xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาไต่สวนคดี "ทักษิณ" นอนชั้น 14 นำอธิบดีกรมคุก รองอธิบดีและอดีต ผบ.เรือนจำเบิกความ 4 ปาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ศาลฎีกาไต่สวนคดี"ทักษิณ"ป่วยนอนรัาษาตัว ชั้น 14 นำอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รองอธิบดีและอดีตผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 4 ปาก ช่วงบ่ายไต่สวน อดีตผอ.โรงพยาบาลราชทัณฑ์

วันนี้ (15 ก.ค.) ที่ศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน ศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

โดยก่อนหน้านี้ศาลได้นัดไต่สวนนายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กลุ่มแพทย์ประจำสถานพยาบาลราชทัณฑ์ 5 ปาก และกลุ่มพัศดีเวรประจำวัน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

ในวันนี้ศาลฎีกาได้ไต่สวนพยานทั้งหมด 6 ปาก แบ่งเป็นช่วงเช้าไต่สวนพยานเสร็จสิ้น จำนวน 4 ปาก ประกอบด้วย

1.นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

2.นายนัสที ทองปลาด อดีตผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

3.นายสิทธิ สุทธีวงศ์ อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

4.นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

และอีก 2 ปาก ไต่สวนในช่วงบ่ายเป็น 5.นพ.พงศ์ภัค อารียาภินันท์ และ 6. นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้บริหารโรงพยาบาลราชทัณฑ์


ทั้งนี้ช่วงเช้าศาลฎีกาได้ไต่สวนผู้บริหารกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับเรื่อง การรับตัวนายทักษิณเข้ามาที่เรือนจำการตรวจร่างกายของพยาบาลเรือนจำ การส่งตัวนายทักษิณไปรักษายังโรงพยาบาลตำรวจ อาการป่วยของนายทักษิณ โดยมีความเห็นของแพทย์ที่จะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเร่งด่วนและมีการขยายเวลาการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในช่วงเวลา 30 วันและช่วงเวลา 60 วันโดยพยานระบุว่ามีการเซ็นคำสั่งไปตามความเห็นของแพทย์ โดยในการพิจารณาดังกล่าว เป็นไปตามกฎกระทรวง และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (พ.ร.บ.) พ.ศ.2563 รวมถึงการขอพระราชทานอภัยโทษ และเรื่องการพักโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ต่อมาช่วงบ่าย พยานรายที่ 5 คือ นายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ปัจจุบันเป็นรักษาการผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยในขณะที่มีการส่งตัวจำเลยไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ พยานดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฯ ส่วนการแพทย์ ทำให้พยานมีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยเฉพาะช่วงที่มีการพิจารณารักษาโรงพยาบาลภายนอกเกิน 120 วัน โดยทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ขอความเห็นประกอบการพิจารณาว่าการที่จำเลยจะต้องเข้ารับการผ่าตัดในตอนนั้น เกินศักยภาพของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือไม่

นอกจากนี้ ศาลเน้นสอบถามพยานในเชิงขอความเห็นทางการแพทย์ว่า อาการในวันส่งตัว รวมถึงประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ สอดคล้องกันหรือไม่ และแนวทางการรักษาทั้งหมด เกินศักยภาพของทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์จริงหรือไม่ โดยมีการให้ดูเอกสารบันทึกของแพทย์และพยาบาลที่ดูแลรักษาจำเลยขณะที่อยู่โรงพยาบาล และถามความเห็นในฐานะแพทย์

อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลซักถามเสร็จสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมง ทนายความของจำเลย ได้ขออนุญาตศาลสอบถามพยานว่า ในทางการแพทย์ การที่แพทย์ที่ไม่ได้ทำการรักษาคนไข้เอง มาอ่านบันทึกการรักษาของแพทย์คนอื่น จะมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นทางการรักษาหรือไม่ พยานก็บอกว่าโดยปกติในทางการแพทย์ สิ่งสำคัญคือแพทย์จะต้องตรวจรักษาผู้ป่วยและซักประวัติด้วยตนเอง จึงจะได้ความเห็นที่ถูกต้องที่สุด

พยานรายที่ 6 คือ นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข อดีตผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีการส่งตัวจำเลยไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยเป็นผู้มอบหมายแพทย์เวรให้เข้าไปตรวจร่างกายจำเลยในช่วงที่รับตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้ทำการรักษาด้วยตนเอง เนื่องจากมีหน้าที่ในส่วนงานบริหารเท่านั้น ซึ่งศาลได้ถามในเชิงขอความเห็นทางการแพทย์จากบันทึกการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเช่นกัน และถามย้ำในศักยภาพการรักษาของทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

สำหรับการพิจารณาของศาลในครั้งนี้ ศาลกำชับบุคคลภายนอกที่ได้รับอนุญาตเข้าฟังการไต่สวน ไม่ให้จดบันทึกคำเบิกความ โดยเนื่องจากป้องกันไม่ให้กระทบเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล


นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความส่วนตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังศาลเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานจำนวน 6 ปากในคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 ว่า กระบวนการไต่สวนวันนี้เป็นไปตามข้อสงสัยของศาล โดยให้ทั้งฝ่ายจำเลยและฝ่ายโจทก์มีโอกาสซักถามอย่างเต็มที่

