xs
xsm
sm
md
lg

หนุนใช้ประโยชน์ “กูเกิล เอิร์ธ” แนะบล็อกเฉพาะจุดสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายดาวเทียมแนะใช้ประโยชน์จาก “กูเกิล เอิร์ธ” ให้เต็มที่ สร้างความสนุกในวิชาภูมิศาสตร์และใช้สำรวจทรัพยากร ใช้พัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจและสังคม นับเป็นของฟรีที่ให้รายละเอียดภาพมากที่สุด ขณะเดียวกันต้องการให้บล็อกจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ เพื่อความมั่นคงของประเทศ

หลังเว็บไซต์เซิร์ชหาข้อมูลชื่อดัง "กูเกิล" ได้จัดทำแผนที่ดาวเทียมทั่วโลกในนาม "กูเกิล เอิร์ธ" (Google Earth) เอาใจนักท่องเว็บ ให้สามารถเห็นสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างละเอียด โดยเรื่องนี้ได้มีหลายประเทศออกมาคัดค้านโดยเฉพาะเกาหลีใต้ เพราะถือว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคง

ทั้งนี้ในประเทศไทย ทางกระทรวงกลาโหม ได้มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ว่า อาจจะคล้ายๆ การโจรกรรมทางการทหารหรือไม่ แต่บางส่วนก็เห็นว่ามีผลดีต่อการศึกษาด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเรื่องนี้แม้จะเปิดเสรีแต่ก็ต้องมีการควบคุมดูแลในบางสถานที่ โดยเฉพาะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของประเทศ

นายราเมศ โสดารัตน์ กรรมการบริหารสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดเผยว่า Google Earth เปิดให้ใช้บริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน และปัจจุบันนี้ในเว็บไซต์ ที่เป็นแหล่งรวมของชาวท่องเว็บเมืองไทย คือ Pantip.com มีคลับขึ้นมาชื่อว่า Google Earth ในโต๊ะของหว้ากอ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีเว็บแสดงภาพที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่หวือหวาเท่ากับ Google Earth เพราะเป็นเว็บไซต์อันดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ดร.สุรชัย รัตนเสริมพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์ความรู้ด้านอวกาศสำนักเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศได้ชี้แจงว่า ภาพถ่ายจากดาวเทียมแบบนี้มีการใช้ ทางการทหารกันมานานแล้ว 40 ปีมาแล้ว ซึ่งภาพดาวเทียมที่เอามาลงในเว็บไซต์ก็ถือว่า เป็นประเภทหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าอาจจะยังไม่มีความละเอียดสูง ขนาดดาวเทียมโจรกรรม

“ดาวเทียมที่ใช้ลงใน Google Earth 61 เซ็น(ติเมตร) คือสามารถมองเห็นวัตถุตั้งแต่ขนาด 61 เซ็นได้จากภาพ ส่วนดาวเทียมทางการทหารน่าจะต่ำกว่า 20 เซ็น ถ้าดาวเทียมโจรกรรมทางทหาร พูดกันเล่นๆ ว่า สูบบุหรี่เห็นยี่ห้อของบุหรี่เลยนะครับ” ดร.สุรชัยกล่าว และเผยว่าภาพถ่ายดาวเทียมของพลเรือนขนาด 61 เซ็น ถือว่ามีความละเอียดมากที่สุดในขณะนี้

ทางด้านนายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เว็บไซต์แบบ Google Earth ลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของกลุ่มไหน ถ้าจะพูดถึงความมั่นคงของประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แม้ว่าจะไม่ถึง 61 เซ็น แต่การที่มองเห็นสนามบินอยู่ที่ไหน โรงงานทางทหารอยู่ที่ไหน พวกนี้มีความอันตรายอยู่

”ทีนี้ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าหากมันเป็นการส่งข้อมูลจากเมืองนอก แล้วถึงแม้ประเทศไทยเราทำอะไรสักอย่างกันไว้ไม่ให้มีการใช้ ที่อื่นก็สามารถใช้ได้อยู่ดี ประเด็นอยู่ที่ว่า ในแง่ของเทคนิค ผมคิดว่าเราจะไปบล็อกเพื่อไม่ให้คนไทยสามารถเข้าถึง ก็ป้องกันได้ระดับหนึ่ง แต่ถามว่ามันจะเป็นการแก้ปัญหาหรือเปล่า” นายมนูกล่าว

