Update อะโดบีเปิดตัว พร้อมวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ในประเทศไทย ”Acrobat 7.0” อวดฟีเจอร์ใหม่ ให้คนรับไฟล์ PDF เขียนความเห็นลงไปบนตัวเอกสารได้โดยเอกสารยังคงเป็นต้นฉบับ มีออปชั่นให้เลือกมากกว่าเพื่อการจัดการเอกสารที่มีประสิทธิภาพ และซัปพอร์ตภาษาไทยได้ดีกว่า ตั้งเป้าโกยแชร์ปี 2548 เพิ่ม 50% จากปีนี้ที่ขยายตัว 62%
บริษัทอะโดบีซิสเต็มส์ (Adobe Systems) เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม 2548 ว่า อะโดบีได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ “Adobe Acrobat 7.0“ เวอร์ชั่นล่าสุดของซอฟต์แวร์สร้างสรรค์และบริหารจัดการเอกสารประสิทธิภาพสูง โดยเวอร์ชั่นนี้มีจุดเด่นที่สามารถรองรับการใช้งานภาษาไทยได้ดีขึ้น ทั้งการป้อนและการแสดงผลข้อมูล
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้รับหรืออ่านเอกสาร PDF สามารถเขียนความคิดเห็นของตัวเองลงบนเอกสารได้ โดยที่เนื้อหาในเอกสารไม่มีการเปลี่ยนแปลงและยังคงสภาพเหมือนต้นฉบับทุกประการ ซึ่งช่วยให้สะดวกสบายมากขึ้นเมื่อต้องมีการระดมความคิดเห็นภายในทีม
Adobe Acrobat 7.0 ออกสู่ตลาดทั้งหมด 4 เวอร์ชั่น ได้แก่ Professional, Standard, Elements และ Reader โดยตัว Reader จะให้ผู้ใช้เปิดอ่าน, สั่งพิมพ์ และค้นหาไฟล์ PDF ได้เท่านั้น ส่วน Elements จะมีความสามารถในการสร้างไฟล์ PDF จาก Word, Excel และ PowerPoint เพิ่มเข้ามา
Reader เป็นซอฟต์แวร์แจกฟรี และเหมาะสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคน ส่วน Elements จะเหมาะสำหรับองค์กรที่เน้นเรื่องความประหยัดเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวอร์ชั่น 7.0 ทางอะโดบีได้ลดจำนวนไลเซนส์ลงจาก 1,000 ไลเซนส์เหลือเพียง 100 ไลเซนส์ เพื่อให้องค์กรที่สนใจสามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น จากค่าตัวที่ถูกลง
Standard จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สร้างสรรค์ไฟล์ PDF ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ไม่ใช่แค่สร้างไฟล์ PDF จาก Word, Excel และ PowerPoint เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างจากอีเมลใน Outlook จากเว็บเพจใน Internet Explorer จากไฟล์ของโปรแกรม Access หรือจากหลายๆโปรแกรมรวมกันก็ได้ อย่างไรก็ตาม เวอร์ชั่นนี้แม้จะเปิดโอกาสให้ผู้รับไฟล์ PDF สามารถแสดงความคิดเห็นลงในเอกสารโดยใช้เครื่องมือที่เตรียมไว้ให้ได้ แต่ก็ไม่สามารถเขียนรายละเอียดลงในเอกสารได้ เวอร์ชั่นนี้จะเหมาะกับองค์กรทุกระดับ
Professional จะมีความสามารถเหมือนกับรุ่น Standard แต่เปิดโอกาสให้เขียนความเห็นลงในเอกสารได้ สามารถสร้างไฟล์ PDF จาก AutoCad, Visio และ Project ได้ และสามารถบริหารจัดการได้อย่างหลากหลายมากขึ้น เช่น กำหนดจำนวนครั้งในการเปิดอ่านไฟล์ได้ กำหนดตัวผู้อ่านไฟล์ได้ หรือสามารถดึงไฟล์กลับได้หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในระหว่างการส่ง โดยทำงานร่วมกับ Adobe LiveCycle Policy Server เวอร์ชั่นนี้ได้รับการออกแบบมาสำหรับผู้ใช้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น วิศวกร หรือ สถาปนิก หรือองค์กรที่มีการทำงานซับซ้อน
