Update อินเทลเปิดตัวอย่างเป็นทางการ "Intel Pentium D" โปรเซสเซอร์ Dual-Core ตัวแรกสำหรับเมนสตรีมพีซี และชิปเซ็ต "Intel 945 Express" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 2 แพลตฟอร์มใหม่สำหรับดิจิตอลโฮมและดิจิตอลออฟฟิศ สินค้าจะเริ่มมีวางตลาดในเดือนหน้า โดยกลุ่มเป้าหมายแรกจะเป็นผู้ใช้ระดับไฮเอนด์ ก่อนขยับลงมาเป็นเมนตรีมภายใน 12 เดือน
บริษัทอินเทล (Intel) ผู้ผลิตพีซีโปรเซสเซอร์อันดับ 1 ของโลก เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2548 ว่า อินเทลได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ "Pentium D" โปรเซสเซอร์ Dual-Core ตัวแรกของอินเทลสำหรับตลาดคอนซูเมอร์พีซี และชิปเซ็ต "Intel 945 Express" ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับพีซีแพลตฟอร์มใหม่ของอินเทล
Pentium D เป็นโปรเซสเซอร์ที่พัฒนาขึ้นภายใต้โค้ดเนม "Smithfield" มีคอร์ 2 ตัวทำงานอยู่ในแพ็คเกจชิปตัวเดียวกัน โดยการทำงานจะแยกเป็นอิสระจากกันโดยสมบูรณ์ มีทรัพยากรต่างๆ เป็นของตัวเอง คอร์โปรเซสเซอร์จะพัฒนาบนสถาปัตยกรรม "Prescott" ใช้เทคโนโลยี 90 นาโนเมตรในกระบวนการผลิต แต่ถูกปิดการทำงานของ HyperThreading ไว้ ตรงกันข้ามกับ Pentium Extreme Edition 840 ที่ซัพพอร์ต HyperThreading ด้วย
ในเบื้องต้น Pentium D จะมีออกมา 3 โมเดล ได้แก่ Pentium D 820 ความเร็ว 2.8GHz, Pentium D 830 ความเร็ว 3.0GHz และ Pentium D 840 ความเร็ว 3.2GHz โดยมีราคาอยู่ที่ 241, 316 และ 530 ดอลลาร์ (ประมาณ 9,664; 12,671 และ 21,253 บาท) ตามลำดับ ต่อการสั่งซื้อคราวละ 1,000 ตัว
Intel 945X Express
"Intel 945X Express" เป็นชิปเซ็ตใหม่ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้ได้กับทั้ง Pentium 4 600 Series และ Pentium D โดยจะมีออกมาหลายเวอร์ชัน อาทิ เวอร์ชันที่มีกราฟิกในตัว "Intel 945G" สำหรับโลว์เอนด์พีซี และเวอร์ชันที่ไม่มีกราฟิกในตัว "Intel 945P" สำหรับระบบไฮเอนด์
Intel 945 จะซัพพอร์ต Dual-Channel DDR2-667 และสามารถรองรับฮาร์ดดิสก์ Serial ATA II-3Gbps (กิกะบิตต่อวินาที) ได้ถึง 4 ตัว เทียบกับ DDR2-533 และ Serial ATA-1.5Gbps ของชิปเซ็ต 915 Express นอกจากนี้ยังสนับสนุน PCI-Express มากถึง 6 สล็อต ฟรอนต์ไซด์บัสความเร็ว 1,066MHz รวมถึงการสนับสนุน RAID 5 และ RAID 10 สำหรับการใช้งานฮาร์ดดิสก์ 4 ตัวพร้อมกัน
อินเทลกำหนดราคาจำหน่ายชิปเซ็ต 945G ไว้ที่ 42 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,684 บาท) และชิปเซ็ต 945P ไว้ที่ 38 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,523 บาท)
ดิจิตอลโฮมแพลตฟอร์ม
ดิจิตอลโฮมแพลตฟอร์มของอินเทลจะประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ โปรเซสเซอร์ Pentium D, ชิปเซ็ต Intel 945G ซึ่งมีกราฟิกในตัว และชุดซอฟต์แวร์ที่เน้นด้านความบันเทิงเป็นหลัก เพื่อให้พีซีแพลตฟอร์มใหม่เป็นศูนย์กลางความบันเทิงภายในบ้านอย่างสมบูรณ์แบบ
เทคโนโลยีที่น่าสนใจในดิจิตอลโฮมแพลตฟอร์ม ได้แก่ Intel High Definition Audio ระบบเสียงรอบทิศทาง 7.1 ซึ่งสามารถสตรีมเสียงหลายๆชุดส่งไปยังห้องอื่นๆภายในบ้านได้พร้อมกัน ผ่านเอาต์พุตแจ็คของพีซี
Intel Graphics Media Accelerator 950 ระบบกราฟิกที่สามารถแสดงผลสามมิติได้อย่างสมบูรณ์แบบยิ่งกว่า มีความเร็วในการประมวลผลสูงกว่ารุ่นก่อน 2 เท่า ให้ภาพคมชัดสมจริง
