xs
xsm
sm
md
lg

AMD คลอด Sempron ก้าวสู่ยุค 90 นาโนเมตร และเตรียมตั้งออฟฟิศในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอ็มดีคลอด Sempron โลว์เอนด์โปรเซสเซอร์ พร้อมประกาศความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตสู่ขนาด 90 นาโนเมตร และเตรียมตั้งออฟฟิศในประเทศไทยภายในไตรมาส 3 นี้

Sempron เป็นโปรเซสเซอร์ตระกูลใหม่ล่าสุดจากเอเอ็มดี มีเป้าหมายที่กลุ่มโลว์เอนด์เป็นหลัก แต่ก็สามารถข้ามไปตลาดมิดเอนด์ได้บางส่วน ด้วยสมรรถนะสูงสุดเหนือคู่แข่งระดับเดียวกัน

“ทุกวันนี้ผู้ใช้ทั้งคอนซูเมอร์และบิซิเนสมีการใช้งานด้านมัลติมีเดียมากขึ้น ซึ่ง Sempron สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วนและคุ้มค่าที่สุด” ตัน ซี กี ผู้จัดการฝ่ายเทคนิคประจำภูมิภาค กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวติ้ง บริษัทเอเอ็มดี ฟาร์อีสต์ กล่าว

เช่นเดียวกับต่างประเทศ เอเอ็มดีคลอด Sempron ออกสู่ประเทศไทยทั้งหมด 12 โมเดล แบ่งเป็นเดสก์ท็อป 7 โมเดล ได้แก่ AMD Sempron 3100+, 2800+, 2600+, 2500+, 2400+, 2300+ และ 2200+ และโมบายล์ 5 โมเดล 2 กลุ่ม ได้แก่ Mobile AMD Sempron 2600+, 2800+ และ 3000+ สำหรับโน้ตบุ๊คประเภทฟูลไซส์ และโปรเซสเซอร์ Mobile AMD Sempron 2600+ และ 2800+ สำหรับโน้ตบุ๊คประเภทบางและเบา

กลุ่มเดสก์ท็อป AMD Sempron 2800+ ถึง 2200+ จะพัฒนาบนสถาปัตยกรรม Athlon XP ซัพพอร์ตเอฟเอสบี (Front Side Bus; FSB) ความเร็ว 333MHz แคช L2 ขนาด 256KB น้อยกว่า Athlon XP ครึ่งหนึ่ง และมีความเร็วระหว่าง 1.5-2.0GHz

Sempron 3100+ เป็นเพียงโมเดลเดียวที่พัฒนาบนสถาปัตยกรรม Athlon 64 แต่จะไม่มีความสามารถด้าน 64 บิตอยู่ในตัว กระนั้นก็มีในสิ่งที่ Celeron ไม่มี เช่น ความสามารถด้านซีเคียวริตี้ในตัวผ่านฟีเจอร์ Enhanced Virus Protection ซึ่งจะถูกเปิดการทำงานโดย Microsoft Windows XP Service Pack 2 และเทคโนโลยีไฮเปอร์ทรานสปอร์ต (Hypertransport) ลดปัญหาคอขวดในฟรอนต์ไซด์บัสด้วยการเชื่อมโปรเซสเซอร์, เมมโมรี่คอนโทรลเลอร์ และอินพุตเอาต์พุตพอร์ตถึงกันโดยตรง รันที่ความเร็ว 1.8GHz พร้อมแคช L2 ขนาด 256KB เทียบกับ 1MB ของ Athlon 64

กลุ่มโมบายล์ Mobile AMD Sempron 2600+ และ 2800+ ของทั้งสองกลุ่มจะรันที่ 1.6GHz ต่างกันที่แคช รุ่น 2600+ จะใช้แคชขนาด 128KB ส่วนรุ่น 2800+ ใช้แคชขนาด 256KB ขณะที่โมเดล 3000+ จะรันที่ 1.8 GHz และใช้แคชขนาด 128KB

สำหรับราคา ทางเอเอ็มดีไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดด้านราคาออกมาแต่อย่างใด แต่ราคากลางบนเว็บไซต์ของเอเอ็มดีระบุไว้ว่า โปรเซสเซอร์ Mobile AMD Sempron 2600+, 2800+ และ 3000+ สำหรับโน้ตบุ๊คประเภทฟูลไซส์จะมีราคาที่ 84, 108 และ 120 ดอลลาร์ ตามลำดับ โปรเซสเซอร์ Mobile AMD Sempron 2600+ และ 2800+ สำหรับโน้ตบุ๊คประเภทบางและเบาจะมีราคาอยู่ที่ 107 และ 134 ดอลลาร์ และเดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ AMD Sempron 2200+, 2300+, 2400+, 2500+, 2600+, 2800+ และ 3100+ จะมีราคาอยู่ที่ 39, 45, 61, 74, 85, 109 และ 126 ดอลลาร์ (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 41.2 บาท)

“Sempron มีเป้าหมายที่กลุ่มโลว์เอนด์ที่มีการใช้งานเฉพาะแอพพลิเคชั่น 32 บิต ส่วนผู้ที่ต้องการความสามารถด้าน 64 บิตด้วย นั่นเป็นหน้าที่ของ Athlon 64” ตัน ซี กี กล่าว

สู่ยุค 90 นาโนเมตร

เอเอ็มดีประกาศความสำเร็จในการอัพเกรดเทคโนโลยีการผลิตไปเป็นขนาด 90 นาโนเมตร เตรียมทะยอยเข้าสายพานผลิตโปรเซสเซอร์ทั้งหมดภายในครึ่งแรกของปี 2005 ไล่ตั้งแต่โปรเซสเซอร์สำหรับพีซียันเซิร์ฟเวอร์

