xs
xsm
sm
md
lg

“อารีย์” รับลูก “สนธิ” นำ กฟน.ร่วม “เทเลคอมพูล” ย้ำแนวคิดรวมเครือข่ายได้แต่ห้ามผูกขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มท.1 รับแนวทาง พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน นำโครงข่ายของการไฟฟ้านครหลวงเข้าร่วม “เทเลคอมพูล” ของทีโอที-กสท มีความเป็นไปได้ เล็งเจรจาหารือนอกรอบร่วมกัน  ขณะที่ประธาน กทช.ชี้รวมได้แต่อย่าผูกขาด คิดจะรวมต้องระมัดระวัง อาจขัดต่อกฎหมาย  ด้านผู้ว่า กฟน.ยังไม่รู้รายละเอียดกับแนวคิด แต่พร้อมหารือร่วม ซึ่งล่าสุดรับมอบไลเซนส์อย่างเป็นทางการ เตรียมเปิดให้เช่าโครงข่ายบริการบรอดแบนด์ เคเบิลทีวี ไตรมาสแรกของปี 51

นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย กล่าวในฐานะผู้กำกับดูแลการไฟฟ้านครหลวงว่า แนวทางการรวมโครงข่ายแห่งชาติ หรือ “เทเลคอมพูล” มีความเป็นไปได้ที่จะนำส่วนของการไฟฟ้านครหลวงเข้าไปรวมด้วย ซึ่งเรื่องนี้ตนจะหารือกับ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อทราบถึงรายละเอียดและแนวทางที่นำโครงข่ายไปรวมกับบริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งเบื้องต้น กฟน.ได้มีแนวทางนำโครงข่ายเข้าร่วมกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ให้เชื่อมต่อหากัน ซึ่งหากมีการรวมโครงข่ายจะเกิดผลดีต่อการนำประโยชน์ไปให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ในพื้นที่ห่างไกล

“มีความเป็นไปได้ ที่จะนำมารวมกัน ซึ่งมหาดไทยก็เคยมีหารือในประเด็นนี้ถึงการนำบริการโทรคมนาคมให้ไปทั่วถึงกับประชาชน โดยจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งถึงแนวทางที่จะเกิดขึ้น”

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า การนำโครงข่ายมารวมกัน หากรวมกันเพื่อให้บริการอย่างทั่วถึงจะเป็นผลดีแต่ไม่สามารถผูกขาดได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง อาจขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544

ด้าน นายสุรนันท์ วงศ์วิทยะกำจร เลขาธิการ กทช.กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามว่าเป็นนโยบายรัฐบาลหรือยัง หากยังไม่ผ่านเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ถือว่ายังไม่เป็นนโยบายจากรัฐบาลโดยตรง  อีกทั้งหากมีการตั้งคำถามต่อแนวทางที่เกิดขึ้น การทำแบบนี้จะเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ ถ้าตอบไม่ได้ก็ไม่ควรดำเนินการ คำถามต่อไปคือการทำแบบนี้จะกลับไปสู่ระบบการผูกขาดแบบเดิมหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาการตั้ง กทช.ขึ้นมาทุกฝ่ายต้องการสร้างระบบการแข่งขันเสรีไม่มีการผูกขาด เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกและได้รับประโยชน์สูงสุด

นายพรเทพ  ธัญญพงศ์ชัย  ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ระหว่างนี้ยังไม่สามารถตอบได้ถึงการนำ กฟน.ไปรวมกับ ทีโอที กสท หรือเทเลคอมพูลได้ เพราะยังไม่ได้รับข้อมูลโดยตรงหรือทราบถึงแนวทางโดยละเอียด  แต่ถ้าเชิญ กฟน.ไปหารือเพื่อทราบถึงหลักการหรือแนวคิด ตนพร้อมที่เข้าร่วมเจรจา

“เทเลคอมพูลยังเป็นเรื่องใหม่ ผมยังไม่ทราบรายละเอียดในหลักการและแนวทางอย่างแน่ชัด ทราบจากสื่อจึงยังไม่สามารถตอบคำถามได้  ซึ่งเรื่องนี้มันมีรายละเอียดและต้องดูแนวคิดว่าทำอย่างไร แต่เบื้องต้น กฟน.มีแนวทางนำโครงข่ายไปเชื่อมต่อร่วมกับ กฟภ. กฟผ. เพื่อให้โครงข่ายครอบคลุมการให้บริการได้ทั่วประเทศ”

