“ทีโอที” เพิ่งตื่น ยื่นฟ้องเทเลเมติกส์กับ SAG ฮั้วกันเรื่องระบบบิลลิ่ง ทั้งๆที่มีการตีแผ่ให้เห็นความสัมพันธ์ของการประมูลไม่โปร่งใส งานนี้คนรับผิดชอบชื่อ ‘ชัยเชวง กฤตยาคม’ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่วนการแก้ไขปัญหาระบบบิลลิ่ง ยังมีเหตุการณ์งามหน้าปรากฏเป็นระยะ ไม่เหมือนที่รองกิตติพงศ์ชอบพูดแต่ว่าไม่มีปัญหา ด้านบอร์ดเล็กเล็งขึ้นแบล็กลิสต์บริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 5.6 แสนเลขหมายที่ล่าช้า พร้อมเทกโอเว่อร์ระบบบริหารทีโอทีทั้งหมด
นายชิต เหล่าวัฒนา โฆษกบอร์ดบริษัททีโอที กล่าวว่า ในวันที่ 4 เมษายนนี้ บอร์ดกลั่นกรองและตรวจสอบจะเรียกผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการระบบบิลลิ่ง เข้ามาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาระบบบิลลิ่ง ที่เปิดใช้งานมาเป็นเวลา 2 ปี ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนส่งผลให้ทีโอที ได้รับความเสียหายในด้านการจัดเก็บรายได้ อีกทั้งยังถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบฝ่ายบริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดจ้าง
“เราจะเชิญผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ มาจนถึงผู้รับผิดชอบในปัจจุบันมาชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา หากมีอะไรไม่ชอบมาพากลก็อาจจะมีการโยกย้ายและตรวจสอบเชิงลึก เพราะที่ผ่านมาฝ่ายบริหารมักโยนกันไปมาอย่างรองกิตติพงศ์ก็ให้แค่ข้อมูลระดับหนึ่ง”
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดเล็กได้มีการหารือกับ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ประธานบอร์ดทีโอทีนอกรอบเกี่ยวกับปัญหาโครงการต่างๆ ซึ่งนายชิต ได้กล่าวว่า ประธานบอร์ดมีความเป็นห่วงถึงปัญหาและต้องการสร้างบรรทัดฐานในการวางโครงสร้างให้ทีโอที สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคตได้ และเป็นองค์กรของรัฐที่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เขากล่าวอีกว่า บอร์ดไม่ต้องการปลดฝ่ายบริหาร และคนที่รับผิดชอบ ทุกๆครั้งที่ประชุมบอร์ด แต่บอร์ดต้องการให้ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ และตระหนักในการทำงานเพื่อให้บริการแก่ประชาชนมากขึ้น ที่ผ่านมาหากมีอะไรทางบอร์ดพร้อมรับฟังและพร้อมเข้าแก้ไข แต่ถ้ายังเป็นแบบนี้ในอนาคตฝ่ายบริหารทีโอทีทุกคนคงอาจจะต้องถูกสอบสวนและถูกโยกย้าย
ทั้งนี้ ในการประชุมบอร์ดเมื่อ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ นายสมควร บูรมินเหนทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปลิสต์โครงการสำคัญและเรื่องเร่งด่วนมานำเสนอต่อบอร์ด ทั้งเรื่องปัญหา และการแก้ไขเพื่อพิจารณา
สั่งฟ้อง 2 คู่หูป่วนบิลลิ่ง
แหล่งข่าวจากบริษัท ทีโอที กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสมควร บูรมินเหนทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้สั่งการให้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัท เทเลเมติกส์ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าระบบบิลลิ่ง กับบริษัท ซิสเต็ม แอ๊ดไวเซอร์ กรุ๊ป หรือ SAG หลังพบว่าทั้ง 2 บริษัทมีการดำเนินการลักษณะฉ้อฉลซึ่งทำให้ทีโอทีเสียหายอย่างมาก
