xs
xsm
sm
md
lg

เว็บ 2.0 เมื่อโลกของอินเทอร์เน็ตเปลี่ยน : e-life

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ใครที่อยากทำความรู้จักกับ"Web 2.0" วิวัฒนาการของโลกอินเทอร์เน็ตขั้นใหม่ที่เราชาวไอทีต้องเผชิญหน้าในอนาคตอย่างแน่นอน ผู้จัดการไซเบอร์ขอแนะนำบทความของนิตยสารอีไลฟ์ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ได้อย่างน่าอ่าน ชัดเจน และเข้าใจง่าย

******

หลังเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ นอกจากความคลุมเครือทางการเมืองไปอีกนาน ก็ส่งผลให้หลายโครงการไอทีของรัฐนิ่งเงียบไป (แบบมีคลื่นใต้น้ำ) ส่วนภาคเอกชนนั้นก็ขายของแบบเฉื่อยๆ ไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นถึงข่าวดีในช่วงนี้ ยกเว้นการกลับมาของตลาดพีซีที่ดูคึกคักไม่น้อย แต่ผมว่านั่นเป็นตลาดชั่วคราว และคาดเดาอารมณ์คนซื้อได้ยาก ที่สำคัญผู้ค้าทั้งหลายต่างก็ยังหาเหตุผลของการกลับมาครั้งนี้ไม่ได้เลย

ประเด็นของวันนี้จึงมุ่งเน้นไปที่อินเทอร์เน็ต ในขณะที่บ้านเราพยายามพัฒนาบรอดแบนด์ให้ใหญ่โต ความเร็วปรู๊ดปร๊าด มีความเถียรน่าเชื่อถือได้ ที่สำคัญมองกันไปว่าจะทำให้เล่นพวกมัลติมีเดียได้อย่างไม่ติดขัด แต่ดูเหมือนในอเมริกาตอนนี้กำลังย้อนกลับคืนสู่สามัญ แต่โลกอินเทอร์เน็ตได้เข้าสู่ยุค web2.0 เสียแล้ว

ความจริงเรื่องนี้ผมเองเฝ้ามองอยู่นิ่งๆ ไม่กระโตกกระตาก เพราะตัวเองยังไม่เชื่อมั่นว่า web2.0 จะเข้ามาเมืองไทยง่ายๆ ยังเชื่อว่าต้องใช้เวลาบ่มเพาะกับตลาดในต่างประเทศอีกพักหนึ่ง แต่เมื่อวันก่อนผมดันไปเจอะเจอกับ ปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของเว็บไซต์กระปุก ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเว็บมาสเตอร์ในปัจจุบัน เพื่อนคนนี้ของผมนั้นนั่งยันนอนยันว่า web2.0 นั้นมาแน่

สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะเพิ่งเดินทางไปร่วมงาน web2.0 Conference ในซานฟรานซิสโก เข้าพ่อเว็บไซต์อย่างปรเมศวร์เมื่อมากระตุกกันแรงๆ อย่างนี้ นอกจากจะเห็นทิศทางของเว็บกระปุกในอนาคตแล้ว ผมก็เชื่อว่าการปูทางตลาดนี้ในเมืองไทยจะทำให้กระแส web2.0 ในเมืองไทยคงจะมีมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไปแน่ ผมเลยอยากจะรีวิวเจ้าเทคโนโลยีนี้เรียกน้ำย่อยกันก่อนจะเจอของจริง

ความจริงนิยามของคำว่า web2.0 แบบตรงๆ นั้นไม่ได้มีระบุ ถึงมีก็มีคนเถียงและมีข้อโต้แย้งไม่มีที่สิ้นสุด แต่พฤติกรรมที่แสดงถึง web2.0 นั้นเป็นที่รู้กันพอจะยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็น web1.0 นั้น จะเป็นรูปแบบ Double Click แต่ถ้าเป็น web2.0 ก็จะเป็น Google AdSense พูดอย่างนี้หลายคนอาจจะงง แต่ถ้าใครที่เคยเข้าไปในเว็บไซต์ต่างๆ แล้วมีโฆษณาของกูเกิ้ลขึ้นมาแนบข้างของบทความนั้นๆ อาจจะพอเข้าใจอยู่บ้าง