Intel Matrix Storage Technology เทคโนโลยีระบบเก็บรักษาข้อมูลที่รองรับเทคโนโลยี RAID 5 และ 10 ที่นอกจะมีการแบ็คอัพข้อมูลเป็น 2 ชุดแล้ว ยังมีการเข้ารหัสข้อมูล ทำให้ข้อมูลมีขนาดเล็กลง ซึ่งช่วยประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บ รวมถึงเรียกใช้ได้อย่างรวดเร็วด้วย
ดิจิตอลออฟฟิศแพลตฟอร์ม
โปรเฟสชั่นแนลบิซิเนสแพลตฟอร์ม หรือพีบีพี (Professional Business Platform; PBP) เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมขององค์กรธุรกิจ ซึ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความง่ายในการจัดการบริการทรัพยากรไอที และการทำงานร่วมกันเป็นทีม
พีบีพีจะประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ โปรเซสเซอร์ Intel Pentium 4 600 Series, ชิปเซ็ต Intel 945G, Intel Pro/1000 PM กิกะบิตอีเธอร์เน็ตอแดปเตอร์ และเทคโนโลยีใหม่ Intel Active Management Technology (AMT) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Stable Image Platform Program (SIPP) ของอินเทล
AMT ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ดูแลระบบในการบริหารจัดการเครื่องไคลเอนต์บนเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งซอฟต์แวร์อัปเดท รันโปรแกรมวิเคราะห์ปัญหา (Diagnostic) หรืออื่นๆ ทั้งยังสามารถเข้าถึงได้จากระยะไกล หรือแม้แต่ในเวลาที่เครื่องไคลเอนต์เป้าหมาย Off อยู่ก็ตาม อันหมายถึงต้นทุนการดูแลรักษาที่ลดลง
SIPP เป็นโครงการที่ทางอินเทลรับประกันว่าไดรเวอร์อิมเมจของแพลตฟอร์มจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลา 12 เดือนนับจากวันที่เริ่มโครงการ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพีซีจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งก็ตาม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ดูแระบบไอที
พีบีพียังช่วยเพิ่มซีเคียวริตี้ให้กับองค์กรด้วย ด้วยการสนับสนุน Execute Disable Bit ที่สามารถป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสและหนอนคอมพิวเตอร์ รวมถึงสปายแวร์ ที่ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Buffer Over Flow ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เทคนิคนี้ได้
การตลาด
"การทำตลาดคงจะเริ่มจากลุ่มไฮเอนด์ก่อน เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูงในช่วงเริ่มต้น เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง คิดว่าไม่เกิน 12 เดือน ราคาโปรเซสเซอร์และชิปเซ็ตน่าจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับเมนสตรีม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นตลาดเป้าหมายก็คงเป็นเมนสตรีมโดยอัตโนมัติ" นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเทล กล่าว
เขาคาดว่า ผลิตภัณฑ์พีซีที่ใช้แพลตฟอร์มใหม่ของอินเทลจะมีให้เห็นในท้องตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จากผู้ผลิตชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Acer, Tora, Supreme, SVOA, Laser, Belta ฯลฯ
ด้านคู่แข่งของอินเทล เอเอ็มดี (Advanced Micro Devices; AMD) ผู้นำนวัตกรรมพีซีโปรเซสเซอร์ มีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ "AMD Athlon 64 X2" โปรเซสเซอร์ Dual-Core สำหรับเดสก์ท็อปพีซี ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2005 นี้
สำหรับกรณีที่แอปเปิลฯมีแผนจะใช้โปรเซสเซอร์ของอินเทลนั้น ทางผู้บริหารอินเทลประเทศไทยปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้
Company Related Links:
Intel
AMD