“วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” พร้อมพี่น้อง ประกาศทิศทางกลุ่มบริษัทสามารถ ประมาณการรายได้ปี 2550ที่ 35,000 ล้านบาท ชูนโยบายชัดเจนขยายธุรกิจหลักในต่างประเทศ ยึดกัมพูชาเป็นบ้านหลังที่สองขยายทุกธุรกิจที่มีโอกาส ล่าสุดเดือนเมษายนปีนี้ เตรียมเปิด Angkor National Museum ที่ประเทศกัมพูชา หนึ่งในช่องทางสร้างรายได้ประจำ
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงทิศทางการทำตลาดของกลุ่มสามารถว่า แนวโน้มการลงทุนจากนี้ไป 3-5 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งไม่จำกัดแค่ธุรกิจด้านโทรคมนาคมเท่านั้นแต่จะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม ทั้งนี้เห็นได้จากในปีที่ผ่านมาการลงทุนเกือบ 100 % ของกลุ่มสามารถอยู่ในต่างประเทศ
ในปี 2550 กลุ่มสามารถตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 35,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตจากปี 2549ที่ผ่านมาประมาณ21% โดยในปี 2548 กลุ่มสามารถมีกำไรประมาณ 600 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกของปี 2549 มีกำไรรวม 1,700 ล้านบาท
“ในปี 2550 จะเป็นปีแห่งการเพิ่มมูลค่าหรือ Year of Value Enhancement โดยจะใช้กลยุทธ์ VOICE ซึ่งประกอบด้วย Value (เพิ่มมูลค่า), Opportunity (เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ), Internation (ขยายฐานสู่ต่างประเทศ), Community (เพิ่มการยอมรับในสังคม) และ Effciency (เพิ่มประสิทธิภาพ) เพิ่มการสร้างยอดขายและกำไรอย่างต่อเนื่อง”
ผู้บริหารกลุ่มสามารถกล่าวว่าในปีที่ผ่านมาแม้จะมีปัญหาจากเหตุการณ์ไม่สงบทางภาคใต้ตลอดจนการก่อความไม่สงบในกรุงเทพที่ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันแต่กลุ่มสามารถก็ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งประมาณว่ารายได้ในปี 2550 จะเพิ่มขึ้นโดยมาจากปัจจัยหลัก 2 ประการคือความสำเร็จในการขยายธุรกิจต่างประเทศและการรับรู้รายได้จากโครงการและการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ
"นับจากการนี้ต่อไปกลุ่มสามารถจะมองหาธุรกิจที่ทำแล้วเป็นรายได้ประจำเก็บกินได้นานๆซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจด้านโทรคมนาคมเท่านั้น"
การขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศของกลุ่มสามารถเริ่มต้นที่ประเทศกัมพูชาซึ่งถือเป็นบ้านหลังของ2 เพราะเป็นประเทศที่กลุ่มสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจมานานกว่า 15 ปี ลงทุนไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาทนอกจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่เข้าไปบุกเบิกเป็นธุรกิจแรกซึ่งปัจจุบันขายกิจการด้านเน็ตเวิร์คให้เทเลคอมมาเลเซียไปแล้วเหลือทำตลาดเพียงเครื่องลูกข่าย ยังมีแอร์ทราฟฟิกคอลโทรลเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับสัมปทาน 22 ปี บริหารกิจการการบินในกัมพูชา
ล่าสุด บริษัทวิไลลักษณ์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด ได้รับสัมปทาน 30 ปีในสร้างและดำเนินงานพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์ (Angkor National Museum) เป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณและนำเสนอเรื่องราวทางด้านวัฒนธรรม สังคม การปกครอง ความเชื่อและศาสนาของอาณาจักรขอมโบราณโดยเฉพาะอย่างยิ่งนครวัด โดยการนำเสนอผ่านเทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นห้องต่าง ๆ มากมาย จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพระพุทธรูปปางค์ต่าง ๆ ซึ่งมีอายุกว่า 1,000 ปีมาจัดแสดงในห้อง 1,000 Buddha Images และห้องจัดแสดงเรื่องราวตั้งแต่ครั้งยุโรปเดินทางมาค้นพบสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นในยุคอาณาจักรขอมโบราณ คาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการได้ประมาณเดือนเมษายนของปีนี้
นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ กรรมการบริหาร บริษัทวิไลลักษณ์ ฯ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์ มีจุดเริ่มต้นมาจากความชอบในเรื่องวัฒนธรรมของอาณาจักรขอมโบราณพร้อมทั้งต้องการนำวัตถุโบราณมาเผยแพร่โดยทั่วไป ส่วนเรื่องรายได้ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลัก โดยคาดว่า 10 ปีไปแล้วถึงจะคืนทุน นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วตระกูลวิไลลักษณ์ยังสนใจธุรกิจอื่นๆด้วย แต่ต้องมองความเป็นไปได้ทางธุรกิจและโอกาส ซึ่งปัจจุบันคนกัมพูชามีความรู้มากขึ้น ทั้งแหล่งเงินทุนก็หาได้ไม่ยากนัก
