xs
xsm
sm
md
lg

ไลเซ่นส์ “ไวแมกซ์” ใกล้คลอด กทช.เร่งจัดทำแผนก่อนสิ้นปี 50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไวแม็ก ของประเทศไทยเริ่มเคาะระฆัง กทช. เดินร่างแผนจัดสรรคลื่นความถี่ให้บริการ คาดไม่เกินสิ้นปีนี้ไลเซ่นส์คลอดได้  วิ่งบนคลื่น 2.5 GHz และ 3.5 GHz  ส่วน 5 GHz ต้องศึกษาผลกระทบคลื่นรบกวน เหตุดาวเทียมไอพีสตาร์ใช้ย่านนี้อยู่  งานนี้จัดสรรตามเกณฑ์ ITU ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นกับกิจการโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ไปพลางก่อน  ส่วนเรื่อง ยกเลิก บริการ “โทรเลข” ของ กสท โดยยกเหตุขาดทุนปีละ 5 ล้าน กทช. ยังขอไม่สรุป เหตุติดในกรณีพระราชโทรเลขที่พระสำนักพระราชวังได้มีการใช้งานเพื่อแสดงความยินดีต่อประเทศทั่วโลก

นายประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เปิดเผยหลังจากการสัมมนา ร่างแผนความถี่วิทยุ Broadband Wirelese Access (BWA)และร่างการใช้ความถี่วิทยุสำหรับ Radio Local Aerea Network (RLAN) ในย่านความถี่ 5 GHz ว่า กทช.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการได้เข้ารับฟังและแสดงความคิดเห็นเพื่อทำร่างจัดสรรคลื่นความถี่การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงระยะไกล หรือ ไว - แม็กซ์  (wi – max) ซึ่งในขณะนี้ กทช.มีความถี่ที่สามารถอนุมัติได้ในย่าน 2.5 GHz และ 3.5 GHz ส่วนย่านความถี่ 5 GHz นั้น กทช.คงต้องศึกษาดูว่า บริษัท ชิน แซทเทิ่ลไลท์ ที่ได้รับสิทธ์ประกอบกิจการดาวเทียมจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เนื่องจากดาวเทียมไอพีสตาร์ได้ใช้ในย่านความถี่ 5 GHz อยู่ และคาดว่าภายในปีนี้น่าจะสามารถออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ไวแม็กซ์ให้กับผู้ประกอบการได้ ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวนี้จะเป็นใบอนุญาตประเภทที่ 3 แบบมีโครงข่ายของตัวเอง โดยผู้ที่ขอใบอนุญาตจะต้องจ่าย 3 % ของรายได้ และ 4 % บริการโทรคมนาคม

“ความถี่ 2.5 GHz และ 3.5 GHz  ไม่กวนการทำงานของดาวเทียม แต่ 5 GHz ทาง กทช.ต้องทำการศึกษาก่อน เพราะดาวเทียมเป็นการให้บริการหลัก” นายประสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ กทช.มีคลื่นความถี่ที่สามารถจัดสรรได้ในย่านความถี่ 2.5 GHz โดยจัดสามารถจัดสรรให้กับผู้ประกอบการประมาณ 4-5 ราย ในช่วงความความถี่รายละ 10 GHz ในขณะที่ คลื่นความถี่ 3.5 GHz นั้นมีช่วงความถี่ที่สามารถจัดสรรได้อยู่ 60 MHz ส่วนความถี่ 5 GHz นั้นมีช่วงความถี่ที่จะจัดสรรให้กับผู้ประกอบการได้มาก

การจัดประชุมรับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย  ได้มีการแลกเปลี่ยนในหลากหลายประเด็น  เพื่อให้การกำกับดูแลเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหลังจาก กทช. ได้จัดทำแผนความถี่ เงื่อนไขการใช้ความถี่ ตลอดจนเงื่อนไขการประสานงานความถี่วิทยุ  โดย กทช. จัดทำแผนความถี่ในส่วนที่ กทช. รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม พร้อมกับการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนความถี่วิทยุ คณะกรรมการยกร่างแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐ เพื่อให้การใช้คลื่นความถี่และการปฏิบัติตามแผนความถี่วิทยุ เพียงพอต่อกิจการภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ความถี่วิทยุ Broadband Wireless Access (BWA)  มีสถานะการจัดสรรความถี่วิทยุย่าน 2500-2690 MHz ในปัจจุบัน มีดังนี้ ย่าน 2500-2504 MHz ยังไม่ได้จัดสรร ย่าน 2504-2528 MHz จัดสรรให้กรมประชาสัมพันธ์ โดยมีบริษัท เวิลด์สตาร์ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน ให้บริการ MMDS ย่าน 2528-2536 MHz Guard Band  ย่าน 2536-2688 จัดสรรให้ อ.ส.ม.ท. สำหรับกิจการMMDS (ใน กทม. และ ปริมณฑล) ซึ่งมีการใช้งานอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพคือใช้เพียง 1 ช่องสัญญาณ คือ 2593.25/2598.75 MHz (ภาพ/เสียง) และ มีการนำไปใช้งาน. Fixed link ต่างจังหวัด และ ย่าน  2688-2690  MHz ยังไม่ได้จัดสรร

