xs
xsm
sm
md
lg

ขอแค่ปลัด ไม่สน CEOอะไรซ่อนอยู่ในใจไกรสร พรสุธี : eLife

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ได้เจอปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที นั่งรถมอเตอร์ไซค์เหงื่อซกเพื่อมางานแถลงข่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่สนับสนุนงานไอซีที เอ็กซ์โป เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาวันนั้นรู้สึกถึงความผ่อนคลายและเพียงพออย่างบอกไม่ถูก

เพราะหัวข้อที่สนทนาระหว่างนักข่าวกับปลัดกระทรวง หลังจากที่ต้องไป defense งบประมาณ 5,000 ล้านบาทสำหรับก.ไอซีทีที่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร มันหนักไม่แพ้กันเลยทีเดียว แรกเริ่มเปิดกันด้วยเรื่องไอซีทีเอ็กซ์โปนี่แหละ

งานนี้ท่านปลัดยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า เทคโนโลยีที่เอามาโชว์มันน้อยไปหน่อย แต่ในแง่ของคนเข้าชมและรายได้นั้นเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะงบสนับสนุนการจัดงานของรัฐบาลจากที่ปี 2004 ต้องควักกระเป๋าไป 30 ล้านบาท ปีนี้เหลือ 20 ล้านบาท คราวหน้าคงเป็นสมการเลขคณิตคือลดลงจนรัฐบาลไม่ต้องสนับสนุนในที่สุด ใครจะว่ายังไงก็แล้วแต่ ความเห็นผมก็คืองานอย่างนี้มันต้องมีกำไรสถานเดียวไม่ควรต้องให้รัฐมาสนับสนุน เพราะบริษัทไอทีทั้งหลายใครๆ ก็อยากมา ขอให้จัดงานชัดเจน และไม่ออกอาการลังเลเหมือนปีนี้

ในแง่แผนประชาสัมพันธ์ กับงานสื่อสารมวลชน งานนี้ปลัดรับไปเต็ม ๆ เพราะมีข้อขัดข้องให้กวนอกกวนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนม้ากลางศึกของรัฐมนตรี ทำให้งานไม่ราบรื่น และไฟเขียวระดับนโยบายพอที่จะหักคอเอกชนนั้นไม่มี

“ปีหน้าเอาใหม่” คือข้อสรุปของท่านปลัดไกรสร พรสุธี ที่เชื่อว่าประสบการณ์ตรงนี้จะทำให้ปีหน้าสู้กับพวกงานยักษ์ใหญ่อย่างคอมมูนิค เอเชียของสิงคโปร์ได้สบายๆ

แต่คำถามของนักข่าวที่ตามมาคือ แล้วโครงสร้างใหม่กระทรวงไอซีทีกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่จะต้องรวมตัวกันนั้น ท่านปลัดคนเก่งจะไปอยู่ที่ไหน “คงไม่มีผมอยู่ และผมคงไม่สมัคร CEO ของหน่วยงานใหม่แน่นอน” คือคำตอบที่บรรดากระจอกข่าวได้รับ

หากย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของที่นี่ ผมเองเคยร่ายยาวให้ฟังหลายรอบ ตั้งแต่การแยกตัวจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มาเป็นสองกระทรวง กระทรวงหนึ่งดูต้นน้ำ กระทรวงหนึ่งดูปลายน้ำ แยกลักษณะการใช้งานกันอย่างชัดเจน จนคณะกรรมการพัฒนาข้าราชการพลเรือนมองว่า สองกระทรวงนี้งานไม่เข้าตาน่าจะกลับมารวมกันใหม่ดีกว่า

ว่าแล้วก็จัดโครงสร้างใหม่เป็นแบบ หนึ่งกระทรวง สองทบวงขึ้นมาแทน เล่นเอาวงแตก หลายคนบ่นส่ายหน้าว่าถอยหลังเข้าคลอง แต่แล้วจู่ๆ ก็มีการนำเสนอรูปแบบของกระทรวงขึ้นมาใหม่ โดยเป็นหน่วยงานคล้ายๆ กับบีโอไอ (ในสายตาผม)

