xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำพิพากษาคดี "แตงโม" ยกฟ้อง "แซน-กระติก-ภีม" จำคุก-ปรับเงิน "จ๊อบ" รอลงอาญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



เปิดคำพิพากษาคดีแตงโม ดาราสาวตกเรือสปีดโบ๊ทดับ ศาลชี้ "แซน-กระติก-เอ็ม" ไม่ได้กระทำผิด เหตุโจทก์ไม่มีพยานหลักฐาน ส่วน "จ็อบ" เททิ้งแก้วและขวดไวน์ จงใจทำลายหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าคนขับเรือประมาทหรือไม่

กรณี ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.292/2566 ที่พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี โจทก์ ยื่นฟ้องนายวิศาพัช หรือ แซน มโนมัยรัตน์ จำเลยที่ 1 นายนิทัศน์ หรือ จ๊อบ หรือจ็อบ กีรติสุทธิสาธร จำเลยที่ 2 นางสาวอิจศรินทร์ หรือกระติก จุฑาสุขสวัสดิ์ จำเลยที่ 3 และนายภีม หรือ เอ็ม ธรรมธีรศรี จำเลยที่ 4 ในความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84, 91, 137, 172, 184, 291 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 119 โดยมีนางภนิดา ศิระยุทธโยธิน เป็นโจทก์ร่วมเฉพาะความผิดฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธขอสู้คดี

โดยคำพิพากษาอาจแยกออกเป็นประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง จำเลยที่ 1-3 กระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามฟ้องหรือไม่ ศาลฟังพยานและวินิจฉัยโดยสรุปว่า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานมาเบิกความหลายปาก แต่ไม่ใช่ประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยพยานแวดล้อมกรณีอื่นว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ซึ่งพยานแวดล้อมกรณีที่เบิกความในคดีนี้เป็นพยานที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบิกความสอดคล้องต้องกันเป็นลำดับขั้นตอนเหตุการณ์เชื่อมโยงต่อเนื่องกันอย่างสมเหตุสมผล ยากที่จะปรุงแต่งข้อเท็จจริงและวันเวลาให้ผิดไปให้เห็นเป็นพิรุธ ส่วนพยานคนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดในคดีนี้และเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นอากัปกิริยาและเสียงของบุคคลบนเรือในระยะเวลากระชั้นชิดกับเหตุการณ์ภายหลังเกิดเหตุ เบิกความสอดคล้องกันทำนองว่าบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุมีลักษณะท่าทางตกใจ สายตาเบิกโพลง พูดจาซ้ำไปซ้ำมาว่าผู้ตายตกน้ำหาไม่เจอ สติแตก คำเบิกความดังกล่าวสนับสนุนให้เชื่อว่าผู้ตายตกเรือจริง ส่วนที่ว่าผู้ตายตกเรือเพราะเหตุใดนั้น เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว เชื่อได้ว่าสาเหตุที่ผู้ตายตกน้ำเป็นเพราะผู้ตายไปปัสสาวะบริเวณท้ายเรือ ซึ่งเป็นการกระทำของผู้ตายเพียงลำพังและโดยฉับพลันในขณะนั้นเอง การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องเสี่ยงที่ผู้ตายต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก การเสียชีวิตมิใช่ผลจากการกระทำของจำเลยที่ 1-3 ส่วนที่ว่าจำเลยที่ 1-3 ไม่ห้ามหรือทักท้วงมิให้มีการจัดหาบริการสุรา แอลกอฮอล์ หรือของมึนเมาอย่างอื่นเสพในขณะล่องเรือ ไม่จัดให้ผู้ตายซึ่งมึนเมาสุรา แอลกอฮอล์นั่งประจำที่หรืออยู่ในจุดที่ปลอดภัยและสวมใส่เสื้อชูชีพขณะผู้ตายเดินไปบริเวณท้ายเรืออันเป็นจุดอันตราย และมิได้แจ้งให้คนขับเรือหยุดหรือโยนอุปกรณ์ช่วยเหลือให้แก่ผู้ตายเมื่อพลัดตกน้ำนั้น ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายให้ผู้โดยสารต้องกระทำการหรือไม่กระทำการดังกล่าว แต่เป็นหน้าที่ของนายเรือหรือบุคคลประจำเรือที่ต้องปฏิบัติ จำเลยที่ 1-3 ไม่มีหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายที่จะต้องกระทำการหรือละเว้นกระทำการดังกล่าว เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1-3 ประมาท จำเลยที่ 1-3 จึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ประเด็นที่สอง การที่จำเลยที่ 2 เทและทิ้งขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายขวด และแก้วสำหรับใส่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายแก้วซึ่งเป็นสิ่งของลงในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นความผิดหรือไม่ ศาลฟังพยานและวินิจฉัยโดยสรุปว่า พยานโจทก์เบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 2 เก็บของและขนกล่องน้ำแข็งและถุงสีดำ ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่าตนทิ้งขวดและแก้วแอลกอฮอล์ลงในแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะบนเรือไม่มีถุงขยะ เจือสมกับคำเบิกความพยานโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 119 นอกจากนี้ขวดแอลกอฮอล์และแก้วเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุอันน่าจะพิสูจน์ได้ว่านายตนุภัทรซึ่งทำหน้าที่ขับเรือกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การที่จำเลยที่ 2 ทิ้งขวดแอลกอฮอล์และแก้วลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาย่อมเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184

ประเด็นที่สาม การที่จำเลยที่ 3 ลบภาพตามที่นายตนุภัทรสั่งให้ลบเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184 และจำเลยที่ 3 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ ศาลฟังพยานและวินิจฉัยโดยสรุปว่า ภาพถ่ายที่ลบเป็นภาพทั่วไป ไม่ปรากฏภาพถ่ายที่จะเป็นการช่วยมิให้นายตนุภัทรต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184 ส่วนความผิดฐานแจ้งความเท็จนั้น ความเท็จที่แจ้งต้องเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือเป็นข้อสำคัญในคดี มิใช่เป็นเพียงรายละเอียด การแจ้งจำนวนขวดแอลกอฮอล์ผิดไปจากความเป็นจริงไม่เป็นเหตุที่จะเกิดความผิดอันจะต้องมีการสอบสวน จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้กระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ประเด็นที่สี่ จำเลยที่ 4 แนะนำจำเลยที่ 1-3 นายตนุภัทร และนายไพบูลย์มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง เพื่อประวิงเวลาเลื่อนพบกับเจ้าพนักงานตำรวจ กับใช้ ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการใดให้จำเลยที่ 1-3 นายตนุภัทร และนายไพบูลย์แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ ศาลฟังพยานและวินิจฉัยโดยสรุปว่า พยานที่โจทก์นำสืบต่างไม่ได้ยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลย อีกทั้งโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำการเช่นนั้นจริง จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้อง

คดีจึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184 และ พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 119 รวมจำคุก 6 เดือนและปรับ 24,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี

และพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1, 3, 4 กับยกคำร้องขอให้จำเลยที่ 1-3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น