xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายใหม่ร้านเน็ตคาเฟ่ วิบากกรรมหรือทางสวรรค์ : e-life

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มีคนถามผมว่า “เปิดอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ตอนนี้จะรอดหรือไม่ ต้องทำอย่างไรถึงจะได้กำไร?” ผมเองก็มักจะตอบไปตรงๆ ว่าคิดผิดให้คิดใหม่ได้ ใครที่อยากทำอินเทอร์เน็ตคาเฟ่แบบว่ามีคอมพิวเตอร์ มีห้อง แล้วคิดว่าจะทำกำไรได้ ฝันไปแล้วครับ หมดยุคเรื่องพวกนี้ไปได้เลย


คุณเชื่อไหมครับ มีร้านอินเทอร์เน็ตจำนวนมากที่โดนจับ โดนรีดเงิน ทั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบรรดาทนายตัวแสบ แบบว่าเขาเห็นคุณเป็นแหล่งเงินเพื่อทำให้เขาได้เงินใช้รายเดือนกันเลยทีเดียว ผมเคยนั่งคุยกับคุณคณวัฒน์ วศินสังวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีไอซีที ซึ่งดูแลเรืองนี้โดยตรงแกยังส่ายหน้าและไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ชอบทำตัวเป็นเหลือบของสังคม รังแกคนที่ทำมาหากิน

แต่เรื่องไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศใหม่ เรื่องการแต่งตั้งนายทะเบียน เจ้าพนักงานผู้ตรวจ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 เนื้อหาใจความก็คือ มีการแต่งตั้งนายทะเบียนจากหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก จากเดิมที่เป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยเพียงรายเดียว ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเอง

แต่คราวนี้ใครก็เข้าไปตรวจอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงไอซีที กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ มหาดไทย และตำรวจ

ก็ต้องยอมรับกันหละครับว่า อินเทอร์เน็ต คาเฟ่ในช่วงที่ผ่านมาภาพลักษณ์ทางสังคมต้องถือว่าติดลบ เพราะถูกมองว่ากลายเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นยุคใหม่ไปเสียแล้ว นอกจากนั้นยังถูกมองว่าเป็นแหล่งละเมิดกฎหมายด้านลิขสิทธิ์ ฯลฯ แต่การที่ต้องมีหน่วยงานมาตรวจสอบมากมายขนาดนี้มันไม่เกินไปหน่อยหรือครับ เอาเป็นว่าถ้าคิดในแง่ร้ายสุดๆ ที่เคยจ่ายให้กับตำรวจรายเดือน ต่อแต่นี้ไปไม่ได้แล้วเพราะขืนต้องจ่ายทุกหน่วยงานที่ว่านี่คงต้องปิดกิจการหนีกันไปเลย

คุณคณวัฒน์ เจ้าเดิมของผมก็ระบุว่า คิดในแง่ดีก็คือ ต่อไปนี้ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกแล้วคิดจะจ่ายก็ต้องเจอหลายด่าน แต่ที่แก้ไม่ตกก็คือหากคนทำดีแล้วยังถูกรีดถูกไถอยู่จะทำอย่างไร เพราะกฎหมายไม่ได้เอื้อ และการที่จะเอาคนมาเดินตรวจให้เปลืองกว่าที่เป็นอยู่ก็ไม่ควรอย่างยิ่ง ก็เลยเกิดไอเดียขึ้นว่า เมื่อมันเป็นยุคไอทีกันอย่างนี้แล้ว การตรวจสอบมันก็น่าจะใช้ไอทีเข้ามาเป็นเครื่องมือซะ