นอกจากกัมพูชาแล้ว มาเลเซียเป็นอีกประเทศที่กลุ่มสามารถมีเป้าหมายขยายตลาดอย่างจริงจัง ล่าสุด บริษัท ไอ-โมบาย อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมลงทุนกับบริษัท CT Paging Sdn Bhd ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Celcom ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือชั้นนำของประเทศมาเลเซียและเป็นบริษัทลูกของ Telekom Malaysia Berhad ในการจัดตั้งบริษัท C-Mobile Sdn Bhd(C-Mobile) ที่ประเทศมาเลเซีย ด้วยทุนจะทะเบียน 10 ล้านริงกิต เพื่อสร้างเครือข่ายการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริม อุปกรณ์ไอที บัตรเติมเงิน จุดให้บริการจดทะเบียน และจุดรับชำระเงินในรูปแบบ Concept Store โดยมีเป้ามายในการสร้างเครือข่ายจุดจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ( Regional Outlets ) และคาดว่าจะขยายจุดจำหน่ายสินค้าและบริการในรูปแบบเดียวกันนี้ในอีกหลายประเทศ โดยคาดว่าจะมีจำนวน Regional Outlets รวมทั้งสิ้นถึง1,000 สาขา ภายในสิ้นปี 2553
กลุ่มสามารถยังมีการลงทุนในธุรกิจอื่นที่มองว่าจะเป็นการสร้างรายได้ประจำในระยะยาว เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจรักษาความปลอดภัย และบริการจำกัดขยะ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างรากฐานธุรกิจที่คาดว่าจะส่งผลถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2550 โดยล่าสุดกลุ่มสามารถอยู่ในระหว่างการประสานงานในการเข้าซื้อกิจการบริษัทด้านรักษาสิ่งแวดล้อม กำจัดขยะ คาดว่าจะถือหุ้นประมาณ 60-70%
ข้อมูลเพิ่มเติม
3 เสาหลักธุรกิจกลุ่มบริษัทสามารถ
ปัจจุบันกลุ่มสามารถประกอบด้วย 3 สายธุรกิจหลัก คือ
1. สายธุรกิจMobile-Mutimedia โดยมีบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย ตั้งเป้ารายได้ปี 2550 ไว้ที่ 27,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 21% รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจต่างประเทศถึง 60% ในประเทศ40% ตั้งเป้าจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไว้ที่ 2 ล้านเครื่องและในตลาดต่างประเทศอีก 2.5 ล้านเครื่อง ตลาดหลักอยู่ที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาดเทศ และเวียดนามและจีน ด้านธุรกิจคอนเทนต์ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 20% โดยจะมีการเปิดตัวระบบ L-Link ช่วยให้การดาวน์โหลดคอนเทนต์ผ่านมือถือไอ-โมบายเร็วและง่ายขึ้น
2. สาย ICT Solutions นำโดย บริษัท สามารถเทลคอม ( SAMTEL) และบริษัท สามารถคอมเทค ดำเนินธุรกิจครอบคลุมทางด้านไอทีและโทรคม ตั้งเป้ารายได้ปี 2550 ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 67% โดยคาดหวังรายได้จาก 5 สายงานคือ ด้านบริการเครือข่ายหรือเน็ตเวิร์ก เซอร์วิส ซึ่งจะรับรู้รายได้จากโครงการอินเทอร์เน็ตตำบลตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้ทั้งปีประมาณ 2,600 ล้านบาท บริการด้าน System integration แก่โครงการภาครัฐ ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 49ประมาณ 30 %
3. สายธุรกิจ Technology Ralated ตั้งเป้ารายได้ที่ 3,000ล้านบาท จากบริษัท วันทูวันคอนแทคส์ ธุรกิจด้าน Contact Center ซึ่งตั้งเป้ารายได้ที่ 500 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 40% บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิสเซส ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา ตั้งเป้ารายได้ที่ 650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 % บริษัท สามารถวิศวกรรม ตั้งเป้ารายได้ที่ 820 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% และที่น่าจับตามองคือ บริษัท วิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้ ซิสเต็ม ซึ่งตั้งเป้ารายได้ที่ 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 300 % อันเนื่องจากความไม่สงบในประเทศน่าจะเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจที่การเติบโตสูงขึ้น ส่วนบริษัท Kampot Power Plant ดำเนินธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศกัมพูชาและบริษัท สุวรรณภูมิ เอ็นรอนเม้นท์ แคร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่รับบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการให้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็จะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2550 จำนวน 112 ล้านบาท และ50 ล้านบาท ตามลำดับ.
Company Related Links :
Samart