โดยภาพรวม เวอร์ชั่น 7 สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น สามารถแปลงหรือสร้างเอกสาร PDF ได้ด้วยการคลิกเมาส์ที่ปุ่มขวาหรือปุ่มบนไทเทิลบาร์ของวินโดว์สในโปรแกรมต่างๆที่ซัพพอร์ต โดยไม่จำเป็นต้องเปิดโปรแกรม Acrobat ขึ้นมาให้ยุ่งยากแต่อย่างใด สามารถแปลงไฟล์จากโปรแกรมต่างๆให้เป็นเอกสาร PDF จำนวน 1 ไฟล์ได้ภายในครั้งเดียว รองรับสกุลไฟล์ได้มากขึ้น เครื่องมือบริหารจัดการเอกสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปลอดภัยมากขึ้นจากการผนวกรวมเทคโนโลยีซีเคียวริตี้ต่างๆเข้าไว้ในตัว
“จากตัวเลขการเติบโตในปีที่แล้ว 62% สำหรับประเทศไทย ทำให้ปีนี้เราคาดหวังการเติบโตไว้ประมาณ 50% ซึ่งเรามั่นใจว่าทำได้อย่างแน่นอน” เรย์มอนด์ ลี (Raymond Lee) ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทอะโดบีฯ กล่าว
เขากล่าวว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Acrobat 7.0 คือกลุ่มองค์กรที่มีการใช้เอกสารเป็นจำนวนมาก เช่น บริษัทการเงิน, บริษัทที่ทำเกี่ยวกับกฎหมาย และองค์กรที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย เช่น โรงพยาบาล
“วัตถุประสงค์ของ Acrobat คือการลดต้นทุนในการดำเนินงานของลูกค้า” เขากล่าว พร้อมอธิบายว่า “ทุกวันนี้องค์กรส่วนใหญ่ใช้กระดาษ ใช้เอกสาร ใช้แฟ็กซ์ พวกนี้มีต้นทุน เป็นวัสดุสิ้นเปลือง เราต้องการช่วยลูกค้าลดภาระเหล่านั้น ให้ระบบสารสนเทศภายในองค์กรของลูกค้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น และให้พวกเขามีความสามารถในการทำกำไรมากขึ้นด้วย”
สำหรับการทำตลาด อะโดบีจะทำตลาด Acrobat ผ่านทางพันธมิตร ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เป็นซิสเต็มอินทิเกรเตอร์ หรือเอสไอ กลุ่มที่ปรึกษา และกลุ่มที่เป็นเทรนนิ่งเซ็นเตอร์
อะโดบีตั้งราคาสำหรับ Acrobat ไว้ดังนี้ สำหรับองค์กรทั่วไป Professional ราคา 19,919 บาท Standard ราคา 13,259 บาท สำหรับสถาบันการศึกษา Professional ราคา 5,999 บาท Standard ราคา 3,719 บาท
ส่วนการอัพเกรดจากเวอร์ชั่น 6.0 Professional ไปเป็น 7.0 Professional ราคา 7,049 บาท อัพเกรดจาก 4.0, 5.0 และ 6.0 Standard ไปเป็น 7.0 Professional ราคา 7,049 บาท และการอัพเกรดจาก 4.0, 5.0 และ 6.0 Standard ไปเป็น 7.0 Standard ราคา 4,389 บาท
“แผนของอะโดบีในปี 2548 สำหรับประเทศไทยจะเน้น 4 เรื่อง 1.ส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน Acrobat มากขึ้นและยอดขายเพิ่มขึ้น 2.กระตุ้นให้เกิดการใช้งาน Creative Suite โดยใช้กลยุทธ์ราคา 3.ส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง และ 4.ผลักดันให้เกิดการเติบโตในกลุ่มผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์” เรมอนด์กล่าว
Company Related Links :
Adobe Systems