ขณะที่การกำหนดคลื่นความถี่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU) กับตารางกำหนดคลื่นความถี่ของไทยเดิม กำหนดกิจการ ย่าน 3400-3700 MHz กิจการตาม ITU  จะนำไปใช้งาน  FIXED SATELLITE,  FIXED และ Mobile  ส่วนกิจการตามตารางฯ ของประเทศไทยเดิม ก็ใช้งานในลักษณะเดียวกัน  ดังนั้น การกำหนดคลื่นความถี่ตาม ITU จะส่งผลให้กิจการ FIXED และ MOBILE เป็น co-primary services กับกิจการ FIXED SATELLITE คือ สามารถใช้ความถี่วิทยุร่วมกันโดยเป็นกิจการหลัก  ซึ่งสถานะการจัดสรรความถี่วิทยุย่าน 3400-3700 MHz ในปัจจุบัน มีดังนี้   ย่าน 3425-3427 MHz มีสถานการณ์จัดสรรให้ บริษัท วิทยุการบิน ใช้ในกิจการ Fixed Satellite Service (FSS) ย่าน 3400-3620 MHz  จัดสรรให้ บริษัท  เอเซียส  รีเยนแนล เซอร์วิส ใช้ในกิจการ Fixed Satellite Service (FSS)และ ย่าน  3601.09-3700  MHz จัดสรรให้บ. กสท โทรคมนาคม จำกัด ใช้ในกิจการ Fixed Satellite Service (FSS)

ดังนั้นการกำหนดความถี่วิทยุของ ITU ได้กำหนดความถี่วิทยุย่าน 2520-2670 MHz ให้กับกิจการ FIXED, FIXED SATELLITE, MOBILE และ BROADCASTING SATELLITE ซึ่งอยู่ในอำนาจการจัดสรรของคณะกรรมการร่วม กทช. และ กสช. ดังนั้นความถี่วิทยุ BWA ที่อยู่ภายใต้อำนาจการจัดสรรของ กทช. มีดังนี้  1. จัดสรรในย่าน 2500-2520 MHz และ 2670-2690 MHz 2.ย่าน 3400-3700 MHz และ 3. ย่าน 5725-5850 MHz โดยขอบข่ายแผนความถี่วิทยุ Broadband Wireless Access (BWA) ครอบคลุมหัวข้อ  ความถี่วิทยุ  แผนความถี่วิทยุ เงื่อนไขการใช้ความถี่วิทยุ  และเงื่อนไขการประสานงานความถี่วิทยุ

ส่วนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง (Broadband Wireless Access) สำหรับการใช้งานในลักษณะ RLAN ย่านความถี่วิทยุ 5 GHz มาตรฐานทางเทคนิค IEEE 802.11a ระบุความถี่วิทยุย่าน 5 GHz จะมีการใช้ช่วงความถี่ ดังนี้ ย่าน 5.150-5.350 GHz ย่าน 5.470-5.725 GHz และ ช่วงย่าน 5.725-5.875 GHz โดยมี ความเร็วสูงสุดในการสื่อสาร54 Mbps  ดังนั้นขอบข่ายของการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง  สำหรับการใช้งานในลักษณะ RLAN ย่านความถี่วิทยุ 5 GHz  ครอบคลุมหัวข้อ การใช้ความถี่วิทยุ โดย กำหนดความถี่วิทยุสำหรับการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง ที่ ย่านความถี่วิทยุ 5 GHz ได้แก่ ความถี่วิทยุ 5.150 – 5.350 GHz และ ความถี่วิทยุ 5.470 – 5.725 GHz

อย่างไรก็ตามการกำหนดเงื่อนไขการใช้ความถี่วิทยุสำหรับกิจการ BWA ประกอบการพิจารณาจัดสรรความถี่วิทยุเพื่อกิจการโทรคมนาคม อาศัยอำนาจตามมาตรา 51(1) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ประกอบมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

กสท เสนอ กทช. ยกเลิกบริการ “โทรเลข”

นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ คณะกรรมการ กทช. กล่าวถึงกรณี ที่บริษัท กสท โทรคมนาคม  จะขอยกเลิกการให้บริการโทรเลข ว่า กสท ได้ทำเรื่องมายัง กทช.เพื่อขอยกเลิกการให้บริการโทรเลข โดย กสท ได้ส่งตัวเลขในการสำรวจพบว่ามีผู้รับบริการโทรเลขเป็นจำนวนไม่มาก และจากการให้บริการดังกล่าวยังส่งผลให้ บริษัทเกิดการขาดทุนปีละ 5 ล้านบาท  

ทั้งนี้ กทช.ได้ตรวจสอบเหตุผลจากการสำรวจผู้ใช้บริการโทรเลข ของ กสท นั้นยังมีตัวเลขห่างกันไม่มากระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ไม่ใช้บริการ และยังมีปัญหาในกรณีพระราชโทรเลขที่พระสำนักพระราชวังได้มีการใช้งานเพื่อแสดงความยินดีต่อประเทศต่างๆเรื่อยมาจนถือว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันเรื่อยมา ซึ่ง กสท.ควรจะหาบริการเข้ามาทดแทนการให้บริการโทรเลข โดยในขณะนี้ กทช.ได้ส่งหนังสือให้กับ กสท แล้วเพื่อชี้แจงว่าหากมีการยกเลิกบริการโทรเลขแล้วจะมีบริการใดเข้ามาทดแทน

Company Related Links :
กทช.
CAT
กำลังโหลดความคิดเห็น