ส่งไอ-โมบาย โกอินเตอร์ เปิดบริษัทลูกของสามารถไอ-โมบายที่ประเทศมาเลเซีย กัมพูชา ศรีลังกา และบังกลาเทศเอง ล่าสุดไอ-โมบายคว้าตัวนักธุรกิจเบอร์หนึ่งในตลาดคอนซูเมอร์โปรดักซ์ของประเทศลาว จับมือเปิดแฟรนไชส์ไอ-โมบายสาขาเวียงจันทร์เป็นแฟรนไชส์แห่งแรกในต่างประเทศ ตั้งเป้าโกยมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่งในตลาดลาว เชื่อยอดขายโทรศัพท์มือถือแบรนด์ไอ-โมบายล์ปีนี้ทะลุหลักล้าน
นายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถไอ-โมบาย กล่าวถึงการเปิดแฟรนไชส์ในประเทศลาวว่า เป็นการร่วมมือในรูปแบบพาร์ตเนอร์ชิป ระหว่างไอ-โมบายและนายสยาม รามสูต นักธุรกิจในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคลาวรายใหญ่ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นในตลาดโทรศัพท์มือถือของลาว ว่าจะสามารถส่งเสิรมเป้าหมายการเป็นรีเจียนอลแบรนด์ หรือแบรนด์ดังระดับภาคพื้นที่ครอบคลุมตลาดในประเทศอื่นนอกจากตลาดไทย
ตลาดลาวโอกาสโตสูง
"ที่ลาวเป็นแฟรนไชส์แรกในต่างประเทศ ในเขมรเราเป็นโอเปอเรเตอร์เอง ส่วนที่ลาวเรามั่นใจให้คุณสยามทำ ไอ-โมบายอยากขยายให้เป็น regional คุณสยามนั้นอยู่ในตลาดลาวมานาน น่าจะทำได้ดีกว่า ผมคิดว่า ด้วยความสามารถของคุณสยาม บวกกับประสบการณ์ด้านการตลาดของไอ-โมบายน่าจะไปด้วยกันได้ดี"
นายสยาม รามสูต มีดีกรีเป็นตัวแทนจำหน่ายชาเขียวโออิชิรายเดียวในประเทศลาว นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือโอสถสภา ยูนิชาร์ม และอีกหลายบริษัทจากประเทศไทย ควบคู่กับธุรกิจขนส่งตลอดแนวชายแดนไทยและประเทศในกลุ่มอินโดจีน การเปิดแฟรนไชส์ไอ-โมบายเป็นครั้งแรกที่จะเริ่มแตกไลน์ธุรกิจสู่ธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ
"ที่มั่นใจว่าทำได้ เพราะตลาดลาวเลียนแบบตลาดไทยมาตลอด การแข่งขันก็ยังไม่สูง มีแต่ผู้ค้าปลีกรายย่อย ไม่มีกิจกรรม ไม่มีการทำการตลาด เปอร์เซ็นต์ผู้ใช้งานก็ยังน้อยอยู่ โอกาสโตมีมาก เราคิดว่าตัวเลขอัตราเติบโตสามารถเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ต่อปีได้ไม่ยาก ขณะนี้ยังเกาะกลุ่มอยู่ที่เวียงจันทร์เป็นหลัก ทุกวัยเป็นกลุ่มเป้าหมายหมด กำลังซื้อก็มี ประกอบกับข้อจำกัดเรื่องการติดตั้งโทรศัพท์ฟิกซ์ไลน์ คู่สายฟิกซ์ไลน์สามารถรองรับการใช้งานได้เพียงหลักพัน ขณะที่เลขหมายโทรศัพท์มือถือสามารถรองรับได้ในหลักล้าน"
ไอ-โมบายสาขาเวียงจันทร์จะวางจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ด โดยจะจับมือกับโอเปอเรเตอร์ท้องถิ่นอย่างลาวเทเลคอม ซึ่งมีจำหน่ายแต่ซิมการ์ดไม่มีการจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์ สถิติเบอร์โทรศัพท์ไร้สายของประเทศลาวในขณะนี้อยู่ที่ราว 700,000 เลขหมาย จากประชากรลาวทั้งหมด 6 ล้านคน
นายสยามให้ข้อมูลว่าก่อนไอ-โมบายจะเข้ามาในตลาดลาว ยอดจำหน่ายโทรศัพท์แบรนด์ไอ-โมบายอยู่ที่ราว 80,000 เครื่องต่อปี
"ตัวเลขนี้คือขายไปตามยถากรรม ขายไปตามธรรมชาติโดยร้านเล็กร้านน้อย อยู่ได้เพราะ value per money ฟีเจอร์ดีราคาโอเค แต่จากนี้ไอ-โมบายจะเข้ามาเอง เข้ามาสร้างแบรนด์ ทำการตลาด พร้อมเสริมบริการหลังการขาย ซึ่งในอดีตผู้ค้าปลีกจะต้องติดต่อซื้อขายกับดีลเลอร์ทางภาคอีสานของประเทศไทย แต่จากนี้จะตัดออกไป ผมวางเป้าว่าจะเอาที่หนึ่ง คือมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และมีแผนขยายอีก 3 สาขาในจังหวัดอื่นของลาวภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า"