นั่นคือ มีรัฐมนตรีดูแล ซึ่งอาจเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายก หรือรองนายกรัฐมนตรี และมีคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ด คอยกำกับทิศทาง ตัวรัฐมนตรีคงนั่งเป็นประธานบอร์ดบริหาร ต่อจากนั้นก็มี CEO เปลี่ยนจากตำแหน่งปลัดกระทรวง เพราะตรงนี้เปิดกว้างให้ใครก็ได้ ไม่ใช่ข้าราชการลูกหม้อที่ไต่เต้ามาเรื่อยๆ เรียง เหมือนเดิม นอกจากนั้นยังไม่จำเป็นต้องเป็นคนไทยก็ได้ อาจจะไปเชิญคนเก่งจากเมืองนอกที่เคยบริหารบริษัทไอทีใหญ่โตมาดูแลก็ยังได้ ถือว่าเป็นการเปิดกว้างทางโครงสร้างจริงๆ

ส่วนหน่วยงานที่มีอยู่เดิม อย่างเช่น เนคเทค ซิป้า ฯลฯ ก็จะเป็นสำนักงานที่ขึ้นตรงกับบอร์ดชุดนี้ ทุกหน่วยงานมีอิสระไม่ยึดติดกับโครงสร้างของราชการเดิม ต้องถือว่าเป็นโครงสร้างที่กล้าหาญชาญชัยอย่างมาก

ข้อดีของโครงสร้างนี้คือ สำนักงานของ CEO จะเล็กมาก มีหน้าที่กำหนดทิศทางการบริหารงานให้ทุกฝ่ายราบรื่น สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในขณะนั้น เรียกว่าทำงานรับลูกนักการเมืองก็ว่าได้ แล้วจึงไปเอื้อให้กับหน่วยงานในสังกัดที่นับวันจะกลายเป็นหน่วยงานอิสระ หรือหน่วยงานระดับองค์การมหาชนมากขึ้น

ที่สำคัญก็คือ ความพยายามของภาครัฐในการรวมศูนย์ระบบไอทีเข้าไว้ด้วยกันจะง่ายมากขึ้น เพราะตอนนี้ก.ไอซีทีจะทำเว็บไซต์แบบอีเซอร์วิสแต่ละครั้ง จำเป็นต้องไปขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ทำให้เกิดเรื่องปวดหัวกันอยู่เป็นประจำ มันกลายเป็นโครงการเล็กๆ ที่หน่วยงานอื่นเขาไม่สนใจ แต่ถ้าในโครงสร้างใหม่ แล้วเขียนผูกเรื่องการทำไอทีของแต่ละส่วนต้องผ่านหน่วยงานนี้ก่อนก็จะทำให้ประเทศไม่เสียผลประโยชน์ไปได้อีกอื้อ

ข้อเสียเห็นๆ ก็คือ บรรดาข้าราชการที่อยู่ตอนนี้ต้องเคว้งคว้าง ความคิดที่จะเป็นจะอยู่ในระบบราชการจนขึ้นถึงปลัดกระทรวงระดับ C11 ตอนนี้ก็เลิกฝันสำหรับกระทรวงนี้ไปได้เลย อาจทำให้ขวัญกำลังใจช่วงนี้ลดหาย กำลังกายกำลังใจคงจะไม่มีทำงานเป็นเรื่องเป็นราว เพราะมัวแต่เอาเวลาไปโอนย้ายหน่วยงาน บางรายเพิ่งโอนมาจากกระทรวงอื่นมาเพิ่งจะ 2-3 ปี ต้องย้ายไปกระทรวงอื่นอีกแล้ว อย่างนี้อนาคตก็แย่นิดหน่อย

แต่เมื่อรวมข้อดีกับข้อเสีย ผมเชียร์โครงสร้างใหม่มากกว่า ไหนๆ จะเปลี่ยนกันแล้ว คิดใหม่ทำใหม่ กันให้สิ้นเรื่องสิ้นราว มาดูกันสิว่าโครงสร้างข้าราชการหากเปลี่ยนไปเช่นนี้ การทำงานของรัฐจะดีขึ้น และเป็นที่พึ่งของคนไทยไอทีได้หรือไม่?

Company Related Links :
ICT
กำลังโหลดความคิดเห็น