xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก Enterprise Linux

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรดแฮทในเวอร์ชันสำหรับองค์กรนั้นอย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอยู่ด้วยกัน 4 เวอร์ชัน ซึ่งสองในสี่สำหรับใช้งานส่วนบุคคลส่วนที่เหลือนั้นเป็นการทำงานสำหรับเซิร์ฟเวอร์ แต่ถ้าจะถามว่าแล้วแต่ละตัวแตกต่างกันอย่างไรก็คงต้องตอบว่ายากจะตอบได้ เพราะมันมีส่วนประกอบหลายอย่างที่ใกล้เคียงกันมากเหลือเกิน แต่ผมก็จะพยายามบอกให้ได้รู้กันว่าแต่ละเวอร์ชันนั้นเหมาะสำหรับเอาไปใช้งานแบบไหนกันบ้าง

RedHat เป็นหนึ่งในบรรดาหลายผู้ผลิต (ในวงการโอเพ่นซอร์สมักจะเรียกผู้ผลิตเหล่านี้ว่า Distributor) ลีนุกซ์ออกมาขาย (ในวงการมักจะเรียกลีนุกซ์เวอร์ชันต่างๆ นี้ว่า Distribution) โดยถือว่าผู้ผลิตเหล่านี้ทำธุรกิจอยู่บนโอเพ่นซอร์ส แน่นอนว่าใครที่ต้องการการทำงานที่ต้องการความน่าเชื่อถือมากๆ ก็ต้องเลือกเอาจากผู้ผลิตเหล่านี้ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง RedHat ลีนุกซ์ที่เชื่อว่ามีคนเลือกใช้งานมากที่สุด และน่าจะเป็นลีนุกซ์สำหรับองค์กรที่ดีที่สุดด้วย ส่วนหนึ่งเพราะว่าความฉลาดในการเลือกส่วนผสมต่างๆ ได้อย่างถูกใจคนซื้อ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าแอพพลิเคชันก็เป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจเลือกใช้ลีนุกซ์ตัวใดตัวหนึ่งที่เกิดมาจาก Kernel เดียวกัน (ลีนุกซ์ตัวแรกเกิดจากการพัฒนาของ Linus Trovalds ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ ปี 1991)

เราไม่อยากทำให้เกิดความน่าเบื่อด้วยการเล่าเรื่องราวความเป็นมาอย่างละเอียดว่าใครทำอะไรที่ไหน หรือเป็นหนังสืออ้างอิงว่าวันที่เท่าไรเดือนไหนเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ต้องขอบอกว่าการที่จะได้รับทราบว่าเคอร์เนลต่างๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างไรก็ถือว่าเป็นข้อมูลที่จะช่วยในการตัดสินใจเลือกได้ว่าลีนุกซ์ตัวไหนเหมาะที่จะเลือกมาใช้งาน และที่สำคัญคุณจะเข้าใจ RedHat ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

ในปี 1994 RedHat เปิดตัวเวอร์ชันแรกด้วยเคอร์เนล 1.09 และหลังจากนั้นก็ยังคงออกเวอร์ชันใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้มีการแบ่งออกเป็นเวอร์ชันสำหรับใช้งานเองหรือใช้งานในองค์กรแต่อย่างใด จนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2002 ตอนที่ทำการออกตัว Redhat 7.3 ครั้งนี้เองที่เกิดความแตกต่างระหว่างเวอร์ชันใช้งานตามบ้านและเวอร์ชันใช้งานในองค์กรธุรกิจ RedHat ภูมิใจนำเสนอ Red Hat Linux Advanced Server 2.1 ซึ่งในเวลาต่อมาลดรูปชื่อเหลือเพียง Enterprise Linux 2.1

Enterprise Linux 2.1 อาศัยโครงสร้างพื้นฐานมาจาก Redhat 7.3 ซึ่งหากจะถามว่ามีอะไรแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนนั้นก็คงจะตอบยาก แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ RedHat 7.3 สำหรับคนที่ซื้อเป็นกล่องจะได้รับการดูแลและรองรับการใช้งานในระยะเวลาที่สั้นกว่าคนที่ซื้อแบบที่เป็น Enterprise Linux ซึ่งจะได้รับการดูแลนานกว่า และที่มาของราคาที่แตกต่างกันก็คือค่าบริการปรึกษาปัญหาทางเทคนิคที่ยาวนายกว่านั่นเอง ส่วนเรื่องของการอัพเดทเวอร์ชัน RedHat จะทำการออกรุ่นใหม่ทุก 6 เดือน ส่วนรุ่นที่เป็น Enterprise นั่นด้วยเหตุผลของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบจึงไม่มีการออกรุ่นใหม่บ่อยแบบรุ่นที่ใช้ตามบ้าน แต่จะมีบริการอัพเดทระบบทางเน็ตเวิร์คเข้ามาแทน

และจากการเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ RedHat ยังคงออกมาได้ต่อเนื่องในเวอร์ชันที่ 8 และมาหยุดสุดท้ายเอาในเวอร์ชันที่ 9 นี้เองที่เป็นเวอร์ชันใช้งานตามบ้านแบบขายเป็นกล่อง ในปี 2003 Redhat เวอร์ชันใช้งานตามบ้านก็จะไม่มีอีกแล้ว หากต้องการใช้งานต่อก็ต้องไปใช้ลีนุกซ์ที่ชื่อว่า Fedora Core ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาลีนุกซ์ที่ไม่ได้ทำเพื่อการค้าอีกต่อไป นั่นหมายความว่าใครที่ต้องการใช้ลีนุกซ์สายพันธุ์ RedHat ต่อไปก็สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานเองได้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของ Fedora Project