ตามมูลหนี้สัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาจ้างระหว่าง SAG กับเทเลเมติกส์ ทำให้ SAG กลายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึดทรัพย์ของเทเลเมติกส์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของทีโอทีในฐานะผู้เช่า ซึ่งได้แก่ใบแจ้งหนี้และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเดียวที่เทเลเมติกส์มีอยู่แต่เป็นทรัพย์สินที่มีความสำคัญยิ่งกับกับธุรกิจของทีโอที หากปล่อยให้มีการยึดไปก็จะสร้างความเสียหายให้กับทีโอที ถึงแม้ทีโอทีจะฟ้องร้องให้เทเลเมติกส์ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็อาจใช้เวลานานมาก อีกทั้งเทเลเมติกส์แพ้คดีก็ไม่มีทรัพย์สินใดๆอีกแล้วที่ทีโอทีจะยึดมาบังคับชำระหนี้ค่าเสียหายดังกล่าวได้
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลหนี้ พฤติกรรมการฟ้องคดี ตลอดจนการทำยอมในศาลอย่างรวดเร็วอีกทั้งมีรายละเอียดที่ตรวจสอบพบว่ากรรมการและผู้ถือหุ้นของ SAG เคยเป็นกรรมการชุดเดิมของเทเลเมติกส์และปัจจุบันคณะกรรมการของ SAG ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นในเทเลเมติกส์อยู่ จึงน่าเชื่อว่ามูลหนี้ดังกล่าวไม่มีอยู่จริง
ฝ่ายกฎหมายของทีโอทีจึงเห็นว่าสัญญาจ้างและสัญญากู้เงินที่นำมาฟ้องร้องหนี้เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมกันของคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย คือ SAG กับเทเลเมติกส์ จึงตกเป็นโมฆะเพราะคู่กรณีไม่มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามนิติสัมพันธ์ที่แสดงออกมา โดยสัญญาจ้างและสัญญากู้ดังกล่าวเป็นการหลอกลวงว่าคู่กรณีเป็นหนี้กันจริง เพื่อให้เกิดการบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินที่ทีโอทีเช่าอยู่เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองเพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากทีโอที ซึ่งเทเลเมติกส์ไม่สามารถบังคับได้เพราะเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาจึงเปลี่ยนตัวให้ SAG เข้ามาบังคับแทนในฐานะเจ้าหนี้ของเทเลเมติกส์
แหล่งข่าวกล่าวย้ำว่า เมื่อสัญญาจ้างและสัญญากู้ดังกล่าวของคู่กรณีทั้งสองเป็นการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคแรก ทีโอทีซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีสิทธิที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172
ขณะเดียวกัน การกระทำอันเดียวกันนี้อาจเข้าลักษณะนิติกรรมที่เป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ด้วย
“ดังนั้น ทีโอทีจึงควรดำเนินการฟ้องร้องเทเลเมติกส์และ SAG เป็นคดีความต่อศาลและพร้อมกับยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของทีโอที ในระหว่างการพิจารณาหรือบังคับตามคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264”
‘ชัยเชวง’ ต้องรับผิดชอบ
แหล่งข่าวกล่าวว่าโครงการระบบบิลลิ่งมีนายชัยเชวง กฤตยาคม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นประธานประกวดราคา ซึ่งในช่วงระหว่างการประมูลได้มีการตีแผ่ความไม่โปร่งใสของที่ปรึกษาโครงการที่เป็นผู้ที่เขียนทีโออาร์และเป็นผู้ทำการทดสอบ Benchmark คือบริษัท ยู.ซี.อี.ซีกับเทเลเมติกส์ ผ่านการถือหุ้นร่วมในบริษัท SAG
กล่าวคือบริษัท ยู.ซี.อี.ซี.ในทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 45 มีนายไพศาล สินธนา ถือหุ้น 48,995 หุ้น นายองค์การ อินทรัมพรรย์ ถือหุ้น 10,000 หุ้น นอกจากนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งสิ่งที่โยงใยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องจากบริษัท ยู.ซี.อี.ซี. กับเทเลเมติกส์ คือบริษัท SAG ซึ่งมีนายองค์การ อินทรัมพรรย์ มีรายชื่อเป็นถือหุ้นอีก 50,000 หุ้นใน SAG ตามทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อ วันที่ 30 เม.ย.45 ร่วมกับผู้ถือหุ้นคนอื่นที่น่าสนใจคือนายวิศาล นีรนาทโกมลถือ 5,070,000 หุ้น นางพัชรี นีรนาทโกมล 4,829,970 หุ้น ที่เหลือเป็นตัวประกอบอย่าง นางสาวสุกัญญา หมู่พุทธรักษ์ 10 หุ้น นางเพชรน้อย ฉัตรแก้ว 10 หุ้น
