ผู้บริหารโมโตโรลายอมรับ ไม่มีแผนการทดลองเทคโนโลยีไวแม็กซ์ (WiMax) ใดๆในประเทศไทยจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล แย้มหากได้ใบอนุญาตจะดำเนินธุรกิจไวแม็กซ์ในไทยตามรูปแบบที่โมโตโรลาทำในปากีสถาน ซึ่งกำลังมีทิศทางสดใสมากในขณะนี้ ระบุว่าโมโตโรลาพร้อมทดสอบโซลูชันบรอดแบนด์ไร้สายนามคาโนปี (Canopy) ในไทยปลายปีนี้ หลังจากใช้เวลาเดินเรื่องขอคลื่นความถี่จนทำให้ล่าช้ากว่าหลายชาติไปนานหลายปี
มร.เจย์ แอนเดอร์เซน รองประธานฝ่ายขาย ธุรกิจเครือข่ายเคลื่อนที่ โมโตโรลาภาคพื้นเอเชีย ให้สัมภาษณ์กลางงาน Motorola WiMax Think Tank Forum ว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่โมโตโรลาทำได้ในตลาดไวแม็กซ์เมืองไทยขณะนี้คือการรอเวลา
"ผมเชื่อว่ากทช.จะสามารถออกใบอนุญาตไวแม็กซ์ได้ในเร็วๆนี้ เราไม่มีแผนทดลองบริการใดๆในไทยจนกว่าใบอนุญาตจะออก การรอคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ ส่วนตัวเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งจะทำให้สถานการณ์ทุกอย่างในประเทศไทยดีขึ้น"
เจย์ไม่ได้ปฏิเสธว่าโมโตโรลาไม่มีการเจรจากับโอเปอเรเตอร์เมืองไทยเพื่อเตรียมการให้บริการไวแม็กซ์ แต่ระบุว่าไม่สามารถเปิดเผยชื่อโอเปอเรเตอร์ได้ในขณะนี้ และมองว่าตลาดไวแม็กซ์ของประเทศไทยมีโอกาสเติบโตสดใสไม่แพ้ชาติอื่น เนื่องจากความพร้อมของโอเปอเรเตอร์และความต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็งสูงหรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในตลาด
ไวแม็กซ์ (WiMAX) ย่อมาจากคำว่า Worldwide Interoperability for Microwave Access หรือมาตรฐาน IEEE 802.16 คือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงระยะไกล มีรัศมีทำการกว้างถึง 30 ไมล์ (ประมาณ 48 กิโลเมตร) ความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลสูงสุด 75 เมกะบิตต่อวินาที สามารถส่งสัญญาณได้แม้มีสิ่งกีดขวาง เช่น ต้นไม้หรืออาคาร ใช้คลื่นความถี่พิเศษที่ผู้ให้บริการต้องขออนุญาตจากรัฐบาลประเทศนั้นๆ ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีวี่แววการออกใบอนุญาต ทั้งที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามหรือมาเลย์เซียล้วนได้รับไฟเขียวและพร้อมให้บริการในเร็ววัน
แบบเดียวกับปากีฯ
"หากได้รับใบอนุญาตแล้ว สิ่งที่โมโตโรลาจะทำกับตลาดไทยคือการเข้าไปจับกลุ่มองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มขนาดย่อมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เช่นเดียวกับที่เราทำกับ 17 เมืองในประเทศปากีสถานขณะนี้" เจย์ระบุ
เจย์เล่าบนเวทีงานประชุมว่า บริการไวแม็กซ์ของโมโตโรลาในประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และปากีสถานกำลังไปได้สวยในขณะนี้ ได้รับเสียงตอบรับจากกลุ่มองค์กรสำนักงานและธนาคารที่มีสาขาทั่วประเทศ เนื่องจากเทคโนโลยีไวแม็กซ์มีต้นทุนการติดตั้งและการเชื่อมต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายอื่นอย่าง CDMA และ HSPA
"ประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่โมโตโรลาเริ่มต้นทดลองบริการไวแม็กซ์แล้วคือมาเลย์เซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน และบังกลาเทศ ล่าสุดคืออินโดนีเซีย เชื่อว่าตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั่วโลกจะเติบโตขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี การใช้งานบรอดแบนด์ไร้สายจะเพิ่มขึ้นราว 95 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ที่ผ่านมาต้นทุนบรอดแบนด์ไร้สายมีมูลค่าสูงเกินไปจึงทำให้บรอดแบนด์ผ่านสายเคเบิลมีการเติบโตสูงมากกว่า ทั้งหมดนี้คือโอกาสเติบโตของไวแม็กซ์ซึ่งมีต้นทุนการติดตั้งต่ำกว่าเทคโนโลยีอื่น"
