xs
xsm
sm
md
lg

เนคเทคจุดประกาย “Open Standard” ประกาศดันเป็นนโยบายระดับชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนคเทคและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนจัดการประชุมระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนากรอบแนวคิดทางด้านการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบเปิดของไทย ภายใต้ชื่อ “Regional Conference on Open Standard : The key to an Open ICT Ecosystem” โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการใช้งานมาตรฐานแบบเปิดในภาครัฐให้มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของวงการสารสนเทศได้โดยไม่ยึดติดอยู่ที่ผู้ผลิตแต่เพียงรายใดรายหนึ่ง

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการประชุมระดับภูมิภาคว่า คณะอนุกรรมการณรงค์การใช้มาตรฐานแบบเปิดในประเทศไทยโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ หรือเนคเทค กระทรวงวิทยาศษสตร์และเทคโนโลยีและพันธมิตรภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือกันสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงความสำคัญของมาตรฐานแบบเปิด (Open Standard) เพื่อให้มีการพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการขยายระบบต่อไปในอนาคต โดยไม่ยึดติดกับผู้พัฒนาหรือผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งอีกต่อไป อีกทั้งเวทีสัมมนาดังกล่าวจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทัศนะ และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบนิเวศทางเทคโนโลยีสารสนเทศและมาตรฐานแบบเปิดเพื่อยกระดับการใช้งานไปสู่ระดับภูมิภาคด้วย

ด้านนายเจมส์ คลาส์ก ผู้จัดการฝ่ายโอเพ่นซอร์ส จากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวว่า การส่งเสริมการใช้งานมาตรฐานแบบเปิดเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มากขึ้น

ความแตกต่างระหว่างมาตรฐานแบบเปิด (Open Standard) และโอเพ่นซอร์ส (Opensource) คือ โอเพ่นสแตนดาร์ดเป็นโครงสร้าง-แนวคิดในการใช้งานโปรโตคอล และอินเทอร์เฟสต่าง ๆ เปรียบเสมือนพิมพ์เขียว (Blueprint) ของโครงสร้างซอฟต์แวร์ ขณะที่โอเพ่นซอร์สนั้นได้แก่ซอร์สโค้ดโปรแกรม การพัฒนากรอบแนวคิดเกี่ยวกับมาตรฐานแบบเปิดขึ้นมานั้นก็เพื่อต้องการให้ภาคเอกชนสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปเป็นแนวทางในการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สของแต่ละองค์กร และช่วยให้ซอฟต์แวร์จากแต่ละองค์กรสามารถทำงานประสานกันได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น

ความจำเป็นที่ภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ จะต้องให้ความสนใจกับการมาถึงของโอเพ่นสแตนดาร์ด จะก่อให้เกิดการก้าวไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยึดติดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นสำคัญ และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐลงได้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การใช้งานโอเพ่นสแตนดาร์ดต้องขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้ใช้หรือผู้บริโภคเป็นสำคัญ ซึ่งในปัจจุบัน การยอมรับดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดร.โรเบิร์ด ซูเตอร์ รองประธานกรรมการ กลุ่มมาตรฐานและระบบเปิด ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงความสำคัญที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนการใช้งานมาตรฐานแบบเปิดให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังว่า ขณะนี้มีภาครัฐของหลายประเทศโดยเฉพาะในสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนการใช้งานมาตรฐานแบบเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ได้แก่ รัฐบาลประเทศเบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฯลฯ ซึ่งในแนวทางของไอบีเอ็มเล็งเห็นว่า ภาครัฐนอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนแล้วยังมีบทบาทเป็นลูกค้าคนสำคัญของผู้พัฒนาวอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สดัวย ซึ่งหากภาครัฐแสดงความต้องการใช้งานโอเพ่นซฮร์สแล้ว ผู้พัฒนาควรจะให้การสนับสนุนตามความต้องการของลูกค้า

กลุ่มพันธมิตรภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนการเสวนาดังกล่าวประกอบด้วย บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ UNDP-Asia Pacific Development Information Programme หรือ UNDP-APDIP

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการเสวนาดังกล่าว คาดว่าจะสามารถจัดกรอบแนวคิดและแนวทางในการพัฒนา ระบบนิเวศทางเทคโนโลยีการสื่อสารแบบเปิด ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ซึ่งจะเป็นความร่วมมือเพื่อผลักดันให้มีการนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายต่อไป

Company Related Link:
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย)
บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น