xs
xsm
sm
md
lg

HUTCH กับ CAT ความแค้นที่รอวันชำระ : eLife

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปัญหาระหว่างกสท โทรคมนาคม หรือ CAT กับ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย หรือที่เราคุ้นเคยว่า ฮัทช์ นับวันยิ่งบานปลายออกไปจนหาทางออกไม่ได้กันแล้ว ยิ่งคณะกรรมการกสท. ตัดสินใจลาออกยกชุดทำให้ปัญหานี้เหมือนกับไร้ทางออกไปเลยทีเดียว

ขณะที่กสท.ต้องเร่งสร้างเครือข่ายสัญญาณซีดีเอ็มเอทั่วประเทศที่ทำกับหัวเหว่ยจากประเทศจีนให้เสร็จ ตามที่ตกลงกันไว้เพื่อให้ระบบฮัทช์สามารถใช้การได้ทุกที่ทั่วประเทศ แต่ปัญหางูกินหางที่มีกับฮัทช์นั้นมันแรงมากกว่าที่คิดมาก

ไม่น่าเชื่อว่ากิจการโทรศัพท์มือถือในเมืองไทยที่ได้รับสัมปทานจะดำเนินกิจการแล้วขาดทุนระดับหมื่นล้านบาท พูดไปใครก็ไม่เชื่อ เพราะที่ประเทศนี้ใครทำก็กำไรจนรวยติดอันดับเศรษฐีของเมืองไทยกันทั้งนั้น อาจเป็นเพราะว่านี่มันไม่ใช่กิจการของเอกชนรายเดียวแต่เป็นกิจการร่วมทุน ที่หากกำไรก็ต้องตัดแบ่งให้ภาครัฐ

ย้อนหลังกลับไปเมื่อครั้งที่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีการทำสัญญาระหว่างกสท. กับบริษัท ตะวันโมบายเทเลคอม จำกัด ซึ่งเป็นชื่อเดิมของฮัทชิสัน จำนวน 5 ฉบับ ต้องบอกกันตามตรงว่าสัญญาที่ทำกันในขณะนั้นเป็นที่รู้กันแบบวงในของคนกสท.ด้วยกันเองว่า สัญญาที่มีการทำและการแก้ไขแต่ละครั้งกสท.เองเสียประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำสัดส่วนหุ้นของกสท.กลับเหลือเพียง 20% ขณะที่ฮัทชิสันไวร์เลส เข้าไปถือหุ้นแล้วในปัจจุบันถึง 80%

ปัญหาล่าสุดที่สร้างความสับสนจนเป็นเรื่องราวก็คือ เมื่อกสท. กระโดดเข้ามาจัดสร้างโครงข่ายทั่วประเทศใหม่ ให้ภูมิภาคสามารถใช้ระบบนี้ได้อย่างทั่วถึง การขยายโครงข่ายนี้ใช้เงินลงทุนถึง 7,200 ล้านบาท และตกลงที่จะเลือกระบบ 2001-X EVDO ซึ่งเป็นระบบที่มีความทันสมัยที่สุดในระดับโลก ฟังดูแล้วน่าจะดูดีที่เราได้ใช้ของดี แต่สิ่งที่เกิดความขัดแย้งตามมาก็คือ ระบบของฮัทช์ในส่วนกลางที่เป็นระบบ CDMA นั้นยังเป็นระบบเก่าคือเป็นระบบ 2001-x เท่านั้น

หน้าที่ของกสท.ที่จำเป็นก็คือ ต้องแจ้งให้ HUTCH และ BFKT ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงระบบ CDMA ของตัวเองมาสู่ระบบ EVDO แต่ในท้ายที่สุดก็มีการปฏิเสธ ซึ่งทางบอร์ดของกสท.เองก็มีการตั้งคำถามกันอยู่ว่าการปฏิเสธครั้งนี้มีการเล่นเล่ห์กันหรือเปล่า

ทางบอร์ดชุดเก่าที่ลาออกไปแล้วมองกันชัดเลยว่าปัญหาเช่นนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่จบไม่สิ้น ที่สำคัญการร่วมทุนด้วยเงื่อนไขอย่างนี้กสท.มีแต่เสียเปรียบลูกเดียว บอร์ดเลยเรียกทางฮัทช์มาเจรจาหารือ และคุยกันตรงๆเลยว่า ถ้าฮัทช์จะซื้อในส่วนของกสท.ไปทำเลยจะดีกว่าหรือไม่ แต่ก็ลงเอยที่ฮัทช์เสนอราคามาแบบอยากได้เปล่าๆ

ว่าแล้วบอร์ดชุดนี้ก็ใช้วิธีหักดิบ โดยใช้เกณฑ์ทางกฎหมายมาเป็นกลยุทธ์ และได้ออกมติว่าสัญญาระหว่างฮัทช์กับกสท.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและทั้งสองฝ่ายไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ต่อกัน นั่นคือ บอร์ดต้องการยกเลิกความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสององค์กรทิ้งไป เพราะยิ่งปล่อยไว้การขาดทุนเรื้อรังของหน่วยงานนี้จะฉุดสถานภาพของกสท. ให้จมลงทุกทีในความคิดของบอร์ด ดังนั้นบทเล่นแง่ทางกสท.จึงออกมาต่อเนื่อง เช่นที่เป็นข่าวก็คือ การไม่ชำระภาษีหัก ณ ที่จ่ายของฮัทช์ โดยให้เหตุผลว่าเมื่อสัญญาไม่ชอบก็ไปรับการจ่ายภาษีมาไม่ได้

แต่ความซับซ้อนของปัญหาระหว่างกสท. กับ HUTCH นอกจากจะไม่มีวี่แววหาทางออกได้ ในขณะนี้กลับมีไฟสุมขอนก้อนใหม่นั่นคือ สหภาพแรงงานฯ กสท. ที่วันนี้กำลังสร้างเครือข่ายเทียบชั้นกับทีมบริหารงานเข้ามาแทรกเป็นยาดำอยู่ด้วย มีการเดินเกมที่หลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่าผิดที่ผิดทาง และผิดจังหวะ จนมีหลายคนตีความว่า ถึงวันนี้สหภาพแรงงานฯ กสท. ยืนเข้าข้างผลประโยชน์ของใครกันแน่

ถึง ณ วันนี้คงเป็นหน้าที่ของน.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งถือเป็นนายใหญ่ที่ต้องเคาะเพื่อแก้ไขปัญหาภายในกสท. อย่างจริงจังเสียที เริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่เข้ามาบริหารงานโดยไม่ต้องฟังเสียงข้างไหน เอาแค่บอร์ดชุดใหม่เข้ามาแก้ไขสองเรื่องในช่วงที่คุณหมอยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ คือ แก้ไขความขัดแย้งกับ HUTCH แบบยืนข้างผลประโยชน์ของประชาชน กับหาคนมาดำรงตำแหน่ง CEO ของกสท. เพื่อทำให้หน่วยงานนี้หายจากการเป็นแดนสนธยา ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว

Company Related Linsk :
CAT
Hutch
ICT
กำลังโหลดความคิดเห็น