นัยของมันก็คือ ถ้าเป็น web1.0 เวลาเราจะหาโฆษณาเราก็ต้องไปเลือกสปอนเซอร์ ส่งฝ่ายขายไปดูแล แล้วพอได้แบนเนอร์ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องรอให้คนคลิก เก็บเงินตามเพจวิวที่คนเข้าชม หรือตามที่คลิก แต่สำหรับ web2.0 ในรูปแบบของ Google AdSense แล้ว เว็บไหนอยากได้โฆษณาก็เข้าไปที่กูเกิ้ล เลือกตัวที่เชื่อมโยงกับเนื้อหานั้นๆ ใส่ซอฟต์แวร์แล้วก็รอรับเงินเมื่อลูกค้าเข้าไปดู ใครอยากรู้เป็นไงโดยละเอียดผมว่า เข้าไปดูที่ Google ได้เลย ซึ่งวิธีหาเงินแบบนี้อาจเป็นแนวใหม่ที่ต่อไประบบโฆษณาอาจเปลี่ยนมาใช้แบบนี้

อันต่อไปที่ชัดเจนก็คือ การที่ web1.0 นั้นเป็น Ofoto ส่วน web2.0 นั้นเป็น Flickr เรื่องนี้ท่าทางสนุกครับ เนื่องจากเป็นของเล่นที่บรรดาเว็บของคนไทยนิยมเอาไปใช้ ผมขออธิบายดังนี้ครับ เจ้า Ofoto ที่ว่าก็คือ เว็บไซต์จะให้บริการแก่ลูกค้าโดยให้พื้นที่บนเว็บไซต์ เพื่อให้เอารูปสุดเจ๋ง หรือรูปที่ต้องการแชร์กับเพื่อนไปใส่เอาไว้ เป็นเหมือนฮาร์ดดิกส์ออนไลน์ที่เกี่ยวกับรูปโดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็น Flickr นั้นบอกเอาไว้ที่ตัวเอส 4 ตัวคือ store sort search และ share นั่นหมายถึงว่ารูปที่คุณคิดว่าเจ๋งนั้น ระบบนี้จะเป็นการเอารูปของคุณขึ้นมาแสดงให้กับคนออนไลน์ทั้งโลกได้เห็น สามารถสร้างเป็นระบบ Blog ส่วนตัวสำหรับใส่ภาพจากกล้องดิจิตอลของเราเอง หรือถ้าหากว่าจะกันภาพนั้นให้กับครอบครับ หรือเพื่อนฝูงของเราโดยเฉพาะก็ทำได้เลย

ความจริงมันยังมีคำอีกมากมายที่กลายเป็นความหมายของ web2.0 นั่นคือ ถ้าเป็น web1.0 จะเป็น Akamai แต่ถ้าเป็น web2.0 จะกลายเป็น BitTorrent จาก mp3.com มาเป็น Napster, จาก Britannica Online มาเป็น Wikipedia, จาก personal websites มาเป็น blogging, จาก evite มาเป็น upcoming.org and EVDB, จาก domain name speculation มาเป็น search engine optimization, จาก page views มาเป็น cost per click, จาก screen scraping มาเป็น web services, จาก publishing มาเป็น participation, จาก content management systems มาเป็น wikis, จาก directories (taxonomy) มาเป็น tagging ("folksonomy") และจาก stickiness มาเป็น syndication ในที่สุด

ผมว่าความหมายของมันจากเว็บที่ทำมากินกันแบบธุรกิจสุดๆ ความหมายของมันเริ่มเปลี่ยนโดยนัยของมันก็คือ Community หรือ Social มากขึ้นนั่นเอง ทิศทางนี้มาแรง และได้รับความนิยมแล้วในอเมริกาที่เป็นเจ้าของทฤษฎี เว็บไซต์ใหญ่ๆ ของโลก หรือธุรกิจไหนที่อยากเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต บางแห่งออกมาประกาศเลยว่าจะเข้าเทคโอเวอร์เว็บที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เข้าในสังกัดให้มากที่สุด เราเลยเห็นบางเว็บเพิ่งเปิดบริการมาไม่นานก็ถูกซื้อไปเข้าสังกัดใหญ่เสียแล้ว

ตัวอย่างยังมีให้เห็นอีกเยอะ แต่ที่ตั้งเป็นข้อสังเกตก็คือ เมื่อแนวทางธุรกิจไม่ได้อยู่ที่การขายตัว content ด้วยการ Subscribe หรือการขายโฆษณาด้วยการสร้าง Banner แต่กลายมาเป็นการให้บริการทางสังคม การเก็บค่าหัวคิวบางอย่าง ดังนั้นความคิดใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญและท้าทายมากกว่าการเดินตามก้นคนอื่นเหมือนอย่างที่ผ่านมา งานนี้น่าสนุกและน่าติดตามทั้งกระแสโลก และกระแสในเมืองไทยว่า web2.0 จะแจ้งเกิดในเมืองไทยได้จริงหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น