xs
xsm
sm
md
lg

"ทวี" ประชุมขับเคลื่อน “ศูนย์พักคอยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด CI” 5 จังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รมว.ยธ. เดินหน้าขับเคลื่อน “ศูนย์พักคอยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด CI” 5 จังหวัดชายแดนใต้ หวังลดการกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ

วันนี้ (27 ก.ค.) ณ ห้องรับรอง VIP 11 ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมสรุปผลการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการศูนย์พักคอยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด (Community Isolation: CI) โดยมี นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม , พ.ต.ท.นริช สอนดิษฐ์ ผอ.ปปส.ภ.9 พร้อมผู้แทนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลาและปัตตานี ตลอดจนองค์การบริหารส่วนจังหวัด เข้าร่วมการประชุม

การประชุมครั้งนี้ เป็นการต่อยอดผลจากการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์พักคอยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อนำแนวทางการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาปรับใช้ในบริบทของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายจากข้อจำกัดด้านระบบบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เช่น จำนวนเตียงไม่เพียงพอ การจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลก่อนเวลาอันควร รวมถึงการขาดระบบรองรับหลังออกจากสถานพยาบาล ทำให้ผู้ผ่านการบำบัดจำนวนไม่น้อยเสี่ยงต่อการกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ

ผลจากการศึกษาดูงานและข้อเสนอจากพื้นที่ ผู้แทนจากจังหวัดต่าง ๆ ได้แสดงความเห็นต่อการนำรูปแบบ CI ไปปรับใช้ในพื้นที่ ดังนี้ จังหวัดสงขลา มีความพร้อมในการปรับใช้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 16 แห่งในแต่ละอำเภอ ให้กลายเป็นศูนย์พักคอย โดยจะประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. /เทศบาล ให้ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน , จังหวัดสตูล เสนอว่าความสำเร็จของโครงการขึ้นอยู่กับการผลักดันของผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมชี้ถึงข้อจำกัดด้านบุคลากร งบประมาณ และศักยภาพสถานพยาบาลในพื้นที่ ตลอดจนการเคารพอัตลักษณ์ของชุมชน

จังหวัดนราธิวาส เสนอให้ สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนดรูปแบบการดำเนินงานและกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคและอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องนอน เป็นต้น , จังหวัดปัตตานี มีความพร้อมด้านสถานที่และทีมงาน แต่อาจประสบปัญหาด้านงบประมาณในการบริหารจัดการศูนย์ฯ และ จังหวัดยะลา เสนอให้มีเกณฑ์กำหนดระยะเวลาการพักคอยอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาความแออัด พร้อมเน้นย้ำการมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพงานบำบัดให้ยั่งยืน


ข้อเสนอเพื่อการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ได้เสนอแนะให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการแก้ไขปัญหา และไม่ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว รวมถึงการส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากร ขณะที่สำนักงาน ปปส.ภ.9 ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนโครงการในระยะถัดไป ได้แก่ การผลักดันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งศูนย์พักคอย การสนับสนุนจาก อปท. โดยควรมีคำสั่งจากส่วนกลางเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเกิดขึ้นได้จริง ในระยะแรกควรจัดตั้งศูนย์พักคอยอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนปรับปรุงระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับการดูแลผู้ผ่านการบำบัดจากแบบเหมารุ่น เป็นแบบรายหัว เพื่อให้สามารถรองรับผู้เข้าศูนย์ได้ทุกวัน และสนับสนุนการดำเนินงานได้จริง

รมว.ยุติธรรม เน้นย้ำว่า ศูนย์พักคอยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด คือ กลไกสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างระบบการรักษากับการกลับเข้าสู่ชีวิตจริงของผู้ผ่านการบำบัด การดูแลอย่างต่อเนื่องหลังออกจากสถานบำบัด ไม่เพียงช่วยลดโอกาสในการกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ผ่านการบำบัดได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีอาชีพ และเป็นที่ยอมรับของสังคมอีกครั้ง ดังนั้น การขับเคลื่อนโครงการนี้จะต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญคือ “ชุมชน” ที่จะต้องตระหนักร่วมกันว่า ปัญหายาเสพติดไม่ใช่ภาระของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น