xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจหอบสำนวนคดี ตึก สตง.ถล่ม กว่า 233 แฟ้ม ยื่นอธิบดีอัยการคดีอาญาพิจารณาสั่งฟ้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ตำรวจหอบสำนวนคดี ตึก สตง.ถล่ม กว่า 233 แฟ้ม 9 หมื่นหน้า ยื่นอธิบดีอัยการคดีอาญาพิจารณาสั่งฟ้องกลุ่มผู้ต้องหา อธิบดีอัยการมั่นใจ พิจารณาสั่งฟ้องคดีทันกรอบฝากขัง

วันนี้ (22 ก.ค.) เมื่อเวลา 09:00 น. ที่สำนักงานสำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และสน.บางซื่อ นำสำนวนในคดีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม จำนวน 51 ลัง 233 แฟ้ม เอกสารจำนวนกว่า 98,926 แผ่น ใส่รถบรรทุก 6 ล้อ มาเพื่อส่งฟ้องต่อสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 227, 238 กับกลุ่มผู้ต้องหาทั้งนิติบุคคล และส่วนตัว รวม 23 คน รวม 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 บริษัทผู้ออกแบบ กลุ่มที่ 2 บริษัทผู้รับจ้างควบคุมการก่อสร้าง และกลุ่มที่ 3 บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง

โดยมี พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ และพล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รวมถึงหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน มายื่นสำนวนด้วยตนเอง

หลังจากขึ้นไปพูดคุยกันนานกว่า 1 ชั่วโมง ทางด้าน พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต. นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. รวมถึงนายสัญจัย จันทร์ผ่อง อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังส่งสำนวนคดีตึกสตง.ถล่ม

พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. เปิดเผยว่า วันนี้เราได้ดำเนินการสอบสวนคดีตึก สตง.ถล่มเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งได้ส่งสำนวนการสอบสวนมาทั้งหมด 233 แฟ้ม 51 ลัง เป็นจำนวน 90,000 กว่าแผ่นให้กับพนักงานอัยการ เพื่อคณะทำงานศึกษา และรับสำนวนการสืบสวนของเรา โดยในการสืบสวนเรามีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด 7 บริษัท 18 ราย รวมทั้งหมด 23 ราย

ส่วนการแยกกลุ่มผู้ต้องหาตามความผิดนั้น ประกอบด้วย “เป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุมหรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ร่วมกันปลอม และใช้เอกสารปลอม” ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องทุกราย และทุกข้อกล่าวหา


นอกจากนี้ พล.ต.ต.สมควร กล่าวว่าผู้ต้องหาทั้งหมดยังถูกฝากขัง และยังไม่ได้รับการประกันตัว ขณะนี้อยู่ระหว่างฝากขังผัดที่ 6 ซึ่งทั้งหมดมี 7 ผัด

เมื่อถามว่า กรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่พบข้อมูลว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับคดีตึก สตง.ที่ส่งสำนวนให้กับ ป.ป.ช. มีการตอบกลับมาหรือไม่

พล.ต.ต.สมควร ระบุว่า เรื่องนี้มีคนมาร้องทุกข์เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. และเราได้มีการส่งสำนวนไปในห้วงเวลา 30 วันแล้ว หลังจากนี้จะต้องไปขยายผลเพิ่ม ในส่วนที่มีผู้มาร้องว่ามีเนื้อหาสาระที่เป็นประเด็นเดียวกันหรือไม่ เพื่อจะรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนจะส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับ ป.ป.ช.ทีหลัง และมีการมอบหมายให้เกี่ยวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งทาง ป.ป.ช. ได้รับสำนวนไว้แต่ยังไม่ได้ตอบกลับอะไรกลับมา

ผู้สื่อข่าวถามว่าอัยการจะพิจารณาสำนวนทันก่อนครบฝากขังครั้งที่ 7 วันที่ 6ส.ค.หรือไม้นายสัญจัย จันทร์ผ่อง อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ยืนยันว่าเรื่องนี้อย่างไรก็ต้องทำให้ทัน เพื่อจะต้องสั่งทางคดีอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเรามีคณะทำงานในเรื่องนี้ แม้สำนวนในคดีจะมีเอกสารค่อนข้างเยอะแต่เราก็จะทำโดยละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเราจะต้องทำให้ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องมีการตั้งคณะทำงานเข้ามาดูแลหรือไม่ นายสัญจัย ระบุว่า คดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่สน. บางซื่อ เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานอัยการกองคดีอาญา 8 และอาจจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกขั้นเมื่อถามว่าจะต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาช่วยดูแล และพิจารณาสำนวนในคดีนี้หรือไม่ นายสัญจัย ระบุว่า เบื้องยังไม่ต้องแต่ถ้าหากตรงไหนมีความขัดข้องก็จะประสานกับตำรวจเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวถามว่าวันนี้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอะไรกันหรือไม่เพื่อให้คดีรวดเร็วขึ้น นายสัญจัย ระบุว่าพึ่งพูดคุยกันในวันนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการพูดคุยกันมาก่อน

