนี้จะมีอัตราการเติบโตจากปี 2549 ราว 12% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขยายของบริการสื่อสารข้อมูลและบริการ อินเทอร์เน็ต คาดว่าในปี 2551 ตลาดนี้จะมูลค่าราว 1.89 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14 ทั้งนี้ คาดว่าเป็นผลมาจากการหดตัวลงของการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ภายหลังจากการ ขยายบริการโทรศัพท์ราคาประหยัดไปกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2549-2550

สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตคาดว่าประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มากกว่า 1.2 ล้านราย และมีมากกว่า 1.7 ล้านราย ในปี 2551

Company Related Links :
IDC
กำลังโหลดความคิดเห็น