xs
xsm
sm
md
lg

“ทริปเปิลที”เปิดศึกโทร.พื้นฐานกทม. อัดแพกเกจบริการราคาต่ำกว่าคู่แข่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประจวบ ตันตินนท์ ประธานกรรมการ ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ขณะรับมอบมอบใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 จากพล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
กทช.ให้ใบอนุญาตบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ แบบที่ 3 ประเภทมีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งถือเป็นเอกชนรายแรกภายใต้เงื่อนไขใหม่ ผู้บริหารชี้เป็นการทลายกำแพงและข้อจำกัดในการให้บริการของทีทีแอนด์ที ภายใต้สัญญาร่วมการงานทีโอที เปิดแผนลงทุน 6 พันล้านบาท ให้บริการกรุงเทพฯ 1 แสนเลขหมายและภูมิภาค 2 แสนเลขหมาย เน้นสื่อสารข้อมูลและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต

เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นประธานในพิธีมอบใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 ประเภทมีโครงข่ายเป็นของตนเองให้กับบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ เพื่อให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์สาธารณะ การให้บริการสื่อสารข้อมูล ครอบคลุมทั่วประเทศ

สำหรับใบอนุญาตที่ได้จาก กทช. จะมีภาระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 3% ของรายได้ ค่าธรรมเนียมเลขหมาย 1 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน รวมทั้งต้องจัดให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (USO) โดยสามารถเลือกที่จะให้บริการตามแผนงานที่ กทช.กำหนดหรือเลือกจ่ายเป็นค่าบริการสาธารณะ 4% ของรายได้ โดยมีอายุของใบอนุญาต 20 ปีสิ้นสุดปี 2569

นายประจวบ ตันตินนท์ ประธานกรรมการ ทริปเปิลที บรอดแบนด์ กล่าวว่า ถือเป็นใบอนุญาตแบบที่ 3 ใบแรกของผู้ประกอบ การเอกชนที่ได้รับมอบจาก กทช. ภายใต้เงื่อนไขใหม่ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งใบอนุญาตนี้จะครอบคลุมการให้บริการมากกว่าสัญญาร่วมการงานระหว่างบริษัท ทีทีแอนด์ที กับบริษัท ทีโอที

ภายใต้ใบอนุญาตดังกล่าวทริปเปิลทีสามารถให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ ประกอบด้วยโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์ราคาประหยัดและบริการเสริมบนโทรศัพท์ประจำที ส่วนบริการสื่อสารข้อมูลประกอบด้วยบริการโครงข่ายดิจิตอล (Digital data communication network) บริการวงจรเชื่อมต่อความเร็วสูง (High Speed access) บริการโครงข่ายเสมือน (Virtual private network) บริการโครงข่ายเสมือนแบบ Dial-up (VPDN) และบริการประชุมทางไกลแบบมัลติมีเดีย

“บริษัทจะใช้เวลาติดตั้งประมาณ 8 เดือนและคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในสิ้นปี 2549”

ตามแผนของทริปเปิลที จะใช้เงินลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาทแบ่งเป็นเงินกู้ 4 พันล้านบาทจากเวนเดอร์ไฟแนนซ์ หรือซัปพลายเออร์เครดิต และอีก 2 พันล้านบาทจากด้านของผู้ถือหุ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องหา Strategic Partner จากต่างประเทศ ซึ่งในช่วงแรกทริปเปิลทีจะวางโครงข่ายจำนวน 3 แสนเลขหมายแบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 1 แสนเลขหมายและต่างจังหวัด 2 แสนเลขหมาย และมีเป้าหมายให้บริการครบทั้งหมดภายในเวลา 3-4 ปี

ความจำเป็นที่ทริปเปิลที บริษัทลูกที่ทีทีแอนด์ทีถือหุ้น 99% จำเป็นต้องขอใบอนุญาตใหม่ เป็นเพราะสัญญาร่วมการงานเดิมของทีทีแอนด์ที มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ประเภทของบริการที่ไม่หลากหลาย ต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ที่สูงมาก พื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมภูมิภาค 72 จังหวัดและเลขหมายที่จำกัดเพียง 1.5 ล้านเลขหมาย ในขณะที่ภูมิภาคมีเมืองใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งมีความเจริญขยายตัวออกไป แต่โครงข่ายทีทีแอนด์ที โดยเฉพาะชุมสายโทรศัพท์ถูกกำหนดตามแผนที่เสนอให้ทีโอที มาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้ไม่สามารถตอบสนองบริการในพื้นที่เหล่านั้นได้

นอกจากนั้น ในเขตกรุงเทพฯ ก็ยังมีหลายพื้นที่ซึ่งยังไม่มีโครงข่ายสายโทรศัพท์เข้าไปอย่างทั่วถึง ซึ่งทริปเปิลทีจะเน้นการให้บริการสื่อสารข้อมูลและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ครอบคลุมทั่วประเทศ สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่และหน่วยราชการ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงบริการระหว่างสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯกับสาขาในต่างจังหวัดได้

ส่วนกลุ่มลูกค้าทั่วไปจะเน้นผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรรและชุมชนใหม่ ที่ยังไม่มีบริการโทรศัพท์พื้นฐานและบรอดแบนด์มารองรับ ซึ่งทริปเปิลทีจะไม่เลือกลงทุนซ้ำซ้อนในพื้นที่มีคู่แข่งให้บริการอยู่ก่อนแล้ว

เขาย้ำว่าความต้องการในกรุงเทพฯยังมีอีกมาก โดยเฉพาะทริปเปิลทีจะใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า NGN หรือ Next Generation Network ที่สามารถให้บริการเสียง ข้อมูลและภาพ ในโครางข่ายเดียวกันเป็นจุดแข็งในการทำตลาด

“เราจะให้บริการด้วยราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด จะเป็นบริการในลักษณะการจัดแพคเกจ ไม่ใช่การคิดค่าบริการเพียงประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น”นายสุพจน์ เธียรวุฒิ กรรมการบริษัท ทริปเปิลทีกล่าว

Company Related Links :
TT&T
กำลังโหลดความคิดเห็น