เมื่อถามว่าจะต้องมีการสั่งสอบพยานเพิ่มเติมหรือไม่ นายสัญจัย ระบุว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะพึ่งรับสำนวนคดีมา และพึ่งมีการพูดคุยกันเพียงเล็กน้อยจะต้องไปดูในรายละเอียดอีกทีนึง ว่าอะไรขาดตกบกพร่องตรงไหน

ผู้สื่อข่าวถามว่าคดีนี้หากฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีการร้องขอความเป็นธรรม จะมีการรับพิจารณาและ พิจารณาสำนวนได้ทันในกรอบฝากขังก่อนหรือไม่ นายสัญจัย ระบุว่า หากมีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาก็จะต้องรับมาพิจารณาอยู่แล้ว เพราะเป็นไปตามกฎระเบียบ ส่วนข้อร้องขอความเป็นธรรมจะต้องไปดูว่าเป็นประเด็นที่ตำรวจสอบสวนไปแล้วหรือไม่ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา เพราะพึ่งรับสำนวน ส่วนในชั้นพนักงานสอบสวนของตำรวจ ก็ยังไม่มีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาเช่นกัน

ทั้งนี้จากการสืบสวนสอบสวนของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา รวม 23 ราย ในข้อหา “เป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุมหรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตร 227, 238 , 264 , 268 , 83 , 91

โดยแบ่งกลุ่มผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องตามพฤติการณ์ในคดี 3 กลุ่มรวม 23 ราย ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ออกแบบ 7 คน บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทคจำกัด และ บริษัทไมนฮาร์ท(ประเทศไทย) จำกัด
1.นายสุชาติ ชุติปภากร อายุ 64 ปี (นิติ , ส่วนตัว) 5.นายชัยณรงค์ เสียงไพรพันธ์ อายุ 43 ปี
2.นายพิมล เจริญยิ่ง อายุ 85 ปี 6.นายอภิชาติ รักษา อายุ 38 ปี
3.นายธีระ วรรธนะทรัพย์ อายุ 59 ปี (นิติ,ส่วนตัว) 7.นายวิศาล จุลพัลลภ อายุ 38 ปี
4.นายสุพล อัครอารีสุข อายุ 51 ปี

กลุ่มที่ 2 ผู้ควบคุมงาน 5 คน บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด , บริษัทเคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และ บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์จำกัด
1.นายปฏิวัติ ศิริไทย อายุ 53 ปี (นิติ,ส่วนตัว) 4.นางปราณีต แสงอลังการ อายุ 63 ปี (ฐานะนิติบุคคล)
2.นายกฤตภัฏ ปล่องกระโทก อายุ 51 ปี (นิติ,ส่วนตัว) 5.นายสมชาย ทรัพย์เย็น อายุ 59 ปี
3.นายพลเดช เทิดพิทักษ์วานิช อายุ 56 ปี(นิติ,ส่วนตัว)

กลุ่มที่ 3 ผู้รับจ้างก่อสร้าง 6 คน บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์10 (ประเทศไทย) จำกัด
1.นายเปรมชัย กรรณสูตร อายุ 71 ปี (นิติ,ส่วนตัว) 4.นายเกรียงศักดิ์ กอวัฒนา อายุ 65 ปี
2.นางนิจพร จรณะจิตต์ อายุ 73 ปี (ฐานะนิติบุคคล) 5.นายอนุวัฒ คันษร อายุ 54 ปี
3.นายชวนหลิง จาง อายุ 42 ปี (นิติ,ส่วนตัว) 6.นายธิปัตย์ รัตนวงษา อายุ 43 ปี
คดีนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาครบถ้วนแล้ว และอยู่ระหว่างฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญา ครั้งที่ 6 จะครบกำหนดในวันที่ 26 กรกฏาคม 2568 ซึ่งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เชื่อมั่นในพยานหลักฐานเพื่อยืนยันการกระทำผิดผู้ต้องหาเนื่องจากได้ส่งวัตถุ และแบบแปลนไปให้สถาบันต่างๆ ตรวจพิสูจน์ ซึ่งได้มีผลการตรวจยืนยัน อาทิเช่น 1.การออกแบบและมีแก้ไขแปลนอาคารที่เกิดเหตุ ไม่เป็นไปตามหลักมาตรฐาน 2.ใช้วัสดุที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ในแบบแปลน 3.ผู้ควบคุมงานที่ไม่ควบคุมดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลน โดยพบว่ามีการแอบอ้างชื่อวิศวกรมาเป็นผู้ควบคุมงานโดยผู้นั้นมิได้มาทำหน้าที่ควบคุมงานจริง เป็นต้น

ส่วนกรณีที่นายดำรง พุฒตาล และนางนารากร ติยายน แจ้งความให้ดำเนินคดีกับ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่า สตง. คนปัจจุบัน และนายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่า อดีตผู้ว่า สตง.นั้น ในข้อหา “กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจำนวนมาก และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” นั้น คณะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการส่งเรื่องให้ ปปช. พิจารณาแล้ว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น