xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐตรวจสอบผู้ให้บริการอี-ออกชัน อุดช่องโกงกันชาติพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทุ้งรัฐบาลให้กรมบัญชีกลาง ดีเอสไอตรวจสอบผู้ให้บริการอี-ออกชันที่มีมากเกินไป หวั่นรวมหัวกันดัมป์ราคา เปิดเส้นทางฮั้วแนบเนียน พังยิ่งกว่าการเปิดซองประมูล ด้านพันธวณิชยังยืนหยัดนโยบายไม่แข่งราคา เน้นคุณภาพ พร้อมโชว์ผลประกอบการปี 49 รายได้รวม 168 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 215 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากวงการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-ออกชัน กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการอี-ออกชันถึง 12 ราย จากเดิมมี 9 ราย โดยมี กสท โทรคมนาคม เปิดให้บริการเป็นรายที่ 10 เมื่อปี 2549 และปีนี้เพิ่มอีก 2 รายคือ ทีโอที กับบริษัทสเปซวาย ที่อยู่จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้มีมากเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้เกิดการดัมป์ราคาจนพังทั้งระบบ กรมบัญชีกลาง กับตำรวจสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ น่าจะมีการตรวจสอบถึงที่มาที่ไป รวมถึงความโปร่งใสในการให้บริการ เพราะหากจะให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจประเภทนี้ ผู้ประกอบการควรมีไม่เกิน 7 ราย

“เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบกันจริงๆ เพราะถ้าตัดราคากันเองเจ๊ง เหมือนปืนอยู่ฝ่ายคนดีก็ยิงโจร ถ้าอยู่ฝ่ายโจรก็ยิงคนดี และจะเป็นการโกงที่ถูกกฎหมายและเนียนมาก” แหล่งข่าวกล่าวและว่าการที่ กสท กับทีโอที เปิดให้บริการโดยจริยธรรมไม่ควรทำ เหมือนพระไม่ควรวิจารณ์การเมือง ทั้งนี้ แม้ภาครัฐจะได้เปรียบในการที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีเครือข่ายอยู่มาก แต่หากเป็นเรื่องการตลาดไม่กลัว สามารถสู้ได้อยู่แล้ว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การเปิดประมูลหลักๆ จะมี 3 เรื่องคือ ทีโออาร์ ประกวดราคา และการตรวจรับ เรื่องประกวดราคาน่าจะให้เอกชนทำ เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน

“ระบบนี้ไม่ได้กันการโกงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทำให้การฮั้วหรือการโกงทำได้ยากขึ้น และเป็นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้ ดีกว่าการเปิดซองราคา”

สำหรับการประมูลภาครัฐตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 มีงบ 3.05 แสนล้านบาท ต้องมีการประมูลแบบอี-ออกชัน 2 หมื่นครั้ง แต่ทำไป 1.2 หมื่นครั้ง สามารถประหยัดงบได้ 1.2 หมื่นล้านบาท ปี 2549 งบ 3.24 แสนล้านบาท ต้องประมูล 2.2 หมื่นครั้ง แต่ทำไป 8 พันครั้ง ประหยัดงบได้ 8 พันล้านบาท การที่มีการทำออกชันน้อยลง เพราะหน่วยงานรัฐอ้างว่าทำไม่ทัน รอบปี 2550 นี้ มีงบ 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งแหล่งข่าวย้ำว่า เป็นปีที่น่ากลัวกว่าปี 49 โดยเฉพาะปัญหาที่อ้างว่าทำไม่ทัน ต้องทำแบบเปิดซองราคา จึงทำให้เกิดการคอร์รัปชันง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การออกกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการประมูล หรือจัดซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หากกฎไหนทำให้ธุรกิจนี้แข็งแรงจะออกช้ามาก ถ้ากฎไหนที่ทำให้ธุรกิจประเภทนี้อ่อนแอ 2 สัปดาห์ผ่านครม.

พันธวณิชเน้นคุณภาพไม่แข่งราคา

ด้านนายไตร กาญจนดุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พันธวณิช ผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-มาร์เก็ตเพลส และบริการด้านการจัดซื้อครบวงจร หรืออีโพรเคียวเมนต์ โซลูชัน โพรวายเดอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการจัดซื้อจัดหา ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนและรัฐบาล เพราะสามารถสร้างประโยชน์ได้คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดหา รวมถึงการมีธรรมาภิบาลในกระบวนการจัดซื้อ

แต่ขณะนี้ปริมาณการซื้อขายผ่านระบบยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าของสินค้าที่สามารถนำมาซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และปัจจุบันภาคเอกชนเริ่มให้ความสนใจในการนำระบบการจัดซื้อทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในธุรกิจตัวเอง แต่ยังให้ความสนใจกับขั้นตอนการวางแผนการจัดซื้อยังมีอยู่น้อย ส่วนการประมูลออนไลน์ภาครัฐบาลเกิดจากการปรับนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ดับบลิวทีโอ เอเปก เอฟทีเอ ที่เน้นความโปร่งใสในการจัดซื้อของภาครัฐ

ในมุมมองของผู้บริหารพันธวณิชเชื่อว่า การจัดซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ยังมีโอกาสโตได้อีกมากในภาครัฐ ส่วนตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ภาคเอกชนที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่มีแผนการนำเอาระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยอี-โพรเคียวเมนต์ไปใช้ในองค์กรมากขึ้น ขณะที่องค์กรขนาดกลางและเล็กก็เริ่มให้ความสนใจในการนำระบบไปใช้มากขึ้นด้วย

ส่วนผลการดำเนินงานรอบปี 2549 พันธวณิชมีรายได้รวม 168 ล้านบาท โตขึ้น 14% มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 16% ขณะที่ปี 2548 มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 22% และปีนี้พันธวณิชตั้งเป้าไว้ว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 215 ล้านบาท และต้องการมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 20%

“แม้มาร์เก็ตแชร์เราจะลดลง แต่รายได้เราเพิ่มขึ้น เพราะเราเน้นเรื่องคุณภาพ ทำให้ลูกค้ามั่นใจในบริการ และไม่มีการลดราคา ซึ่งเป็นนโยบายของเราอยู่แล้วที่จะไม่ตัดราคา หรือดัมป์ราคาแข่ง” พ.อ.รังสี กิติญานทรัพย์ ที่ปรึกษาประธาน พันธวณิช กล่าว

Company Related Links :
TOT
พันธวณิช
กำลังโหลดความคิดเห็น