หลังจากนั้นไม่นาน RedHat ก็ตอกย้ำความชัดเจนในเรื่องของการเน้นที่ตลาดกลุ่ม Enterprise เจริญรอยตามเวอร์ชัน 2.1 ด้วยการออกตัว Enterprise Linux 3 ซึ่งเป็นการแบ่งสายผลิตภัณฑ์ใหม่ออกเป็น AS, ES และ WS เป็นการแบ่งระบบตามความเหมาะสมกับการทำงานที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น และในปี 2004 ได้ทำการเพิ่มเวอร์ชันของ Desktop เข้าไปในชุดอีก นั่นคือการเติมเต็มในชุดของ Enterprise ให้ครบถ้วน ก่อนที่จะออกมาเป็น Enterprise Linux 4

แล้วการแบ่งออกเป็นสี่เวอร์ชันที่ว่านี้แต่ละตัวเหมาะสำหรับทำงานแบบไหนบ้างนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องมาท่องจำกันให้เหนื่อยเพราะชื่อมันก็จะบอกเป็นแนวทางอยู่แล้วไม่ยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจ ถ้าอย่างนั้นอย่าเสียเวลาอีกต่อไปเลยมาดูกันเลยว่าแต่ละตัวทำอะไรกันได้บ้าง

Red hat Enterprise AS นี่คือสุดยอดของระบบปฏิบัติการสำหรับเซิร์ฟเวอร์ของเรดแฮท มันถูกออกแบบมาสำหรับองค์กรขนาดใหญ่หรือองค์กรอย่างดาต้าเซ็นเตอร์ AS เวอร์ชันมีฟังก์ชันสำหรับเซิร์ฟเวอร์เหมือนกันกับเวอร์ชัน ES แต่ที่แตกต่างกันก็คือนี่คือชุดที่สมบูรณ์แบบสำหรับเซิร์ฟเวอร์ที่ทำงานร่วมกับซีพียูที่มากกว่าสองซีพียูเท่านั้นยังไม่พอมันยังรองรับการทำงานของหน่วยความจำที่มากถึง 8 GB นอกจากนั้นยังรองรับซีพียูที่หลากหลายแพลทฟอร์ม อย่างเช่นมันสามารถทำงานร่วมกับ IBM iSeries, pSeries และ zSeries มาถึงส่วนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนมากที่สุดก็คือเรื่องของการบริการหลังการขายด้วยการใช้งานระดับนี้ต้องเป็นการบริการแบบ 7x24 เท่านั้น เรียกว่าพร้อมบริการตลอดวันและทุกวัน แถมยังการันตีว่าจะมีการแก้ไขปัญหาภายใน 1 ชั่วโมงอีกด้วย

Red Hat Enterprise ES สำหรับเวอร์ชันนี้ทำออกมาสำหรับเซิร์ฟเวอร์ระดับกลางรองรับการทำงานของซีพียูมากถึงสองตัวและหน่วยความจำที่ 8 GB ตัวของระบบจะใกล้เคียงกับ AS อยู่มากแต่จะลดขนาดของการใช้งานลงมาในระดับที่เล็กกว่าส่วนแอพพลิเคชันพื้นฐานอย่างการเป็น Web Server, Network Server, File Server, Print Server และ Database Server เป็นจุดแข็งของลีนุกซ์อยู่แล้ว

Red Hat Enterprise WS ชื่อก็บอกกันชัดๆ ว่าเป็น Workstation ความหมายก็คือเป็นอะไรที่มากกว่าเครื่อง Desktop ดังนั้นในเวอร์ชันนี้จึงอัดแน่นไปด้วยแอพพลิเคชันสำหรับทำงานทั่วไปอย่าง Web browser, Office Suite และ e-Mail client ประมาณว่าเป็นเครื่องใช้งานที่ไม่ใช่เซิร์ฟเวอร์แต่มีความแรงระดับ 2 ซีพียูให้ใช้งานกัน มันต่างจากเวอร์ชันเดสก์ทอปตรงที่รองรับซีพียูจำนวนมากกว่านั่นเอง

ปิดท้ายกันด้วย Red Hat Desktop นี่ถือว่าเป็นการรุกตลาดเครื่องใช้งานส่วนบุคคลอย่างเต็มรูปแบบ แต่ยังคงเน้นสำหรับการใช้งานในองค์กรมากกว่า เพราะบรรดาแอพพลิเคชันที่เลือกมาให้นั้นมันเป็นของจำเป็นสำหรับมนุษย์งานอย่างพวกเราล้วนๆ แน่นอนว่าคุณจะเห็น OpenOffice.org, Firefox และ Evolution อีเมล์ไคลเอนท์ชื่อดังอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เรียกว่าทั้งหมดนี้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ทุกระดับ ซอฟต์แวร์นะพร้อมอยู่แล้ว ว่าแต่คนใช้งานนั้นแหละเมื่อไรจะพร้อมก็ไม่รู้

Company Related Links :
Red hat
กำลังโหลดความคิดเห็น