ตำรวจไซเบอร์ส่งสำนวนคลิปเสียงสนทนา “ฮุนเซน” กับ “แพทองธาร” ให้อัยการสูงสุดพิจารณาฟ้องต่อศาล เอาผิดอาญา-ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (14 ก.ค.) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (ผบก.สอท.1) นำสำนวนการสอบสวนคดี “คลิปเสียงฮุน เซน” จำนวน 50 หน้า รวมทั้งหมด 1 แฟ้ม ให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาความเห็นยื่นฟ้องต่อศาลอาญา โดยมี นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับสำนวน
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า กรณีที่ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.สอท.1 เพื่อดำเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Samdech Hun Sen of Cambodia” ซึ่งมีการเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนา ระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กับ สมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยเห็นว่า อาจเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวข้อง
ผบก.สอท.1 กล่าวว่า ต่อมา คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนของ บก.สอท.1 ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้น พบว่า พฤติการณ์ในคดีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดที่ได้กระทำนอกราชอาณาจักรไทย ซึ่งตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หลังการสอบสวนแล้วเสร็จทางคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน บก.สอท.1 จึงได้นำสำนวนการสอบสวนพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 กำหนดให้อัยการสูงสุดมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนรายใดดำเนินการสอบสวนแทนได้ ทั้งนี้เป็นดุลพินิจของท่านอัยการสูงสุดในการพิจารณาดำเนินการ
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับผู้กระทำความผิดเป็นแอดมินเพจ จำนวนมากกว่า 1 คน ส่วนสมเด็จฮุนเซนเป็นผู้กระทำผิดร่วมด้วยหรือไม่อันนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในสำนวนการสอบสวน ส่วนสำนวนคดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. ยื่นเรื่องให้พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. เกี่ยวกับเรื่องการสั่งฆ่านักการเมืองพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา จะแบ่งการสอบสวนไปอีกจำนวนหนึ่ง
โดย พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า จากการตรวจสอบเฟสบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “Samdech Hun Sen of Cambodia” ที่มีการโพสต์ข้อความและปล่อยคลิปเสียง พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน เบื้องต้นพบว่า ผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวอยู่ในประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักรไทย โดยตามประมวลกฎหมายอาญา ทางพนักงานสอบสวนจะต้องส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการประเด็นอาจจะเข้าข่ายความผิดมาตรา 116 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
สำหรับรายละเอียดของมาตรา 116 หรือ “มาตรา 116 อาญา” คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”
ด้าน นายศักดิ์เกษม กล่าวว่า ในส่วนขั้นตอนของอัยการสูงสุด หลังจากรับสำนวนแล้วอัยการสูงสุดส่งสำนวนไปให้สำนักงานอัยการสอบสวน เพื่อพิจารณาสำนวนคดี ว่า ความผิดนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 เป็นคนวามผิดนอกราชอาณาจักรหรือไม่ หากเห็นว่าเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร สำนักงานอัยการสอบสวนจัดส่งความเห็นให้อัยการสูงสุด ในฐานะเป็นพนักงานสอบสวนคดีนอกจากราชอาณาจักรตามกฎหมาย หรือให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้ตั้งพนักงานสอบสวนคนใดคนหนึ่ง หรือพนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวน ซึ่งหลังการสอบสวนจัดส่งสำนวนกลับมาให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าคดีมีมูลพอฟ้องหรือไม่ หากคดีมีมูลพอฟ้องจะยื่นฟ้องต่อศาลอาญา จากนั้นหากจำเลยไม่มาปรากฏตัวที่ศาลจะต้องยื่นขอออกหมายจับจากอินเตอร์โพลตามขั้นตอน