ศาลฎีกานักการเมืองไต่สวนพยานแพทย์ คดีชั้น 14 ด้าน "หมอวรงค์" ร่วมฟัง เผยไม่กังวลใจในคดีนี้ไม่ถูกแทรกแซง เพราะเข้าสู่ขั้นตอนการไต่สวนแล้ว
วันนี้ (4 ก.ค.) ที่ศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ศาลได้ไต่สวน นายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คนปัจจุบัน เกี่ยวข้อเท็จจริงในขั้นตอนของการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองได้นัดไต่สวนพยานอีก 20 ปากในครั้งถัดไป โดยในวันนี้จะเป๋นการไต่สวนพยานที่เป็นกลุ่มแพทย์ พยาบาล จำนวน 5 ปาก เช่นพยาบาลในสถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ในจำนวนนี้มี พ.ญ รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ และน.พ.ณัฐพร แพทย์ประจำโรงพยาบาลราชทัณฑ์ รวมถึงพยาบาลประจำสถานพยาบาลราชทัณฑ์ 1 คน
ต่อมา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ตนเข้ามาร่วมฟังการไต่สวนคดีชั้น 14 ที่ได้ติดตามมานานพอสมควร และตนเชื่อว่าภายหลังการไต่สวนคดีนี้จะมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น และได้อ่านรายละเอียดของคดีหลายประเด็น ซึ่งมีการอ้างถึงมาตรา 55 ในการส่งนักโทษไปรักษาการภายนอก กับ พ.ร.บ มาตรา 55 มีความขัดแย้งกัน ซึ่งตนอ่านเจอว่ากฎกระทรวงมีความขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์มาตรา 55 ที่กำหนดว่ามีอาการเจ็บป่วยทางจิต หรือโรคติดต่อ ให้ส่งไปสถานพยาบาลโดยเร็ว แต่ใน พ.ร.บ. กล่าวไว้ว่าให้ส่งไปพบแพทย์โดยเร็ว ซึ่ง 2 ประเด็นนี้มีความขัดแย้งกัน ความเห็นส่วนตัวของตนมองว่าการใช้กฎกระทรวงดังกล่าวใช้ไม่ได้ จึงอยากมาฟังประเด็นนี้
เมื่อถามว่ามีเรื่องของการแทรกแซงกระบวนการหรือไม่ นายแพทย์วรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นประมาณเดือน มี.ค.แต่ข้อมูลที่ได้รับเพิ่งได้เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา และเราตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง ซึ่งตนมองว่าคนที่เอาข้อมูลมาให้ต้องการให้เป็นการปรามกระบวนการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และตนทราบว่ากำลังมีการตรวจสอบหลังจากที่เราได้เผยแพร่ข้อมูลนี้ออกไป ซึ่งตนขอยังไม่พูดรายละเอียดตรงส่วนนี้ แต่ตนทราบว่ามีการขยับในการตรวจสอบประเด็นนี้แล้ว
เมื่อถามว่ามีความกังวลอะไรหรือไม่ในวันนี้ นพ.วรงค์ ระบุว่าวันนี้เข้าสู่กระบวนการการไต่สวนแล้ว เห็นว่าผ่านขั้นตอนการแทรกแซงมาแล้ว ดังนั้นการที่สื่อสารเลือกแทรกแซงออกมาเพราะต้องการสื่อสารให้รู้ว่าในอดีตเคยมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ซึ่งโชคดีที่ตอนนี้ขบวนการเข้าสู่กระบวนการไต่สวน ขอขอบคุณและชื่นชมศาลฎีกาที่ให้สื่อมวลชนเข้าไปรับฟังการไต่สวนเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน จนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาออกมา ประชาชนจะได้เรียนรู้และเข้าใจ
นอกจากนี้ยังพบว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะโจทก์ มีนายสุรพงษ์ อินทรถาวร รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. มาพร้อมกับกับเอกสารใส่ในกระเป๋าลาก เพื่อเข้าชี้แจงต่อศาล
ซึ่งนายสุรพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาถึง ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับผู้สื่อข่าว แต่เดินเข้าศาลเพื่อเข้าห้องพิจารณาคดีทันที