MGR Online - "ดีเอสไอ" ร่วม ปปง. ประชุมคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน สว. สอบพยานแล้วกว่า 90 ปาก พบโยงเงินกระจาย 30 จังหวัด จ่อเรียกนักการเมืองเข้าให้ปากคำ คาด 1 เดือนเห็นความชัดเจน
วันนี้ (17 ก.ค.) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุม 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย นายสุริยน ประภาสะวัต อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 , นายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , นายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 ร่วมประชุมกรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงผู้ที่เป็นสมาชิกอั้งยี่และผู้สนับสนุน หรือคดี "อั้งยี่-ฟอกเงิน สว." เพื่อหารือกรอบการสอบสวน สรุปผลการดำเนินการว่าสอบสวนปากคำพยานได้ความอย่างไรบ้าง ความคืบหน้าทางคดี และแนวทางการสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติม จะเรียกใครเพิ่มอีกหรือไม่ เนื่องด้วยพฤติการณ์ใด รวมถึงจะดำเนินการเร่งรัดการสอบสวนอย่างไรบ้าง
พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า การสอบสวนขณะนี้มีความคืบหน้า 70 เปอร์เซ็นต์ มีการสอบปากคำพยานรวมแล้ว 90 ปาก ทั้งกลุ่มที่เข้าไปรู้เห็นการวางแผน การทำหน้าที่ต่างๆ และพยานหลักฐานเกี่ยวกับการโอนเงิน ขณะเดียวกันได้มีการประชุมร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดเกี่ยวกับฟอกเงินเพิ่มเติม ยังพบความเชื่อมโยงเส้นทางการเงินกับนักการเมืองระดับท้องถิ่นในกว่า 30 จังหวัด และมีแนวโน้มขยายไปถึงนักการเมืองระดับประเทศ ซึ่งอาจรวมถึงผู้ที่มีตำแหน่งในพรรคการเมือง โดยเงินบางส่วนที่ใช้ในการจัดฮั้ว ถูกโอนกลับไปยังกลุ่มคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาประจำตัว ส.ว. นอกจากนี้ ในการสอบปากคำรอบถัดไปเตรียมเรียกผู้ที่มีชื่ออยู่ในข่ายกระทำผิด หากพบว่ามีนักการเมืองหรือ ส.ส.เข้าไปเกี่ยวข้อง จะดำเนินการเรียกสอบทั้งหมด ซึ่งมีรายชื่ออยู่แล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยว่า ขณะนี้มีผู้เข้าข่ายกระทำผิด มากกว่า 100 ราย แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนผู้ต้องหาแน่ชัด ต้องรอผลการสอบสวนและพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ต้องหาเข้าข่ายทั้งการฟอกเงิน (โอนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับความผิด) และความผิดฐานอั้งยี่ (รวมกลุ่มเพื่อกระทำการอันมิชอบ) ทั้งนี้ ดีเอสไอยังไม่ออกหมายเรียกผู้ต้องหาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนมากขึ้น คาดว่าในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า จะสามารถเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาได้ ขึ้นอยู่กับหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม
"ก่อนหน้านี้ พยานเคยเชิญมาให้ข้อมูลดีเอสไอแต่ปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีฮั้ว สว. อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายปกติทั่วไป แต่ยืนยันพบพฤติการณ์เพราะช่วงเลือกตั้ง สว. มีการรับโอนเงินก้อนใหญ่กระจายไปยังบุคคลอื่นๆ หลายสิบเส้นทางการเงินและมีคนไปลงสมัคร สว. ในช่วงนั้นและเลือกคนที่อยู่ในโพย ซึ่งโยงใยกันในหลายเรื่อง" อธิบดีดีเอสไอ ระบุ
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขอไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับมติของคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนส่วนกลาง คณะที่ 26 ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้จะมีเจ้าหน้าที่จากดีเอสไอเข้าไปร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย โดยหลักการแล้วจะไม่ยึดโยงกันแต่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าหากบุคคลใดถูกดำเนินคดีในส่วนของ กกต. แล้วจะต้องถูกดำเนินคดีอั้งยี่-ฟอกเงินด้วย แต่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน
ด้าน นายวิทยา กล่าวว่า วันนี้ทางดีเอสไอ เชิญ ปปง. มาให้ความเห็นทางคดีเกี่ยวกับความผิดมูลฐานฟอกเงิน และเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน แบ่งเป็น 1.ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด 2.ทรัพย์สินที่ช่วยสนับสนุนการกระทำความผิด และ 3.บุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวทรัพย์สิน เป็นเรื่องของคดีอาญาฟอกเงิน ฉะนั้น เมื่อถึงวันที่ดีเอสไอ ต้องดำเนินคดีฐาน "อั้งยี่-ฟอกเงิน" กับบุคคลใด ปปง. จะเข้ามาตรวจสอบเรื่องการสืบทรัพย์สินเพื่อออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ชั่วคราวนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน เพราะ ปปง. เข้ามาดูจะต้องมีความชัดเจน และประชาชนก็ให้ความสำคัญ
"ส่วนการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดในขณะนี้ ยังให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สามารถเข้ามาชี้แจงได้ สำหรับเส้นทางการเงินเชื่อมโยงบุคคลจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง แต่มูลค่ายังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากต้องมีความชัดเจนตามพยานหลักฐาน เพราะต้องส่งสำนวนชั้นอัยการและศาลในขั้นตอนกฎหมาย"