เมื่อค้นไปยังทะเบียนผู้ถือหุ้น บริษัท เทเลเมติกส์ เมื่อวันที่ 6 ก.พ.46 พบว่า นายวิศาล นีรนาทโกมล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 1,089,950 หุ้น นางพัชรี นีรนาทโกมล ถือหุ้น 50,000 หุ้น และมีตัวประกอบอย่างนางสาวสุกัญญาหมู่พุทธรักษ์ 10 หุ้น และนางเพชรน้อย ฉัตรแก้ว 10 หุ้น ซึ่งดูจากรายชื่อผู้ถือหุ้น แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใน SAG กับเทเลเมติกส์ เป็น กลุ่มเดียวกัน และมีความสัมพันธ์กับบริษัท ยู.ซี.อี.ซี.ในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนกัน ถึงขนาดในช่วงของการประมูลมีการกล่าวกันถึงขนาดว่า SAG เปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นเทเลเมติกส์
อย่างไรก็ตาม ขนาดที่มีการตีแผ่ถึงความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นผ่านการถือหุ้นไขว้กันไปมา แต่ปรากฏว่าคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ประธานบอร์ดทีโอทีช่วงนั้น นายเข็มชัย ชุติวงศ์ กรรมการบอร์ดทีโอที และนายชัยเชวง ต่างเรียงหน้ากระดานแอ่นอกรับผิดชอบว่าทุกอย่างโปร่งใส เนื่องจากโครงการนี้มีการวางแผนจัดฉากล่วงหน้ามานานตั้งแต่สมัยนายสุธรรม มลิลาเป็นผู้อำนวยการ ทศท รวมทั้งมีเอ็ม-ลิ้งค์เป็นบริษัทคู่เทียบในการประมูล
ส่วนตัวนายชัยเชวงนั้นหลังจากมีผลงานชิ้นโบแดงเรื่องประเคนระบบบิ่ลลิ่งให้เทเลเมติกส์แล้วก็ยังได้ปูนบำเหน็จไปเป็นประธานตรวจรับโครงการโทรศัพท์ 5.6 แสนเลขหมายที่แทงข้างหลังกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปิดบังข้อมูลความล่าช้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้
“ในตอนประมูลบิลลิ่งไม่มีใครกล้าว่าข้อมูลมั่วสักคน มีแต่อ้างว่าการถือหุ้นไขว้กันไม่น่าจะมีผล แต่ปรากฏว่าบอร์ดเล็กทีโอทีตอนนี้บางคนกลับเชื่อผู้บริหารทีโอทีที่พยายามปัดสวะพ้นตัว หาว่าข้อมูลดังกล่าวมั่ว พล.อ.สพรั่ง ประธานบอร์ดน่าจะให้ความสนใจสักหน่อย เพราะท่านบอกว่าเลือกกรรมการบอร์ดมากับมือ แต่พฤติกรรมบอร์ดเล็กบางคนน่าสงสัยมาก”
ระบบบิลลิ่งยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง
การวางตัวนายกิตติพงศ์ เตมียะประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที ให้เข้ามาแก้ปัญหาระบบบิ่ลลิ่ง ก็เหมือนกับการซุกขยะไว้ใต้พรม ภาพภายนอกการตอบคำถามผู้ใหญ่ มักได้ยินเสมอว่าแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว แต่จะออกอาการขุ่นเคือง หากมีคนในทีโอที ปูดปัญหาความบกพร่องของระบบบิลลิ่งที่แก้ไม่จบไม่สิ้นสักทีออกสู่โลกภายนอก
นอกจากนี้ทีโอทียังแสดงลักษณะใหญ่โตใส่ลูกค้า ทั้งๆที่เป็นความผิดจากระบบบิลลิ่ง ลูกค้ารายล่าสุดที่เจอเหตุการณ์ประทับใจจากทีโอที เป็นหนังสือเลขที่ ทีโอที จล./18 เรื่อง รายการชำระค่าใช้บริการด้วยวิธีหักผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร/บัญชีบัตรเครดิต โดยเนื้อความในจดหมายระบุว่า ตามที่ทีโอทีได้รับชำระค่าใช้บริการจากท่านตามใบแจ้งค่าใช้บริการ ประจำเดือน ธ.ค.49 เรียบร้อยแล้ว และได้จัดส่งใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้ท่านพร้อมกับใบแจ้งค่าใช้บริการประจำเดือนม.ค.50 แล้วนั้น
ในการนี้ ทีโอทีขอแจ้งให้ท่านทราบว่าใบแจ้งค่าใช้บริการประจำเดือนม.ค.50 ยังไม่ได้แสดงจำนวนเงินที่หักจากบัญชีของท่านข้างต้นในรายการยอดชำระแล้วเนื่องจากมีข้อขัดข้องในการประมวลผลรายการทั้งนี้ทีโอทีจะนำยอดเงินที่ได้รับชำระหนี้ไปรวมแสดงในยอดชำระแล้วในใบแจ้งค่าใช้บริการประจำเดือน ก.พ. 50 ต่อไป