“ถ้าหากทางการทหารหรืออะไรก็แล้วแต่ แจ้งมาที่กระทรวงบอกว่า มีเหตุผลทางด้านความมั่นคง ผมคิดว่าทางกระทรวงคงจะต้องตอบสนอง เพราะว่าเป็นระดับของความมั่นคง แต่ถ้าถามว่าโดยพลการ กระทรวงจะไปบล็อกโดยทันที ด้วยเหตุผลของความมั่นคง ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมก็ไม่แน่ใจว่าทางกระทรวงจะทำได้ด้วยตัวเอง ก็คงต้องชั่งน้ำหนักดู” ผอ.ซิป้าเผย

ทั้งนี้ นายมนูเชื่อว่าถ้าหากบล็อกเฉพาะภายในประเทศแล้ว เกิดมีผู้ไม่หวังดีไปดูที่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือที่ไหนก็ตาม แล้วนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ ทางเราก็ทำอะไรไมได้อยู่ดี ซึ่งผู้ที่ใช้ข้อมูลไม่จำเป็นที่ต้องอยู่เมืองไทย ที่สุดแล้วหากคิดว่าอยากจะป้องกันจริงๆ ถ้าเป็นไปได้ควรเจรจาระดับประเทศ โดยอาจให้ลดรายละเอียดบางจุด ไม่ให้ลงลึกถึงความชัดเจน

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.อธิคม ฤกษบุตร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหานคร ได้แสดงความเห็นว่า ต้องการให้มีการบล็อกเฉพาะตำแหน่งยุทธศาสตร์สำคัญๆ แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นๆได้อยู่ เพราะข้อมูลดังกล่าวเอประโยชน์ในต่อเยาวชนในแง่การศึกษาทางด้านภูมิศาสตร์ อีกทั้งยังสามารถใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ดูเขตพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลายต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนประชาชนก็เห็นแต่ตัวหนังสือ

ดร.สุรชัย เสริมว่า ประโยชน์คือทำให้มองเห็น ภาพทั้งประเทศไทย เอื้อให้มีการจัดการบริหารทรัพยากรของตัวเอง โดยเฉพาะตอนนี้ เรามีปัญหาเรื่องภัยแล้ง ตัวนี้จะบอกได้เลยว่า มีแหล่งน้ำอยู่ตรงไหนบ้าง มีปริมาณน้ำอยู่ตรงไหน ตรงไหนเป็นที่ต้นน้ำ ซึ่งจะต้องช่วยกันดูแลรักษา ตัวนี้จะเป็นตัวที่สำคัญที่จะทำให้ คนในระดับท้องถิ่นรู้ว่า ตอนนี้บ้านของตัวเองอยู่ในสภาพแบบไหน เป็นที่น้ำจะท่วมหรือไม่ เพราะ Google จะมีภาพ 3 มิติ สามารถที่จะจำลองภาพ เหมือนกับนั่งเครื่องบิน นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยังมีส่วนเสียค่าบริการโดยสามารถที่จะเอาข้อมูลจีไอเอส ชี้ถนนหนทาง บ้านคน และรายละเอียดอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งนายอธิคมแสดงความกังวลว่า พอเสียเงินเข้าไปแล้ว จะมีเมนูเพิ่มอีกหลายอย่าง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะบันทึกภาพเหตุการณ์บางสถานที่ที่เป็นเหตุการณ์แบบเคลื่อนไหวได้หรือไม่

ทางด้าน พลตรี วีรศักดิ์ มณีอินทร์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด เปิดเผยว่า เป็นธรรมดาของมาตรการในการความรักษาความปลอดภัยของความมั่นคงของชาติ บางครั้งคงจะต้องไม่เปิดเผยที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งทางการทหาร ที่ตั้งทางรัฐบาล หรือที่ตั้งอะไรก็แล้วแต่ ทั่วประเทศ หรือแม้กระทั่งเส้นทางเข้าออกต่างๆ ในรอบประเทศ โดยภาพที่ออกมา สามารถนำไปวางแผนอะไรได้

อ่านคำสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่
รายการคนในข่าว : บล็อกเว็บไซต์แผนที่โลก google.com!

กำลังโหลดความคิดเห็น