บก.ปศท. แจงยอดจับกุมองค์กรธุรกิจไทยละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ หลังพล.ต.ต.วิสุทธิ์ นั่งเก้าอี้ได้ 8 เดือน มีสถิติจับกุมการเพิ่มขึ้นถึง 50%เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 187 ล้านบาทจาก 88 คดี ขณะที่บีเอสเอพอใจด้านผู้การบก.ปศท. ย้ำชัด จะลุยจับต่อเนื่อง ทั้งซีดีเถื่อน อุปกรณ์ไอที มือถือ แบตเตอรี่ปลอมไม่สนผู้มีอิทธิพลวิ่งเต้น
พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร ผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี(บก.ปศท.) กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งผู้บังคับการ บก.ปศท. เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา สถิติการจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 50% หรือ มีคดีการจับกุมผู้ละเมิดที่เป็นองค์กรธุรกิจ 88 คดีจากจำนวนซอฟต์แวร์ 3,737 โปรแกรม และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล จำนวน 1,568 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 187 ล้านบาท
และภายในสิ้นปีนี้ บก.ปศท. มีแผนเข้าจับกุมบริษัทละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วประเทศไทยอีกกว่า 40 บริษัทหรือ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 250 ล้านบาท
ทั้งนี้การเข้าจับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ บก.ปศท.ทำงานร่วมกับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์(บีเอสเอ) ในการรับข้อมูลเบาะแส จากกลุ่มประชาชน และผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ก่อนประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจับกุมบริษัทและผู้ที่กระทำผิด ในแหล่งซื้อแหล่งขาย ที่ได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยส่วนใหญ่เป็น บริษัท ห้างหุ้นส่วน และอุตสาหกรรม ที่มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมาย และบริษัทส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นใหญ่
“เป้าหมายของผมคือการจับกุมจริง ใช้กฎหมายจริงจัง ทั้งในส่วนของพรบ.การละเมิดลิขสิทธิ์ รวมไปถึงพรบ.การกระทำผิดทางอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ที่มีการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ละเมิดผ่านอินเทอร์เน็ต โดยผมไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลใดๆซึ่งคาดหวังไว้ว่าในปีหน้าจะสถิติการละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องลดน้อยลง ที่ผมจะทำการจับแบบต่อเนื่องให้ถึงที่สุด”
สำหรับกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ของประเทศไทย การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในองค์กรนั้น จะมีผลทำให้บริษัทและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกิน 8 แสนบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
นายดรุณ ซอร์นีย์ ผู้อำนวยการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเซียของบีเอสเอ กล่าวว่าสถิติการละเมิดซอฟต์แวร์ในประเทศไทยยังไม่ลดลงมากนัก โดยไอดีซีสำรวจพบว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยยังอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูงกว่า 80% อยู่ในอันดับที่ 4 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม
สำหรับคดีละเมิดลิขสิทธ์ด้านซอฟต์แวร์อันดับต้น ได้แก่ ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์ โปรแกรมไมโครซอฟต์ออฟฟิส สำหรับการใช้งานในสำนักงานอุปกรณ์การทำงาน ซอฟต์แวร์การป้องกันไวรัสที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุดของบริษัท ไซแมนเทค ส่วนทางด้านกราฟิคและดีไซน์ ยังคงเป็นอโดบี เช่น โฟโต้ช้อป อิลาสสเตเตอร์ นอกจากนี้ยังมีซอฟต์แวร์ของผู้พัฒนาโดยคนไทย ยังมีการถูกละเมิดเช่นกัน คือ โปรแกรมดิกชั่นนารี่ภาษาไทย
นางสาวศิริภัทร ภัทรางกูร โฆษกกลุ่มบีเอสเอ กล่าวว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ขององค์กรนั้นมีทุกกลุ่มทุกระดับของทุกอุตสาหกรรม ซึ่งเรื่องดังกล่าวบีเอสเอจะพยายามรณรงค์และให้ข้อมูลถึงปัญหาของการละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนสิทธิประโยชน์จากการซื้อผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องจะได้รับสิทธิอะไร หรือ การเลือกใช้ซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้โดยบีเอสเอไม่ต้องการให้เรื่องการจับกุม หรือ การบังคับใช้ทางกฎหมาย เป็นสิ่งที่ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง
“ในปี 2551 บีเอสเอหวังว่าการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์จะลดลง ซึ่งเราจะทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ เจ้าของลิขสิทธิ์รวมไปถึงกิจกรรมของบีเอสเอเองให้ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งยังไม่รวมถึงความร่วมมือกับภาครัฐในการป้องปรามในการละเมิดอีกส่วนหนึ่ง”
พล.ต.ต.วิสุทธิ์ ยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากประเด็นการละเมิดซอฟต์แวร์แล้ว ส่วนของปัญหาการปลอมสินอุปกรณ์ไอที โทรศัพท์มือถือ ทางบก.ปศท.จะเข้าไปเร่งการจับกุมเพื่อลดปัญหาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีกลุ่มประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยที่ผ่านมา บก.ปศท. ได้มีการเข้าจับกุมผู้ค้าโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อโนเกียปลอม เป็นจำนวน 500 เครื่อง และยังมีการขยายผลการจับกุมไปยังกลุ่มผู้ค้าแบตเตอรี่ปลอมอีกด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ของที่ปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอันตรายขณะใช้งาน และ ประเทศชาติเกิดความเสียหาย จากการที่ได้มีสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาจำหน่ายในท้องตลาด ทำให้ต่างประเทศจะลดการซื้อสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย โดยเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ส่งเสริมการใช้สินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
Company Related Links :
BSA