“ขนาดเป็นความบกพร่องจากระบบประมวลผล แต่หัวเรื่องยังไม่ยอมขอโทษลูกค้าแต่อ้างว่าเป็นเรื่องตัดบัญชี หางแถวยังเป็นอย่างนี้ หัวแถวถึงได้บอกว่าระบบบิลลิ่งไม่มีปัญหา”
ค่าโง่บิลลิ่งซ้ำซาก
ระบบบิลลิ่งเปิดใช้มาตั้งแต่วันเดือนเม.ย. 48 โดยทีโอทีทำสัญญา 5 ปีกับเทเลเมติกส์มูลค่า 1,175 ล้านบาทหรือค่าเช่า 19 ล้านบาทต่อเดือนนั้น ทั้งนี้ฝ่ายบริหารทีโอทีเห็นว่าการฟ้องร้องเทเลเมติกส์กับ SAG ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ปัญหาที่แท้จริงก็คือระบบบิลลิ่งเป็นหัวใจในการทำธุรกิจของทีโอที ทีโอทีควรเป็นผู้ดำเนินการเองหรือแม้จะเป็นการดำเนินการตามสัญญาเช่า ทีโอทีก็ควรจัดหาระบบสำรองเตรียมไว้สำหรับกรณีผิดพลาดดังกล่าว สัญญานี้ทีโอทีไม่สามารถบังคับให้เทเลเมติกส์ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาได้ ก็เนื่องมาจากการขาดอำนาจในการเจรจาต่อรอง แม่จะดำเนินการยกเลิกสัญญาก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่สามารถจัดหาระบบอื่นมาทดแทนได้ทันเวลา
แหล่งข่าวกล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ทีโอทีจะจัดหาระบบบิลลิ่งใหม่ หรือเสียค่าโง่ซ้ำสอง หากไม่สามารถหาคนกระทำผิดจากระบบบิลลิ่งของเทเลเมติกส์ได้ เพราะในช่วงที่มีการเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์มือถือเป็น 10 หลัก ทั้งๆ ที่คนทีโอทีสามารถเขียนซอฟต์แวร์จัดการลงในระบบบิลลิ่งได้ แต่ปรากฏว่ามีการจ้างบริษัทภายนอกเขียนซอฟต์แวร์ด้วยเงินถึง 32 ล้านบาท
เล็งขึ้นแบล็กลิสต์คู่ค้าทีโอที
นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการบอร์ด ทีโอที กล่าวว่า ระบบบิลลิ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งที่บอร์ดให้ความสนใจ ไม่ต่างจากโครงการโทรศัพท์ 5.6 แสนเลขหมายที่ระบบไม่สามารถใช้งานได้ตามสัญญาจ้าง ทั้งนี้ บอร์ดมีแผนขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) กลุ่มผู้เข้าประมูล หรือผู้รับจ้างงาน เพื่อให้ไม่สามารถเข้าประมูลโครงการอื่นๆ ของทีโอทีได้อีก อย่างกรณี บริษัท ซีเมนส์ กิจการร่วมค้าอีริคสันที่ร่วมกับบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี ผู้ติดตั้งโครงการขยายเลขหมาย 5.6 แสนเลขหมาย ที่ส่งมอบโครงการล่าช้าออกไปร่วมปีทำให้ทีโอทีเสียโอกาสทางธุรกิจ
“เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ดีว่าหากปล่อยไว้แบบนี้ ทีโอทีจะเจ๊งใน 3 ปีอย่างแน่นอน โดยตอนนี้บอร์ดได้วางภาพใหญ่ ซึ่งคือยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนก่อนแล้วค่อยมาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เปรียบเหมือนกับพนักงานบนรถไฟบริการไม่ดี แต่รถไฟกำลังจะตกเหว ก็จำเป็นต้องจัดการกับเรื่องที่ใหญ่กว่าก่อน การที่ดูเหมือนเกียร์ว่าง ไม่ใช่บอร์ดแต่เป็นฝ่ายบริหารที่ไม่ดำเนินการอะไร มีแต่นำเสนอบอร์ดเพียงอย่างเดียวทั้งที่มีหลายโครงการที่จะต้องเร่งดำเนินการ”
ทั้งนี้ บอร์ดได้เตรียมวางยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของทีโอทีทั้งหมด ทั้งเรื่องการบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ การเลือกเทคโนโลยี และกิจการร่วมค้าไทยโมบาย จะดำเนินการไปอย่างไร เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการบริหาร หลังจากนั้น จะปรับปรุงโครงสร้างระดับบริหารทั้งหมด เพราะปัจจุบันระดับบริหารถือเป็นปัญหาหลักของทีโอทีอย่างมาก จากการที่ไม่รู้จักปรับตัวรับการแข่งขันซึ่งบอร์ดชุดนี้ทราบดีและพยายามแก้ปัญหาอยู่ เพียงแต่ต้องดำเนินการในระดับนโยบายให้ชัดเจนเสียก่อน
Company Related Links :
TOT