นายสรรค์ชัยกล่าวว่า ตอนนี้ตลาดลาวก็เหมือนตลาดไทยเมื่อ 10 ปีก่อน แฟรนไชส์ยังไม่มี การที่นายสยามมาเปิดเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดีจะได้ขยายไป ไอ-โมบายจะทำทั้งแบรนด์ไอ-โมบาย ฟิลิปส์ ซาเจ็ม และพานาโซนิก และจะคละยี่ห้ออื่นด้วยในราคาใกล้ๆกัน
"การทำแฟรนไชส์กับคุณสยามไม่มีเงื่อนไขพิเศษ เราเป็นพาร์ตเนอร์ชิปโดยไอ-โมบายจะซัปพอร์ตเรื่องการทำตลาด สินค้า โปรโมชัน การสร้างแบรนด์ เสียค่าใช้จ่ายให้ไอ-โมบายในรูป entry fee เท่านั้น"
เด่นที่โปรโมชัน
โปรโมชันสุดเจ๋งที่ไอ-โมบายเลือกมาประเดิมร้านคือซื้อโทรศัพท์ฟิลิปส์หนึ่งเครื่องแถมดีวีดีอีกหนึ่งเครื่อง นายณัฐพล แก้วกรรณิพากร ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจอุปกรณ์ไร้สายของฟิลิปส์กล่าวว่า ถือเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดลาว ควบคู่ไปกับการผลักดันธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าของฟิลิปส์ไปในตัว
"ที่ประเทศลาวแผ่นดีวีดีราคาถูก คนอยากได้เครื่องเล่น ไอ-โมบายไม่มีผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์โปรดัก พานาโซนิกไม่มี ซาเจ็มก็ไม่มี แต่ฟิลิปส์มี เราก็เลยอยากไดร์ฟไปด้วยกัน เราเตรียมมา 300 เครื่อง น่าจะหมดเพราะเคยทำมาแล้วในเขมร เสียงตอบรับดีมาก"
นายสรรค์ชัยอีกว่า แผนสองในตลาดลาวที่ไอ-โมบายวางไว้คือ การเพิ่มบริการโหลดเพลง MP3 ลงเครื่องโทรศัพท์ โดยลูกค้าสามารถนำแผ่น MP3 มาให้ทางร้านโหลดลงเครื่องโทรศัพท์ได้ ลดข้อจำกัดเรื่องความชำนาญในการใช้คอมพิวเตอร์ของผู้บริโภคชาวลาว
"อย่าง Bughit ก็จะขยายให้เข้ามาในตลาดลาว ส่วนการเปิดสาขาในต่างประเทศคาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเวียดนามเป็นที่ถัดไป จะเป็นการร่วมทุนกับบริษัทกันตนา ยังไม่รู้รายละเอียดเปอร์เซ็นส่วนแบ่งที่แน่นอน"
การสำรวจล่าสุดเมื่อไตรมาสสามที่ผ่านมา ไอ-โมบายอ้างว่าแบรนด์ไอ-โมบายสามารถก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์อันดับ 3 รองจากโนเกียและซัมซุง สามารถขยายช่องทางการจัดจำหน่ายรวมเพิ่มขึ้นจาก 18 เปอร์เซ็นต์เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ โดยขยายทั้งในส่วนแฟรนไชส์และโมเดิร์นเทรด (เช่นในเทสโก้ โลตัส) รวมแล้วมีจุดจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศ 360 จุด
สำหรับตลาดต่างประเทศ ไอ-โมบายขยายสาขาไปยังประเทศมาเลเซีย กัมพูชา ศรีลังกา บังกลาเทศ ล่าสุดคือประเทศลาว คิวต่อไปคือเวียดนาม โดยตั้งเป้าผลการดำเนินงานในปี 2548 นี้ประมาณ 2,900 ล้านบาท รายได้หลักมาจากไอ-โมบายประเทศมาเลเซีย ทำรายได้ประมาณ 1,400 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวางแผนขยายฐานไปยังประเทศอื่นๆอย่างอินโดนีเซียและปากีสถาน
นายธนานันท์ วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการของสามารถไอ-โมบาย กล่าวว่า ยอดขายโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายภายในสิ้นปีนี้จะทะลุถึงล้านเครื่องแน่นอน
"ยอดขายโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายในขณะนี้อยู่ที่ 700,000-800,000 เครื่อง สิ้นปีนี้น่าจะทะลุล้านเครื่อง ปีหน้าเราจะทำไอ-โมบายให้เป็น Asia Brand แน่นอน ตอนนี้เรายังไม่เห็นคู่แข่งในตลาด regional brand ในเวียดนามเริ่มเป็นออฟฟิศแล้ว ทุ่มเงินกว่า 20 ล้านบาท ท่าทางน่าจะโตกว่าตลาดลาว ส่วนอัตราการเติบโตคงยังประมาณไม่ได้เพราะเพิ่งเริ่ม แต่คาดว่าปีแรกจะไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ปีต่อไปก็คงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"
********************
เผย ไอ-โมบายรุ่นต่อไปลุยฟีเจอร์ทีวีจูนเนอร์รายแรกของโลก
นายธนานันท์กล่าวว่าปลายปีนี้ไอ-โมบายล์จะเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งจะมีจุดเด่นที่การฝังฟีเจอร์ทีวีจูนเนอร์ในตัวเครื่อง โทรศัพท์รุ่นใหม่นี้จะได้ชื่อว่าเป็นรายแรกของโลกที่ใช้เทคนิคทีวีจูนเนอร์ และยังสามารถเก็บบันทึกภาพรายการที่แสดงบนหน้าจอไว้ในการ์ดหน่วยความจำของตัวเครื่องได้
"โทรศัพท์รุ่นใหม่ที่เตรียมออกปลายปีนี้ จะมีฟีเจอร์ทีวี ผู้ใช้แค่เสียบหูฟังกับเครื่องคล้ายกับการฟังวิทยุเอฟเอ็ม เครื่องก็จะสามารถรับสัญญาณภาพโทรทัศน์ได้ คอนเซ็ปต์คล้ายทีวีติดรถยนต์เครื่องเล็ก ไม่ใช่การใช้ระบบกระจายสัญญาณผ่านดาวเทียมแบบที่มีคนอื่นทำอยู่ตอนนี้ เสาอากาศจะอยู่ในหูฟัง มีลำโพงสเตอริโอเพื่อแสดงผลเสียงคุณภาพสูง"
นายธนานันท์เปิดเผยว่า ผู้ใช้สามารถบันทึกรายการทีวีที่แสดงผลบนหน้าจอโทรศัพท์ลงในแผ่นมินิเอสดีการ์ด หรือการ์ดหน่วยความจำได้ ราคาของโทรศัพท์พร้อมทีวีจูนเนอร์จะอยู่ที่ราว 14,000 ถึง 15,000 บาท โดยจะจำหน่ายพร้อมแนบการ์ดหน่วยความจำขนาดอย่างต่ำ 256MB
"เรารับแนวคิดมาจากบริษัทผลิตโทรศัพท์มือถือในประเทศไต้หวัน บริษัทนี้มีเทคโนโลยีอยู่แล้วแต่ยังไม่กล้าทำ เราทุ่มงบประมาณ 20 ล้านในการทำ R&D เนื่องจากเรามีไลน์ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์สัญญาณอยู่แล้วด้วย เราตั้งเป้าว่าจะสามารถจำหน่ายโทรศัพท์เครื่องใหม่ราว 100,000 ได้ในช่วง 4 ถึง 5 เดือนแรกนับจากมีการเปิดตัว หลังจากนั้นคงจะเริ่มปรับราคาลง"
อย่างไรก็ตาม โทรศัพท์ทีวีจูนเนอร์ของไอ-โมบายล์อาจจะส่งผลในเรื่องลิขสิทธิ์ได้ เนื่องจากผู้ใช้สามารถบันทึกภาพใดๆก็ได้ไว้ในเมมโมรี่การ์ด เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนหรือนำไปแจกจ่ายแก่ใครก็ได้ตามต้องการ
สำหรับแผนในอนาคตอื่นๆของโทรศัพท์รุ่นต่อไปในแบรนด์ไอ-โมบายล์ คือการเพิ่มความละเอียดกล้องดิจิตอลเป็น 5 ล้านพิกเซล, การเปลี่ยนมาใช้เซ็นเซอร์ถ่ายภาพของโซนี่ และความสามารถในการปรับเพิ่มความสว่างของภาพได้
"เรารู้ว่าลูกค้าอยากได้อะไร อันดับหนึ่งคือลูกค้าอยากฟังเพลง สองคือภาพ ไม่มีไอ-โมบายล์รุ่นไหนไม่เป็นจอสี ที่ผ่านมาเราปรับปรุงมาเยอะ ได้รับคำร้องเรียนเรื่องเครื่องเสียบ่อยก็มาก เราลงทุนไป 30 ล้านในเรื่องนี้ ล่าสุดเราเตรียมขยายระบบศูนย์ซ่อม เตรียมสร้างศูนย์ซ่อมเป็นกระจกใสที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ปิ่นเกล้า มาบุญครอง ซีคอน ฟิวเจอร์พาร์ค เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภค"
Company Related Links :
I-Mobile