และเมื่อวานนี้ (22 มีนาคม) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ทำพิธีมอบใบอนุญาต (ไลเซนส์) ประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 (มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง) ให้กับการไฟฟ้านครหลวง โดยมี รมว.มหาดไทย เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยกลุ่มผู้ให้บริการสื่อสาร อินเทอร์เน็ต เคเบิลทีวี มาร่วมแสดงความยินดี

นายพรเทพ กล่าวว่า กฟน. มีแผนจะดำเนินธุรกิจหลังจากได้รับไลเซนส์  โดยตนได้เสนอต่อ กทช. ในการนำโครงข่ายสายไฟฟ้าจำหน่ายแรงต่ำมาใช้กับโครงข่ายเข้าถึงอินเตอร์ความเร็วสูง (บรอดแบรนด์)  ซึ่งตามแผนธุรกิจ กฟน.จะเริ่มจากเขตกรุงเทพฯ ชั้นในก่อนขยาย พื้นที่การให้บริการออกไปสู่เขตกรุงเทพมหานครชั้นนอก สมุทรปราการ นนทบุรี ซึ่งโครงข่ายจะครอบคลุม 2.5 ล้านครัวเรือน

สำหรับแผนรายได้ธุรกิจใหม่ของ กฟน.ครั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการคาดการณ์รายได้จะเพิ่มจากการทำธุรกิจดังกล่าว ประมาณ 130 ล้านบาทในปีแรก จากนั้นจะเพิ่มอย่างก้าวกระโดดในปีถัดๆ ไป ทั้งนี้จะสามารถเริ่มทำผลกำไรได้ นับตั้งแต่สิ้นปีที่ พ.ศ.2553  โดยบริการให้เช่าโครงข่าย กฟน.จะสามารถเริ่มให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551

ผู้ว่า กฟน.กล่าวอีกว่า การให้บริการด้านโทรคมนาคมของ กฟน.ได้พิจารณาทางด้านกฎหมายแล้ว จึงสามารถดำเนินงานได้ โดยการบริการจะทำตามกฎหมายทั้งส่วนกระทรวงพาณิชย์ และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2544

“การเข้าสู่ตลาดธุรกิจโทรคมนาคมของการไฟฟ้านครหลวงจะส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นการคืนกำไรให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า และเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่สินทรัพย์ของการไฟฟ้านครหลวงอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนราคาค่าบริการมั่นใจได้ว่า กฟน.จะไม่เอาเปรียบประชาชน และผู้ประกอบการเอกชน เพราะ กฟน.ระลึกดีว่าตนเองเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำประโยชน์ให้ประเทศ”

อย่างไรก็ดี การบริการโทรคมนาคม จาก กฟน.ไม่ได้เป็นการลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจโดยตรง แต่เป็นการนำเอาสินทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการใช้งาน มาดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มเติมบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ให้สูงขึ้น กฟน.ได้เริ่มนำโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงมาใช้สนับสนุนในงานให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้ามาตั้งแต่เมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว

ขณะที่แหล่งข่าวจาก กฟน.กล่าวว่า อัตราค่าบริการบรอดแบนด์เพาเวอร์ไลน์  จะเป็นอัตราค่าเหมาจ่ายเบื้องต้น 200 บาทต่อเดือน โดยจะมีความเร็ว 100 Gbps ซึ่งเป็นระดับความเร็วสูงสุดของสายส่งที่ใช้งานอยู่ โดยขณะนี้มีไอเอสพีมาขอเช่าใช้แล้วเกือบ 20 ราย รวมกลุ่มผู้ให้บริการเคเบิลทีวี อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งลักษณะใช้งานจะมีกล่องแปลงสัญญาณที่นำไปเสียบเชื่อมต่อกับเต้ารับไฟฟ้า 220 โวลต์ภายในบ้าน ส่วนระบบเก็บเงิน (บิลลิ่ง) ในใบแจ้งจะแยกหน่วยการใช้บริการไฟฟ้า และค่าใช้บริการบรอดแบนด์ หรือเคเบิลทีวี

Company Relate Like :
กฟน.
ทีโอที
กสท
>
กำลังโหลดความคิดเห็น