เริ่มจากร้านอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ที่มีอยู่ต้องมาลงทะเบียนให้ถูกต้อง แล้วต้องเอาเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการอยู่มาลงทะเบียนด้วย โดยทางไอซีทีจะตั้งเซิร์ฟเวอร์กลางขึ้นมา ปล่อยให้ลงทะเบียนออนไลน์กันซะเลย พร้อมกับดาวน์โหลดโปรแกรมสำหรับ client ไปซักตัวหนึ่ง เพื่อให้มันรายงานกลับมาว่าเครื่องที่ลงทะเบียนนั้นมีธุรกรรมอะไรบ้าง ทางไอซีทีก็ไม่ต้องส่งคนไปกวนที่ร้านเพียงนั่งมอนิเตอร์อยู่ที่ใดที่หนึ่งก็พอ ผมคิดว่าถ้าซื้อความสบายและเห็นว่าเทคโนโลยีมันทำให้การควบคุมทางกฎหมายมันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหากันอีกเรื่องนี้ทางอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วไปก็สมควรร่วมมือ หากรายใดรู้แล้วไม่ลงทะเบียนทางผู้รักษากฎหมายก็ต้องเพ่งเล็งไว้ก่อนว่าน่าจะมีลับลมคมในและควรเข้าไปตรวจสอบ

เรื่องการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ยังไม่ทำให้อินเทอร์เน็ต คาเฟ่จบเรื่องราว เพราะจะมีประกาศนายทะเบียนกลางเรื่อง ข้อกำหนดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ขึ้นมาอีก ซึ่งประกาศตัวนี้ระบุให้ร้านอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ที่มาขออนุญาตต้องไม่ติดฟิล์มกรองแสง หรือวัสดุที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้

ตามมาด้วยร้านต้องมีแสงสว่างเพียงพอให้การใช้บริการ และที่สำคัญต้องอ่านหนังสือได้ ไม่ใช่ขมุกขมัวเป็นคลับไปเลย อากาศต้องถ่ายเท และต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ ต้องสะอาด ไม่มีเสียงดัง ที่เด็ดไปกว่านั้นคือ ห้ามมีที่หรือเสื้อผ้าสำหรับผลัดเปลี่ยนจากชุดนักเรียนมาเป็นชุดธรรมดา ที่ตอนนี้หลายที่ฮิตกันเหลือเกิน

เงื่อนไขการบริการก็คือ ต้องใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดี ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาใช้บริการช่วงก่อนบ่ายสองในวันธรรมดา และหลังสีทุ่มของทุกวัน และห้ามเล่นเกมติดต่อกันเกินกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งจากเดิมเรื่องนี้เป็นมติครม.แต่ไม่มีกฎหมายและประกาศรองรับอันนี้จึงเป็นการรองรับมติอีกทีหนึ่ง

ยังครับ ยังไม่พอ เพราะตอนนี้กำลังมีการร่างกฎหมายจากหลายหน่วยงานรวมทั้งกระทรวงไอซีทีที่จะออกกฎหมาย พ.ร.บ.การให้บริการคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ... ที่จะเป็นกฎหมายเฉพาะอินเทอร์เน็ต คาเฟ่โดยเฉพาะ ไม่ต้องไปอาศัยประกาศของกฎหมายเก่าดังที่กล่าวมาข้างต้น เพราะกฎหมายตัวนั้นมุ่งเน้นการเข้าไปควบคุมเรื่องเนื้อหาให้เทป หรือว่า เป็นกฎหมายเซ็นเซอร์มากกว่า

เนื้อความในกฎหมายใหม่นั้นมองในแง่บวกขึ้นมาบ้าง เพราะเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องดี แต่จะควบคุมมันอย่างไร แต่กฎหมายฉบับเดิมที่ออกประกาศมาแก้ขัดนั้นมุ่งเน้นการควบคุมอย่างเดียว กฎหมายใหม่ยังนิยามการครอบคลุมเอาไว้อย่างดี นั่นคือ ไม่รวมห้องคอมพิวเตอร์ในสถาบันการศึกษา, ห้องบริการคอมพิวเตอร์ในโรงแรม อาคารชุด หรือสถานที่อื่นทำนองเดียวกันเพื่อประโยชน์ของผู้พักอาศัย ฯลฯ