มร.สตีฟ เบลล์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ไวแม็กซ์ กล่าวว่าความท้าทายในตลาดไวแม็กซ์ของโมโตโรลาคือ การลดช่องว่างของกราฟจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไดอัลอัป และเชื่อว่าความนิยมในการอัปโหลดข้อมูลขึ้นสู่เว็บไซต์ยูทูบและมายสเปซเป็นหนึ่งในโอกาสที่ทำให้ไวแม็กซ์เติบโต
"จุดหลักที่เราให้ความสำคัญในการทำตลาดไวแม็กซ์คือความเร็ว ความง่าย และความสามารถในการเคลื่อนที่" เรื่องนี้สอดคล้องกับแนวคิดการออกโซลูชันไวแม็กซ์ครบวงจรของโมโตโรลานาม ไวโฟร์ไวแม็กซ์ (Wi4 WiMAX) ที่ยืนยันว่าโมโตโรลามีสินค้ารองรับเทคโนโลยีไวแม็กซ์ทั้งระบบ ครอบคลุมทั้งเครือข่ายและอุปกรณ์สำหรับใช้ภายในและนอกอาคาร การ์ดรับสัญญาณสำหรับเสียบกับคอมพิวเตอร์พีซี อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ และชุดชิปเซ็ต
ฟันธงไวแม็กซ์โต
แม้จะมีกลุ่มตลาดเดียวกัน แต่ศาสตราจารย์เฟอร์รี่ หู ประธาน WiMax Forum ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ยืนยันว่าไวแม็กซ์ไม่ใช้คู่แข่งของเทคโนโลยี 3G ซึ่งทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสามารถท่องอินเทอร์เน็ตขณะเคลื่อนที่ได้ เรื่องนี้ตรงกับความเห็นของเจย์ ซึ่งมองว่าความหลากหลายของอุปกรณ์เทคโนโลยี 3G ในตลาดที่มากกว่า ไม่ได้เป็นจุดอ่อนของไวแม็กซ์
"จำนวนอุปกรณ์ 3G ที่มากกว่าไวแม็กซ์ในตลาดไม่ใช่จุดอ่อน 3G ก็เหมือนเทคโนโลยีทั่วไปที่มีออกมาก่อน ก็มีอุปกรณ์มากกว่า ขณะเดียวกัน 3G และไวแม็กซ์ถูกออกแบบมาแตกต่างกัน 3G เน้นต่อยอดเครือข่าย GSM ขณะที่ไวแม็กซ์เน้นต่อยอดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ระบบไอพี จึงไม่ใช่คู่แข่งกัน"
มร.บิล โรจาส ประธานฝ่ายบริการโทรคม บริษัทวิจัยไอดีซีเชื่อว่า 3G จะไม่เติบโตในเอเชียเท่ากับไวแม็กซ์ โดยมองว่าไวแม็กซ์จะสามารถเติบโตในส่วนการศึกษาของประเทศกำลังพัฒนา จุดนี้เจย์ยอมรับว่าภาคการศึกษาจะเป็นตลาดหลักของไวแม็กซ์ในอนาคต
โมโตโรลาอ้างข้อมูลของบริษัทวิจัยแยงกี้กรุ้ป ว่าสมาชิกผู้ใช้บริการไวแม็กซ์ทั่วโลกอาจจะขยายตัวจาก 3.4 ล้านคนเป็น 27 ล้านคนระหว่างปี 2006 ถึง 2011 และการลงทุนเครือข่ายเทคโนโลยีไวแม็กซ์ของผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกจะเพิ่มจาก 550 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2006 มาเป็น 3.90 พันล้านเหรียญในปี 2010
ปลายปีพร้อมทดสอบคาโนปี
คาโนปี (Canopy) คือโซลูชันเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงของโมโตโรลาที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2002 แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้เนื่องจากคลื่นความถี่สาธารณะของไทยไม่ตรงกับคลื่นความถี่ของคาโนปี หลังจากเดินเรื่องขออนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่ ปลายปีนี้คือเวลาที่โมโตโรลาจะทดสอบโซลูชันนี้เสียที
คาโนปีสามารถให้บริการได้ไกลและมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงกว่าไวไฟ (WiFi) จุดเด่นคือความเร็วในการส่งข้อมูงสูงสุด 10Mbps รัศมีไกลถึง 16 กิโลเมตร สามารถทำงานได้ในอุณหภูมิตั้งแต่ -40 ถึง 55 องศาเซลเซียล ทั้งโซลูชันประกอบด้วยเสาส่งสัญญาณ ตัวรับและกระจายสัญญาณ และอุปกรณ์รับสัญญาณปลายทาง
โมโตโรลาไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการจำหน่ายใดๆ รวมถึงข้อมูลเป้าหมายยอดขายที่วางไว้ หยอดคำหวานว่าประเทศไทยมีโอกาสเติบโตสูง แม้ว่าบน Forum จะไม่มีการกล่าวถึงชื่อประเทศไทยเลยก็ตาม
Company Related Links :
Motorola