พร้อมกันนี้ เอเอ็มดีก็ได้เปิดตัวชิปที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขนาด 90 นาโนเมตรรุ่นแรกออกสู่ตลาดด้วย โดยได้เริ่มจัดส่งให้กับบรรดาผู้ผลิตพีซีชั้นนำแล้ว เป็นชิปในตระกูล Low-Power Mobile Athlon 64 โค้ดเนม Oakville โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์โน้ตบุ๊คที่ใช้ชิปดังกล่าวจะเริ่มปรากฏให้เห็นในท้องตลาดภายใน "ไม่กี่เดือนข้างหน้า" ตามรายงานจากเอเอ็มดี

การอัพเกรดเทคโนโลยีการผลิต ในกรณีนี้เป็นการเปลี่ยนจาก 130 นาโนเมตรไปเป็น 90 นาโนเมตร จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถเพิ่มสมรรถนะของชิปขึ้นได้ ด้วยจำนวนทรานซิสเตอร์ที่มากกว่าในชิปแต่ละตัว ยิ่งกว่านั้นการอัพเกรดยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและชิปกินไฟน้อยลงด้วย ซึ่ง Oakville จะกินไฟเฉลี่ย 31 วัตต์ ลดลง 10% จากชิป Low-Power Mobile Athlon 64 รุ่นที่ทำตลาดอยู่ในปัจจุบัน

เทคโนโลยี 90 นาโนเมตรยังส่งผลดีต่อเอเอ็มดีในด้านการดำเนินงานด้วย เพราะขนาดที่เล็กลงทำให้สามารถผลิตชิปได้จำนวนมากขึ้นบนแผ่นเวเฟอร์ขนาดเท่าเดิม นัยหนึ่งคือต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งผลลัพธ์ก็คือตัวเลขรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับเอเอ็มดีซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสนี้เป็นต้นไป

เทคโนโลยี 90 นาโนเมตรยังช่วยเอเอ็มดีในโครงการชิปดูอัลคอร์ (Dual-Core) ด้วย ชิปดูอัลคอร์จะมีคอร์โปรเซสเซอร์ 2 ตัวทำงานอยู่บนชิปตัวเดียวกัน ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้เทคโนโลยี 90 นาโนเมตรในการผลิตชิปดูอัลคอร์ก็คือ ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ขนาดที่เล็ก และกินไฟต่ำ เอเอ็มดีมีกำหนดคลอดชิปดูอัลคอร์ในช่วงกลางปี 2005

นอกเหนือจากเทคโนโลยี 90 นาโนเมตรแล้ว เอเอ็มดียังมีโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขนาด 65 นาโนเมตรซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตสำหรับอนาคต ร่วมกับไอบีเอ็มด้วย อย่างไรก็ตาม “ยังไม่มีแผนสำหรับชิป 65 นาโนเมตรในขณะนี้แต่อย่างใด” เอเอ็มดีระบุ

เอเอ็มดีไทยแลนด์

แม้เอเอ็มดีจะยังไม่มีแผนสำหรับการขยายโรงงานผลิตแฟลชเมมโมรี่หรือตั้งโรงงานผลิตโปรเซสเซอร์ในประเทศไทย แต่ข่าวดีคือเอเอ็มดีกำลังจะเปิดออฟฟิศในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยมีเป้าหมายที่การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร, คู่ค้า และผู้บริโภคให้มากขึ้น

“เรามีแผนตั้งออฟฟิศในประเทศไทย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการด้านเอกสารและการอนุมัติจัดตั้งตามกฎหมาย คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยมีภารกิจหลักคือการสนับสนุนด้านการขายและการตลาดผลิตภัณฑ์เอเอ็มดีแก่พันธมิตรในประเทศไทย” ชุน โยชิซาว่า ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัทเอเอ็มดี ประเทศญี่ปุ่น กล่าวและว่า “วัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับฝ่ายต่างๆให้มากขึ้น ทั้งผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ภายในประเทศ, พันธมิตร, คู่ค้า, ดิสทริบิวเตอร์, รีเทลเลอร์, รัฐบาล และลูกค้า เราให้ความสำคัญกับทุกส่วนเท่าๆกัน

สำหรับโครงสร้างองค์กร “ขณะนี้กำหนดไว้เพียง 1 ตำแหน่งเท่านั้น ยังไม่ระบุลงไปว่าเป็นตำแหน่งอะไร แต่คือผู้นำที่จะพาองค์กรให้ก้าวเดินและเติบโตต่อไปข้างหน้า และเป็นคนไทยที่มีประสบการณ์สูง” ชุนกล่าวและว่า “เรื่องลอจิสติกก็เช่นกัน ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ คงรอให้สำนักงานเอเอ็มดีในประเทศไทยเกิดขึ้นก่อน และฟังสรุปจากผู้บริหารซึ่งเป็นคนไทยอีกครั้ง ก่อนจะตัดสินใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบลอจิสติกหรือไม่”

กรณีการปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดประเทศไทยของเอเอ็มดีมีความล่าช้า ต่างจากคู่แข่งอย่างอินเทลที่ลอนช์สินค้าพร้อมกับทางอเมริกานั้น ชุนกล่าวว่า “นโยบายของเอเอ็มดีในปัจจุบัน จะลอนช์สินค้าออกสู่ตลาดพร้อมกันทั่วโลก และมีสินค้าวางจำหน่ายในทันที ความล่าช้าที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากข้อบกพร่องบางประการ”

“หลังสำนักงานเอเอ็มดีในประเทศไทยเปิดดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย เชื่อว่าปัญหาความล่าช้าดังกล่าวจะหมดไปอย่างแน่นอน” ชุนกล่าว

Company Related Links:
AMD
กำลังโหลดความคิดเห็น