นายวิญญัติ กล่าวว่า ศาลยังได้ออกหมายเรียกให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์มาให้การเกี่ยวกับกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาเกินกว่า 120 วัน พร้อมรายงานสถิติที่เกี่ยวข้อง และอ้างอิงมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ (Mandela Rules) ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ควรได้รับโอกาสในการรักษาอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ศาลอนุญาตให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์และผู้เกี่ยวข้องส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 7 วัน ก่อนจะมีการไต่สวนครั้งถัดไปในวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 ซึ่งจะเป็นการไต่สวนแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และทีมแพทย์ที่ดูแลอาการป่วยของนายทักษิณ

สำหรับพยานฝ่ายจำเลยที่เหลือ นายวิญญัติ เปิดเผยว่า ได้ยื่นขอเบิกพยานเพิ่มอีก 3 ปาก โดยในจำนวนนี้ 2 รายเป็นแพทย์ที่ศาลมีคำสั่งเรียกมาไต่สวนแล้ว และได้ยื่นคำถามล่วงหน้าสำหรับใช้ในการซักถามไว้เรียบร้อย ส่วนพยานอีก 1 ปาก ศาลยังไม่มีคำสั่งรับหรือปฏิเสธ แต่ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงไว้แล้ว พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าเพื่อความเป็นธรรม ศาลควรพิจารณาอนุญาตให้เบิกพยานรายนี้ด้วย

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความกังวลของฝ่ายจำเลย

นายวิญญัติ กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกหนักใจ เนื่องจากนายทักษิณมีอาการป่วยจริง ทั้งในขณะพำนักอยู่ต่างประเทศและขณะถูกคุมขังในเรือนจำ โดยเฉพาะในวัยกว่า 70 ปี และมีโรคประจำตัวหลายโรค ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ พร้อมย้ำว่าศาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างรอบคอบ และเชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมในที่สุด

ส่วนแนวทางการต่อสู้ นายวิญญัติ ยืนยันว่าได้ยื่นคำชี้แจงต่อศาลครบถ้วน โดยการไต่สวนยังอยู่ในกระบวนการปิดลับ ซึ่งได้มีการกำชับจากศาลแล้ว

นายวิญญัติ ทิ้งท้ายว่า ขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการรายงานข่าวตามข้อเท็จจริง โดยหลีกเลี่ยงการตีความหรือให้ข้อมูลที่อาจสร้างความสับสนแก่สาธารณชน ยืนยันว่าศาลกำลังดำเนินการอย่างรอบคอบและอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและความยุติธรรม

ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้ยื่นขอให้ศาลฎีกาอนุญาตเปิดเผยข้อเท็จจริง ที่ทนายความของนายทักษิณ ชินวัตร ขอศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยรายละเอียดการไต่สวน นั้นขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลฎีกาเคยยกคำร้อง แต่ก็ไม่ถึงขนาดไม่อนุญาตให้เข้าฟังเพียงแต่ให้อยู่ในภาพรวม ถ้าตนเป็นทนายความของนายทักษิณจะอนุญาตให้เปิดเผยความจริงทั้งหมด

ขณะนี้ความจริงได้ปรากฎก็เสียวไส้กับคนที่ไปช่วยที่อาจจะต้องไปติดคุกแทน เพราะได้พานายทักษิณไปนอนโรงพยาบาล วันที่ 18 ก.ค.นี้ตนจะนำใบเสร็จ ว่าทำไมนายทักษิณ จะต้องจ่ายเงินทั้งที่น่าจะไม่ได้ป่วย ความจริงจะปรากฎจะได้รู้ว่านายทักษิณโกหกประชาชนอย่างไรและเป็นต้นตอเหตุนี้ทั้งหมด
ที่ผ่านมาศาลก็ระมัดระวังเพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่อยากให้สื่อลงรายละเอียดคำไต่สวนทั้งหมด ทำให้พยานที้ยังไม่ได้สืบรู้ว่าพยานก่อนหน้านี้เบิกความอย่างไร ก็ต้องเข้าใจศาล

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี กล่าวว่า พยานเบิกความแบ่งเป็น 2 ชุด ชุดแรกเกี่ยวกับราชทัณฑ์ ชุดที่สองเป็นโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านเรียกว่าแทบจะน็อคแล้วหรือEndgame เพราะทุกอย่างได้รับการเปิดเผยว่านักโทษที่ถูกส่งตัวและอ้างว่าป่วยวิกฤติ ประเมินแล้วประมาณ 2 วันก็อาการทุเลาแล้ว โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพในการรักษา ส่วนผู้บริหารกรมราชทัณฑ์นั้น ศาลได้ซักถามเกี่ยวกับใบรับรองแพทย์มี่ทำการรักษาระหว่างวันที่ 30-120 วัน เป็นอำนาจของใคร ฝ่ายแพทย์อ้างว่าเป็นอำนาจของราชทัณฑ์ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อ้างว่าเป็นอำนาจของแพทย์
วันที่ 22 ส.ค.2566 ก่อนที่จะส่งตัวนายทักษิณ ศาลก็ได้ซักถามจนมีเอกสารว่าให้มีการเตรียมพร้อม นั่นแสดงว่า อาจรู้แล้วว่าเตรียมพร้อมจะส่งตัวไปโรงพยาบาลภายนอก
และยังซักต่อประเด็นที่ไม่รับตัวนักโทษกลับเรือนจำ เพราะอาการหนักใช่หรือไม่

ศาลซักถามต่อว่าทำไมป่วยหนักต่อเนื่องกัน 181 วันและวันที่18 ก.พ.2567 ที่ได้ปล่อยตัว จึงมีอาการหายป่วยทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น