กฎหมายใหม่นอกจากจะมองเรื่องคอมพิวเตอร์จะเอาไปทำอย่างอื่นมากกว่าการใช้ application แล้ว ยังเขียนให้ครอบคลุมไปถึงอุปกรณ์อย่างเกมเพลย์ สเตชั่น หรือเครื่องทำนองนี้ด้วย ใครที่มีทั้งคอมพิวเตอร์และเครื่องเล่นต่างๆ เปิดให้บริการก็ต้องมาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่มากเหมือนกับที่ระบุเอาไว้ข้างต้นแล้ว ทีเด็ดของกฎหมายตัวนี้คือ ระบุเอาไว้เลยว่าร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ต้องติดตั้งชุดคำสั่งที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการเพื่อกลั่นกรองข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อยู่ๆ คนเล่นจะมาเข้าเว็บโป๊จากเครื่องในร้านนี่ทางกระทรวงจะรู้เลยทันที

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ร้านอินเทอร์เน็ต คาเฟ่จะเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการคอมพิวเตอร์ให้กับบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการไม่ได้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลตามคำสั่งศาลหรือผู้ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย เพราะข้อมูลการใช้บริการคอมพิวเตอร์เป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ดังนั้นจึงห้ามเปิดเผยต่อสาธารณชน ถือเป็นการป้องกันไม่ให้ร้านอินเทอร์เน็ตเอาข้อมูลลูกค้าไปขายให้กับบริษัทห้างร้านต่างๆ หรือบรรดาสแปมเมล์ทั้งหลาย

แต่หากผู้ใช้บริการคอมพิวเตอร์กระทำการอันเป็นความผิดหรือการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ โดยใช้คอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการคอมพิวเตอร์ หากผู้ให้บริการคอมพิวเตอร์มิได้รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้กระทำ และมิได้ใช้ประโยชน์หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้ประโยชน์จากการกระทำผิดหรือละเมิดลิขสิทธิ์นั้น มิให้ถือว่าผู้ให้บริการคอมพิวเตอร์กระทำการอันเป็นความผิดหรือการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์

เรียกว่าหากบรรดาคนใช้บริการอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ เกิดไปดาวน์โหลดรูปดารามาตัดต่อ แล้วเอาขึ้นไปโพสต์ในเว็บไซต์ต่างๆ โดยที่เจ้าของร้านไม่รู้เรื่อง ก็จะมาเอาผิดกับเจ้าของร้านไม่ได้ หรือหากคนใช้เน็ตที่ร้านเกิดไปดาวน์โหลดโปรแกรมจากเว็บไซต์แบบ freeware โดยมีกำหนดเวลาใช้ แต่ก็เข้าไปอีกเว็บหนึ่งเพื่อโหลดโปรแกรม crack มาใช้ ทำให้ใช้โปรแกรมนั้นได้ฟรีโดยไม่ถูกกฎหมาย หากเรื่องนี้เจ้าของร้านไม่รู้ก็ไม่ผิดเช่นกัน เรียกว่ากฎข้อนี้มีเจตนารมณ์ป้องกันไม่ให้เจ้าของร้านที่ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วยต้องผิด

ทีเหลือก็เป็นเรื่องของบทลงโทษไป ว่าหากฝ่าฝืนต้องถูกปรับเท่าไหร่ แต่ที่ดูไม่โหดเหมือนตอนนี้ครับ ถามว่าอยากให้กฎหมายใหม่ออกมาไหม คำตอบก็คือ มีดีกว่าไม่มี ใครจะทำธุรกิจนี้ หรือใครกำลังกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้ ศึกษาให้ดีก่อน เดี๋ยวจะไปตกร่องของใครเข้า จะถอนทุนกันไม่ขึ้นครับผม
กำลังโหลดความคิดเห็น